เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ พระครูยอดแก้วโพนเสม็ด หรือ ญาคูขี้หอม เป็นพระเถระองค์สำคัญในสมัยอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ประวัติประวัติช่วงต้นพระครูยอดแก้วโพนสะเม็กเกิดที่บ้านกะลึม เมืองพาน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2174 ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง พ.ศ. 2186 ก่อนที่ท่านจะมาศึกษาพระธรรมในนครหลวงเวียงจันทน์ มีพระครูท่านหนึ่งชื่อพระครูยอดแก้วที่อยู่นครหลวงเวียงจันทน์ ในเวลากลางคืนขณะที่พระครูฯท่านจำวัดได้นิมิตต์ฝันว่า มีช้างพลายตัวใหญ่เข้ามาในวัดและได้ทำลายวิหาร และช้างได้ขึ้นไปบนกุฎีได้แทงหอไตรทำลายลง ช้างจึงจับหนังสือกินเป็นอาหารหมดทั้งหีบ พอรุ่งสว่างพระครูฯก็ตกใจตื่นขึ้น ท่านจึงเล่านิมิตต์ให้สงฆ์ท่านอื่นๆฟัง พอถึงเวลาสายหลังกลับจากบิณฑบาต พระสงฆ์ได้เห็นสามเณรโพนสะเม็กอายุขณะนั้นประมาณ 13-14 ปีต้องการมาศึกษาธรรมวินัยได้มานั่งอยู่ในวัด พระสงฆ์จึงถามที่มาที่ไปได้แจ้งแก่พระครูยอดแก้ว พระครูยอดแก้วจึงให้สามเณรเล่าเรียนสวดมนต์ ศึกษาพระปาฏิโมกข์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆจนชำนาญโดยไม่มีผู้ใดจะเปรียบได้ กิติศัพท์ของสามเณรได้ยินเลื่องลือถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง จึงพระราชทานผ้าไตรมาถวายยกชื่อขึ้นให้เป็นราชาจั่ว เมื่อสามเณรอายุ 21 ปีครบอุปสมบท พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชจึงนิมนต์พระสงฆ์ 500 รูปและจัดหาแพมาต่อเป็นโบสถ์กลางน้ำหรืออุทกุกเขปสีมา ตามความประสงค์ของสามเณร เมื่อถึงวันอุปสมบทพระอุปัชฌาย์อนุกรรมวาจากับพระสงฆ์ 500 รูป ก็พร้อมกันอุปสมบทสามเณรขึ้นเป็นภิกษุเมื่อพระอนุกรรมวาจาจะให้อนุศาสน์ อุทกสีมาก็เกิดจมลง ทำให้พระสงฆ์ทั้งปวงต่างก็ต้องว่ายน้ำขึ้นฝั่งไป ผ้าไตรจีวรก็เปียกทุกองค์ มีเพียงพระที่บวชใหม่เท่านั้นที่ผ้าไตรจีวรไม่เปียก สร้างความอัศจรรย์ต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยิ่งนัก ครั้นเมื่อบวชได้ 1 พรรษา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชจึงจัดหาเครื่องไตรอัฏฐบริขารครบเสร็จแล้วพร้อมด้วยคณะสงฆ์ จึงตั้งให้ท่านขึ้นเป็นพระครูจำพรรษาอยู่วัดโพนเสม็ด ท่านจึงได้สมญานามว่า พระครูโพนเสม็ด ท่านเป็นพระซึ่งดำรงพระธรรมวินัย มีอภิญญาไม่ว่าสิ่งใดก็แม่นยำด้วยบุญบารมีธรรมสำเร็จดังใจนึก คนทั้งปวงต่างก็นับถือท่านเป็นอันมาก ทั้งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชก็โปรดเป็นผู้อุปัฏฐากท่าน[1] อพยพเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2238 เกิดความวุ่นวายในการสืบราชสมบัติ พระยาเมืองจันเสนาบดีจึงได้ชิงเอาราชสมบัติ และจะเอาพระนางสุมังคลา พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ซึ่งเป็นแม่หม้ายมีบุตรคือพระองค์หล่อและบุตรในครรภ์ขึ้นเป็นเมีย แต่นางไม่ยอมจึงได้มาขอความช่วยเหลือจากพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก พระครูจึงให้พระนางสุมังคลาหนีออกจากเวียงจันทน์ไปซ่อนอยู่ที่ ภูซ่อง่อ ห่อคำ บริเวณเมืองบริคัณฑนิคม แล้วจึงให้กำเนิดบุตรชายนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ต่อมาพระยาเมืองจันเกิดหวาดละแวงพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก เนื่องจากประชาชนให้การนับถือพระครูเป็นอันมาก พระครูจึงไปนำเจ้าหน่อกษัตริย์ และพระนางสุมังคลา และญาติโยมประมาณ 3000 คน อพยพออกจากเวียงจันทน์ไปอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก แล้วพระครูโพนสะเม็กเดินทางไปตามลำน้ำชี เมื่อพระครูหยุดพักอยู่ที่แห่งใดญาติโยมก็ติดตามไปด้วย ขณะที่พระครูโพนสะเม็กเดินทางไปถึงอาณาจักรเขมรอุดงฦๅไชย ครอบครัวที่ติดตามท่านไม่ทันก็ตั้งชุมชนลาวตามสองฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาตลอดทาง [2]ขณะที่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กดำรงตำแหน่งฝ่ายสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างพระพุทธรูป สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง ที่สำคัญตามตำนานพระธาตุพนม ระบุว่า ช่วงปลายศตวรรษที่ 22 ประมาณ พ.ศ. 2233 - 2235 พระครูขี้หอม หรือ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ หลังจากที่เจ้าครูหลวงโพนสะเม็ก ได้มรณภาพลง สิริอายุ 90 ปี หรือประมาณ พ.ศ. 2263 ศิษยานุศิษย์ ได้นำอัฐิธาตุส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในเจดีย์ นอกกำแพงแก้วชั้นที่ 2 มีรูปหล่อหน้าเจดีย์ อยู่ด้านข้าง องค์พระธาตุพนม พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ได้ให้ข้อมูลต่างจากตำนานกระแสหลักไว้ว่า เมื่อพระครูโพนสะเม็กและลูกศิษย์ญาติโยมเดินทางมาถึงหางตุยจังวะสุดแดน(จะโรยจังวา) พระครูได้เห็นที่พื้นที่นี้เป็นชัยภูมิกว้างขวางเหมาะสม จึงได้พักญาติโยมศิษย์สานุศิษย์อยู่ที่นั้น แล้วพระครูโพนสะเม็กจึงสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งบนเขานั้น เมื่อเจดีย์สร้างไกล้เสร็จได้มีหญิงชราชาวเขมรคนหนึ่งชื่อยายเพ็ญ ยายเพ็ญได้ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำและเห็นพระบรมธาตุเลื่อนไหลมาบนน้ำ มีพระรัศมีสวยงาม ยายเพ็ญเห็นจึงเอาขันน้ำรองรับพระบรมธาตุแล้วขึ้นไปถวายแก่พระครูโพนสะเม็ก พระครูโพนสะเม็กจึงได้อัญเชิญพระบรมสาริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เนื่องจากเจดีย์นี้อยู่บนภูเขา ภูเขาในภาษาเขมรเรียกว่าพนม ผู้ที่เจอพระบรมสารีริกธาตุชื่อยายเพ็ญ พระครูโพนสะเม็กจึงให้ชื่อเจดีย์นี้ว่าพนมเพ็ญหรือพนมเปญ ครั้นเมื่ออาณาจักรเขมรย้ายเมืองหลวงมาอยู่พื้นที่นี้จึงเรียกว่าพนมเปญ หลังจากพระครูโพนสะเม็กสร้างพระเจดีย์วัดพนมแล้ว จึงได้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งแต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พระเจ้ากรุงเขมรอุดงฦๅไชยแจ้งว่าพระครูโพนสะเม็กพาครอบครัวญาติโยมเข้ามาอยู่ในเขตแดน จึงให้พระยาพระเขมรไปตรวจบัญชีครอบครัว และจะเก็บเงินครัวละ 8 บาท พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าเป็นความลำบากแก่ญาติโยม จึงอพยพพาครอบครัวญาติโยมหนีขึ้นไปตามลำน้ำโขงถึงบริเวณเมืองสมบูรณ์ แต่ยังไม้พ้นเขตแดนเขมร พระยาพระเขมรจึงยกทัพมาขับไล่ พระครูโพนสะเม็กและครอบครัวญาติโยมจึงได้อพขึ้นเหนือตามลำน้ำโขง จนถึงเกาะทรายกลางแม่น้ำแห่งหนึ่งจึงได้ตั้งพักพื้นที่นี้ และหล่อพระพุทธรูปที่ยังหล่อไม่เสร็จตั้งแต่ที่เจดีย์วัดพนมให้เสร็จสมบูรณ์ แล้วพระครูโพนสะเม็กจึงพาลูกศิษย์ญาติโยมแห่พระขึ้นมาถึงบริเวณหางโค ปากน้ำเซกองฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือเมืองเชียงแตง) พระครูโพนสะเม็กเห็นภูมิสถานเหมาะแก่การตั้งบ้านเมือง จึงพาลูกศิษย์ญาติโยมสร้างพระวิหารไว้ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปปฏิมากรให้นามว่าพระแสนและประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น แล้วก่อพระเจดีย์องค์หนึ่ง พระครูโพนสะเม็กจึงให้ลูกศิษย์และครอบครัวผู้นั้นเป็นผู้ดูแลพระพุทธรูปพระแสนและพระวิหาร อ้างอิง
|