Share to:

 

เจ้าอุปราช (มหาพรหม)

เจ้ามหาพรหม
เจ้าอุปราชนครน่าน
เจ้าอุปราชนครน่าน
ดำรงพระยศพ.ศ. 2399 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2430
รวมระยะเวลา31 ปี
ก่อนหน้าพระยาอุปราช (เจ้ามหาวงษ์)
ถัดไปเจ้าอุปราช (เจ้าสุริยะ ณ น่าน)
เจ้าผู้ครองนครพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (เจ้าหลวง)
ประสูติพ.ศ. 2370 ณ นครน่าน
พิราลัย14 สิงหาคม พ.ศ. 2430 (60 ปี) ณ นครน่าน
ราชสกุลณ น่าน
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
เจ้าบิดาเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
เจ้ามารดาแม่เจ้าสุนันทาอรรคราชเทวี

เจ้าอุปราช (หนานมหาพรหม ณ น่าน) (พ.ศ. 2370 - พ.ศ. 2430) เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 ประสูติแต่แม่เจ้าสุนันทาอรรคราชเทวี (ชายาที่ 1) และเป็นพระเชษฐาร่วมเจ้ามารดาในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63

พระประวัติ

เจ้าอุปราช (หนานมหาพรหม ณ น่าน) มีพระนามเดิมว่า เจ้าหนานมหาพรหม ณ น่าน ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2370 เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 ประสูติแต่แม่เจ้าสุนันทาอรรคราชเทวี (พระชายาที่ 1) มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้ามารดา 6 องค์ มีรายพระนามตามลำดับดังนี้

  1. เจ้ามหาพรหม ภายหลังเป็น เจ้าอุปราชนครน่าน
  2. เจ้าสุริยะ ภายหลังเป็น พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63
  3. เจ้าสิทธิสาร ภายหลังเป็น เจ้าอุปราชนครน่าน
  4. เจ้าบุญรังสี ภายหลังเป็น เจ้าราชบุตรนครน่าน
  5. เจ้านางหมอกแก้ว ณ น่าน
  6. เจ้านางคำทิพ ณ น่าน

เมื่อปี พ.ศ. 2399 พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 ได้โปรดให้เจ้าหนานมหาพรหมและเจ้าสุริยะ ผู้เป็นพระโอรสทั้ง 2 องค์ คุมเอาเจ้านายท้าวพระยาหัวเมืองสิบสองปันนา คือ เมืองเชียงรุ้ง เมืองหลวงภูคา เมืองล้า เมืองพง ลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้ง เจ้าหนานมหาพรหม ขึ้นเป็น เจ้าอุปราชนครน่าน

พิราลัย

ณ วัน 4 เดือน 2 แรม 13 ค่ำ ปีกุน นพศก 1248 (วันเสาร์ ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2430) ศุภอักษรข้าพระพุทธเจ้า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่าน เจ้าสุริยวงษ เจ้านายบุตรหลานพระยาแสนท้าวนครเมืองน่าน ปฎิบัติมายัง ฯพณฯ อรรคมหาเสนาธิบดินทร์ นรินทรามาตย์ ผู้ภักดีบำเรอพระบาท ได้ทราบ ขอได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ด้วย ณวัน 7 เดือน 12 แรม 8 ค่ำ ปีกุน นพศก 1248 (วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2430) เวลาเช้า เจ้าอุปราชนครเมืองน่าน เกิดโรคประจุบัน เนื้อตัวเย็นกระด้าง พูดไม่ได้ รับประทานน้ำยาก็ไม่ได้วันหนึ่ง ครั้นถึงเวลาย่ำรุ่ง เจ้าอุปราชถึงแก่อนิจกรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้พร้อมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ ข้าหลวง เจ้านายบุตรหลานท้าวพระยานครเมืองน่าน ได้เอาศพเจ้าอุปราชใส่หีบไว้ตามอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อนแล้ว กราบเรียนปฎิบัติมาได้ทราบ [1]

พระราชทานสิ่งของต่าง ๆ ในการพระศพ เจ้าอุปราชนครเมืองน่าน

ณ วัน 6 เดือน 4 แรม 6 ค่ำ (วันเสาร์ ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2431) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบศิลาน่าเพลิงไปพระราชทานเพลิงศพ เจ้าอุปราชนครเมืองน่าน 1 สำรับ กับพระราชทานของไทยทาน ผ้าไตร 10 ไตร เงินเฟื้อง 640 เฟื้อง ผ้าขาว 10 พับ ร่ม 100 คัน รองเท้า 100 คู่ [2]

กำหนดการพิธีถวายเพลิงพระศพ[3]

ใบบอกลงวันอังคาร เดือน 2 ขึ้น 7 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช 1250 (8 มกราคม พ.ศ. 2432) เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่าน ได้ขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิง เพื่อใช้ในการศพเจ้าอุปราช หีบศิลาหน้าเพลิง คือ หินเหล็กไฟที่ใช้เหล็กสับกับหินให้เกิดประกายไฟ โดยมีดินปะทุเป็นเชื้อทำให้ติดไฟง่าย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหีบศิลาหน้าพลิง และสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ในการศพเจ้าอุปราช ได้ปรากฏในใบบอกลงวันพุธ ที่ 16 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 108 (พ.ศ. 2432) ว่านอกจากหีบศิลาหน้าเพลิงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน สำรับเครื่อง ผ้าไตร ผ้าขาว ร่ม รองเท้าทองอังกฤษกระดาษน้ำตะโกทอง เงิน กระดาษต่างสี กระดาษฟาง เครื่องเขียน ชาดเส้น หรดาล หมึกหลิ้ม กาว ตีนแดง เงิน 640 เฟื้อง นอกจากนั้นได้กล่าวถึงธรรมเนียมว่าห้ามทำการเผาศพเจ้าอุปราช ในวันอังคาร วันเสาร์ วัน 8 ค่ำ วันพระสิบห้าค่ำ หากเป็นข้างขึ้นให้เผาวันคู่ หากเป็นข้างแรมให้เผาวันคี่

วันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 108 (พ.ศ. 2432) เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่าน โปรดให้เจ้าราชวงศ์ เจ้านายบุตรหลาน พระประยูรญาติและท้าวพระยา เชิญพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ข้าหลวงที่ 2 พร้อมกันเอาพระศพ เจ้าอุปราช ขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาท แล้วทำบุญให้ทาน พอถึงตอนเย็นมีการโปรยทานเงินเฟื้องรูปี นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มารับทานผ้าบังสุกุล ผ้าไตร 18 สำรับ มีธรรมเทศน์ 10 เจาะบั้งไฟดอก 15 กระบอก ไฟเทียน 10 ข้าง และให้ทาน ผ้าบังสุกุล ผ้าไตร มีธรรมเทศนา เจาะบั้งไฟทุกวัน เมื่อเวลาเช้าได้นิมนต์พระมารับบิณฑบาตทุกวัน

วันพุธ ที่ 12 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 108 (12 มิถุนายน พ.ศ. 2432) เวลาเช้านิมนต์พระภิกษุสงฆ์มารับบิณฑบาตฉันภัตตาหารและรับไทยทาน จำนวน 150 รูป เวลาบ่ายโมงได้ชักพระศพเจ้าอุปราช ไปสุสานหลวง แล้วอัญเชิญเอาหีบศิลาหน้าเพลิง กางร่มปิดทองสำหรับหีบศิลาหน้าเพลิง นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 150 รูปไปรับพระราชทานบังสุกุลที่สุสานหลวงเมื่อเสร็จพิธี ท่านพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เจ้าราชวงศ์ เจ้านายบุตรหลานพระประยูรญาติและท้าวพระยา หันหน้าไปทางกรุงเทพฯ ถวายบังคมแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท 3 ครั้ง พระยาราชวังผู้ตีหีบศิลาหน้าเพลิง ท่านพระยาพิไชยชาญฤทธิ์เป็นผู้จุดเพลิงพระศพเจ้าอุปราช ตามด้วยเจ้าราชวงศ์ เจ้านายบุตรหลานพระประยูรญาติและชายาจุดต่อ แล้วเจาะบั้งไฟรูปสัตว์ต่าง ๆ ไสพระศพเจ้าอุปราช เสร็จพิธี ส่วนหีบศิลาหน้าเพลิงที่ได้รับพระราชทานมา เจ้าอนันตวรฤทธิเดชได้ถวายไว้แก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นพระกุศลต่อไป และถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไป

ราชตระกูล

อ้างอิง

Kembali kehalaman sebelumnya