เมย์ฟลาวเวอร์
เมย์ฟลาวเวอร์ (อังกฤษ: Mayflower) เป็นเรือสัญชาติอังกฤษที่ขนส่งผู้ตั้งถิ่นฐานที่ปัจจุบันรู้จักในนามพิลกริม จากอังกฤษไปยังโลกใหม่ในปี ค.ศ. 1620 หลังล่องในทะเลนาน 10 สัปดาห์ เรือ เมย์ฟลาวเวอร์ ที่บรรทุกผู้โดยสาร 102 คนและลูกเรือประมาณ 30 คนมาถึงอเมริกา โดยทอดสมอใกล้ปลายเคปค้อดในแมสซาชูเซตส์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน (วันที่แบบเก่า 11 พฤศจิกายน) ค.ศ. 1620[1]: 66 พิลกริมอยู่ร่วมสมัยกับพิวริตัน ซึ่งเป็นกลุ่มคริสตชนที่ต้องการปฏิรูปคริสตจักรแห่งอังกฤษ[2] แต่พิลกริมเลือกจะแยกตัวจากคริสตจักรแห่งอังกฤษเนื่องจากมีมุมมองทางศาสนาเป็นของตนเอง และเชื่อว่าการปฏิรูปคริสตจักรแห่งอังกฤษนั้นไม่เพียงพอ[3] ในปี ค.ศ. 1608 พิลกริมอพยพไปยังฮอลแลนด์ที่พวกเขาสามารถประกอบพิธีกรรมได้อย่างอิสระ ล่วงถึง ค.ศ. 1620 พิลกริมตั้งใจจะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังอเมริกาที่พวกเขาถือเป็น "แผ่นดินแห่งพระสัญญาใหม่" ซึ่งต่อมาพวกเขาได้ก่อตั้งอาณานิคมพลีมัธขึ้น[4]: 44 เดิมพิลกริมคาดหวังว่าพวกเขาจะไปถึงอเมริกาช่วงต้นเดือนตุลาคมด้วยเรือสองลำคือ สปีดเวล และ เมย์ฟลาวเวอร์ แต่ความล่าช้าและปัญหาต่าง ๆ ทำให้ เมย์ฟลาวเวอร์ เป็นเรือเพียงลำเดียวที่ใช้การได้[5] เมื่อมาถึงอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน พิลกริมเผชิญกับฤดูหนาวที่รุนแรงจนเหลือประชากรเพียงครึ่งเดียวที่รอดชีวิต[6] ปีต่อมาหลังได้รับความช่วยเหลือจากชาวพื้นเมือง พิลกริมฉลองการเก็บเกี่ยวของอาณานิคมเป็นครั้งแรก ซึ่งหลายศตวรรษต่อมาถูกประกาศเป็นวันขอบคุณพระเจ้าครั้งแรก[7] ระหว่างเดินทาง พิลกริมได้ร่วมกันเขียนและลงนามในข้อตกลงร่วมกันเมย์ฟลาวเวอร์ อันเป็นความตกลงในการก่อตั้งรัฐบาลพื้นฐาน โดยสมาชิกมีส่วนด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนิคมที่มีแผนจะจัดตั้งขึ้น[8] เวลาต่อมาเรือ เมย์ฟลาวเวอร์ กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประวัติศาสตร์สหรัฐ เนื่องจากเป็นหนึ่งในเรือลำแรก ๆ ที่นำพาชาวยุโรปมาตั้งอาณานิคมในอเมริกาและเป็นรากฐานสู่การก่อตั้งประเทศสหรัฐ[9]: 4–5 แต่เดิมมีแผนเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีของการขึ้นฝั่งในประเทศสหรัฐ สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 2020 แต่ถูกระงับเนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19[10] การไปรษณีย์สหรัฐออกจำหน่ายตราไปรษณียากรเมย์ฟลาวเวอร์แบบใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2020[11] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|