Share to:

 

เสือสมิง

ภาพวาดเสือสมิงของชาวตะวันตกในปี ค.ศ. 1763

เสือสมิง เป็นผีหรือปีศาจตามความเชื่อของชาวไทยและชาวกะเหรี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับป่าและภูติผีวิญญาณสิ่งชั่วร้าย

เสือสมิง คือ ผีหรือปีศาจที่มีรูปร่างเป็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ อาละวาดกินคนเป็นอาหาร เชื่อว่า เสือสมิงเกิดจากเวทมนตร์คาถาทางไสยศาสตร์ หรือเป็นเสือที่กินคนเข้าไปมาก ๆ แล้ววิญญาณของคนที่ถูกกินไปสิงอยู่ในเสือตัวนั้นจนกลายเป็นเสือสมิง เสือสมิงโดยปกติจะมีร่างเป็นคน แต่สามารถแปลงร่างเป็นเสือได้ในเวลากลางคืน และออกหาเหยื่อ เมื่ออกล่าเหยื่อจะแปลงร่างเป็นบุคคลต่าง ๆ นานา เพื่อล่อลวง เช่น แปลงเป็นลูกเมียของเหยื่อ หรือแม้กระทั่งแปลงเป็นพระธุดงค์ก็มี ในระหว่างเสด็จประพาศต้นในปี พ.ศ. 2419 ที่ป่าจันทบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชนิพนธ์บันทึกถึงความเชื่อเรื่องเสือสมิงของผู้คนที่อาศัยในแถบนี้ ความตอนหนึ่งว่า

...ราษฎรชาวเมืองเชื่อถือกลัวเสือสมิงกันมาก เล่ากันว่าที่เมืองเขมรมีอาจารย์ทำน้ำมันเสือสมิงได้ ศิษย์ได้ลักน้ำมันนั้นทาตัวเข้า กลายเป็นเสือสมิงไปถึง ๓ คน พลัดเข้ามาในแขวงเมืองจันทบุรี ตัวหนึ่งเป็นเสือดุร้าย เที่ยวขบกัดคนตายที่พลิ้ว ๒ คน ที่ปากจั่น ๑ คน ที่ป่าสีเซ็น ๒ คน รวม ๕ คน อาจารย์เที่ยวตาม ได้บอกชาวบ้านว่าศิษย์สามคนลักน้ำมันเสือสมิงทาตัวเข้า กลายเป็นเสือไปทั้งสามคน บิดามารดาของศิษย์นั้นเขาจะเอาลูกของเขา จึงมาเที่ยวตามหา แล้วสั่งไว้ว่าใครพบปะเสือนี้แล้วให้เอาไม้คานตี ฤๅมิฉะนั้นให้เอากะลาครอบรอยเท้าเสือนั้น ก็จะกลับเป็นคนได้ แต่วิธีจะแก้นี้ทำได้ก็แต่เมื่อเสือนั้นยังไม่ทันกินคน รังควานทับเสียแล้ว ถึงจะทำวิธีที่บอกก็ไม่อาจกลับเป็นคนได้

[1] [2]

ความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง

เสือสมิงตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง เชื่อว่าเป็นเจ้าป่าเจ้าเขาหรือพระภูมิเจ้าที่ ที่ดูแลรักษาปกป้องป่า จึงมีความเชื่อและข้อปฏิบัติว่า ห้ามล่าสัตว์หรือตั้งห้างบริเวณที่เป็นโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า มีผู้ที่เคยพบเห็นเจ้าของโป่งในเวลากลางคืน อ้างว่า มีดวงตาสามดวง ตาดวงที่สามอยู่กลางหน้าผากและเป็นสีเขียวเรืองแสงในความมืด มีเรื่องเล่ากันของชาวกะเหรี่ยงว่า ผู้ที่พบเจอกับเสือสมิง มักจะปรากฏเป็นผู้หญิงหรือเมียเข้ามาตามถึงในป่าแจ้งว่า ลูกป่วยให้กลับบ้าน เป็นต้น ถ้าลงไปก็จะถูกฆ่าตาย บ้างถึงกับว่า เมื่อมีผู้ไม่ยอมลงไป สักพักก็กลับมาใหม่พร้อมด้วยคนอีกสี่คนหามคานใส่ศพของลูกหรือเมียมาก็มี มีบางคนที่ยิงปืนใส่ เช้ามาเมื่อลงจากห้างพบว่า มีรอยเท้าเสือขนาดใหญ่เพ่นพ่านอยู่บริเวณนั้น โดยเชื่อว่าคนสี่คนที่เห็นว่าหามคานนั้น คือ ขาทั้งสี่ข้างของเสือ เป็นต้น [3]

นอกจากนี้แล้ว ชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงสกอร์ยังเชื่อว่า มีเสือสมิงตนหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแม่อุสุ ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เมย จังหวัดตาก อีกด้วย[4]

ความเชื่อในวัฒนธรรมอื่น

เสือสมิง หรือคนที่กลายร่างเป็นสัตว์ป่าดุร้ายอย่างอื่นในความเชื่อของต่างประเทศ ต่างวัฒนธรรมมีอยู่ด้วยกันหลากหลาย เช่น ในทวีปยุโรปยุคกลางเชื่อว่า มนุษย์สามารถกลายร่างเป็นหมาป่า หรือที่เรียกว่ามนุษย์หมาป่าได้ ด้วยอำนาจแห่งเวทมนตร์โดยเฉพาะในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หรือแม้กระทั่งกลายร่างเป็นสัตว์ป่าอย่างอื่น เช่น หมี ในทวีปอเมริกาเหนือ ชาวอินเดียนแดงมีความเชื่อเรื่องสกินวอล์กเกอร์ ซึ่งคล้ายกับมนุษย์หมาป่าในทวีปยุโรปมาก[5] ในเทพปกรณัมฮินดูของอินเดีย มีเรื่องของนรสิงห์ ที่พระวิษณุอวตารมาเป็นครึ่งคนครึ่งสิงโต[6] นอกจากนี้ ในนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นยังมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าบาเกะเนโกะซึ่งคล้ายกับคิตสึเนะ (ปิศาจจิ้งจอก) และ บาเกะ-ดานูกิ

ในส่วนของสัตว์ประเภทเสือหรือแมวที่มนุษย์สามารถกลายร่างได้ มีทั้งกลายร่างเป็นแมว[7], เสือโคร่ง[8], สิงโต[6], เสือดาว[9], ลิงซ์ หรือแม้แต่สัตว์ประเภทเสืออื่น ๆ [10]

อ้างอิง

  1. เสือสมิงในประพาสต้นจันทบุรี
  2. เสือสมิงเก็บถาวร 2011-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. วิถีแม่น้ำ วิถีป่า ของปกากญอ สาละวิน งานวิจัยปกากญอ. เชียงใหม่ : เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2548. 135 หน้า. หน้า 111-112. ISBN 974-9367-75-8
  4. "ถ้ำแม่อุสุ" มหัศจรรย์โรงละครใต้พิภพ กับตำนานเสือสมิงสำนึกผิด/ปิ่น บุตรี". ผู้จัดการออนไลน์. 30 January 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
  5. หน้า 32-37, มนุษย์หมาป่า. "คืนสยองขวัญ ตำนาน..ผีดิบ" โดย เจี๊ยบอังคาร. นิตยสาร มิติพิศวง ปีที่ 3 ฉบับที่ 28: สิงหาคม 2535 ISSN 0858-1533
  6. 6.0 6.1 Feehan, Christine (2002). Lair of the Lion. Leisure Books.
  7. Hall, Jamie. (2003). Half human, half animal: Tales of werewolves and related creatures. Bloomington: 1st Books. ISBN 1-4107-5809-5
  8. Monster Manual: Core Rulebook III. Wizards of the Coast. 2003. pp. 165–166.
  9. Worland, Rick (2006). The Horror Film: An Introduction. Blackwell Publishing. pp. 73, 176–178, 184.
  10. Greene, Rosalyn (2000). The Magic of Shapeshifting. Weiser. p. 9.
Kembali kehalaman sebelumnya