Share to:

 

เอลฟ์

Ängsälvor "เอลฟ์แห่งท้องทุ่ง" ภาพวาดของนิลส์ บลอมเมอร์ ในปี ค.ศ. 1850

เอลฟ์ (อังกฤษ: elf) คือสิ่งมีชีวิตอมนุษย์ในตำนานนอร์สและตำนานปรัมปราในกลุ่มประเทศเจอร์แมนิก (สแกนดิเนเวียและเยอรมัน) เมื่อแรกเริ่ม แนวคิดเกี่ยวกับพวกเอลฟ์คือ ชนเผ่าที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ภาพวาดของชนเหล่านี้มักเป็นมนุษย์ทั้งชายและหญิงที่แลดูอ่อนเยาว์และงดงาม อาศัยอยู่ในป่า ในถ้ำ ใต้พื้นดิน หรือตามบ่อน้ำและตาน้ำพุ มักเชื่อกันว่าพวกเขามีชีวิตยืนยาวมากหรืออาจเป็นอมตะ รวมทั้งมีพลังเวทมนตร์วิเศษ แต่หลังจาก ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ผลงานอันโด่งดังของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ปรากฏออกมา ภาพของเอลฟ์ก็กลายเป็นผองชนผู้เป็นอมตะและเฉลียวฉลาด ทั้งที่คำว่า เอลฟ์ ในวรรณกรรมของโทลคีนมีความหมายแตกต่างไปคนละทางกับตำนานโบราณโดยสิ้นเชิง

ที่มาของชื่อ

คำว่า "เอลฟ์" ในภาษาอังกฤษ มาจากภาษาอังกฤษเก่าว่า ælf (บ้างเรียกว่า ylf) ซึ่งมาจากคำในตระกูลโปรโต-เยอรมันว่า *albo-z, *albi-z ภาษานอร์สโบราณว่า álfr เยอรมันยุคกลางชั้นสูงว่า elbe ในตำนานอังกฤษยุคกลางนับถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถือว่า เอลฟ์ (elf) เป็นเพศชาย ส่วนเพศหญิงจะเรียกว่า elven (ภาษาอังกฤษเก่าว่า ælfen ซึ่งมาจาก *albinnja)

แต่รากคำดั้งเดิมยิ่งกว่านั้นน่าจะมาจากคำในภาษาตระกูล โปรโต-อินโด-ยูโรเปียน คือ *albh- ซึ่งมีความหมายว่า "ขาว" อันเป็นรากเดียวกันกับคำในภาษาละติน albus ที่แปลว่า "ขาว"[1] อย่างไรก็ดีมีอีกทฤษฎีหนึ่งเสนอว่า คำนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ Rbhus นายช่างนักพยากรณ์ในตำนานเก่าแก่ของอินเดีย (ดู พจนานุกรมของออกซฟอร์ด) แนวคิดนี้ดูหนักแน่นกว่ารากคำในภาษาละตินมาก

คำเรียกเอลฟ์แบบต่างๆ ในภาษากลุ่มเจอร์แมนิก นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ มีดังนี้

  • เจอร์แมนิกเหนือ
  • เจอร์แมนิกตะวันตก
    • ดัตช์ : elf, elfen, elven, alven
    • เยอรมัน : Elf (ชาย) , Elfe (หญิง) , Elfen "fairies", Elb (ชาย, พหูพจน์ Elbe หรือ Elben) [2] เป็นคำสร้างขึ้นใหม่ ส่วน Elbe (หญิง) เป็นคำในภาษาเยอรมันยุคกลางชั้นสูง Alb Alp (ชาย) พหูพจน์ Alpe มีความหมายเหมือนกับ "incubus" (ภาษาเยอรมันโบราณชั้นสูงเรียก alp พหูพจน์ *alpî หรือ *elpî)
  • โกธิค : *albs, พหูพจน์ *albeis (โปรคอพิอุส นักปราชญ์ชาวโรมัน มีชื่อเดิมว่า Albila)

ใน ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับแปลภาษาไทย ใช้คำว่า "พราย" สำหรับความหมายของ เอลฟ์ ซึ่งทำให้เกิดนิยามใหม่สำหรับความหมายของ "พราย" นอกเหนือจากความหมายแต่เดิมที่หมายถึง ผีจำพวกหนึ่ง (มักใช้กับผีผู้หญิงตายทั้งกลม)

เอลฟ์ในตำนานนอร์ส

เทพเฟรย์ เจ้าแห่งเอลฟ์สว่าง (light-elves)

เรื่องของเอลฟ์ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในตำนานปรัมปราของพวกนอร์ส ในปกรณัมนอร์สโบราณเรียกพวกเอลฟ์ว่า อัลฟาร์ (álfar) อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีหลักฐานที่เก่าแก่กว่าหรือหลักฐานในยุคเดียวกันกับพวกนอร์ส แต่ชื่อ อัลฟาร์ ก็มีความเกี่ยวพันอยู่อย่างมากในนิทานพื้นบ้านหลายแห่งจนอาจเชื่อได้ว่า เอลฟ์ เป็นที่รู้จักอยู่ทั่วไปนานแล้วในหมู่ชนเผ่าเยอรมัน ไม่ได้เป็นที่รู้จักแต่เพียงในหมู่สแกนดิเนเวียนโบราณเท่านั้น

ไม่มีแหล่งข้อมูลใดอธิบายได้ชัดเจนว่าเอลฟ์คืออะไร แต่พวกเอลฟ์ดูจะเป็นที่รู้จักในฐานะสิ่งมีชีวิตขนาดเดียวกันกับมนุษย์ มีพลังอำนาจมากและสวยงามมาก มีมนุษย์ที่มีชื่อเสียงหลายคนได้รับยกย่องให้เป็นเอลฟ์หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว เช่น กษัตริย์ โอลาฟ เกย์สตัด-เอลฟ์ (Olaf Geirstad-Elf) หรือ วีรบุรุษนาม โวลุนด์ (Völundr) ก็ถูกกล่าวขานว่าเป็น "ผู้เป็นใหญ่แห่งเอลฟ์" (vísi álfa) หรือว่าเป็น "หนึ่งในหมู่เอลฟ์" (álfa ljóði) ดังปรากฏในบทกวี Völundarkviða ซึ่งในวรรณกรรมร้อยแก้วยุคหลังระบุว่าเขาเป็นโอรสของกษัตริย์แห่ง "ฟินนาร์" (Finnar) อันเป็นพลเมืองแถบขั้วโลกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่ามีเวทมนตร์ (หมายถึงพวก ซามี (Sami)) ในมหากาพย์ไทเดรค ราชินีชาวมนุษย์ผู้หนึ่งต้องประหลาดใจเป็นล้นพ้นเมื่อพบว่าคนรักของนางเป็นเอลฟ์ ไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนี้ในมหากาพย์ Hrolf Kraki กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ เฮลกิ (Helgi) ขืนใจนางเอลฟ์ตนหนึ่งจนตั้งครรภ์ นางเอลฟ์ผู้นี้กล่าวกันว่าคลุมร่างด้วยผ้าไหมและเป็นสตรีที่สวยงามที่สุดเท่าที่คนเคยพบ

สายเลือดผสมระหว่างเอลฟ์กับมนุษย์น่าจะเริ่มต้นมาจากความเชื่อเก่าแก่ในตำนานนอร์สโบราณนี้เอง ราชินีชาวมนุษย์ผู้มีคนรักเป็นเอลฟ์ให้กำเนิดวีรบุรุษคนหนึ่งชื่อ Högni ส่วนนางเอลฟ์ซึ่งถูกกษัตริย์เฮลกิขืนใจให้กำเนิดธิดานามว่า สกุลด์ (Skuld) ภายหลังได้วิวาห์กับ Hjörvard ซึ่งเป็นผู้สังหาร Hrólfr Kraki ในมหากาพย์ Hrolf Kraki เล่าว่า สกุลด์ผู้เป็นลูกครึ่งเอลฟ์มีอำนาจวิเศษทางเวทมนตร์ และไม่มีใครสามารถเอาชนะในการศึกกับนางได้เลย เมื่อนักรบคนใดของนางถูกสังหาร นางจะเสกให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อไป หนทางเดียวที่จะเอาชนะนางได้คือต้องจับตัวนางเสียก่อนที่นางจะเรียกรวมกองทัพของนางได้ ซึ่งรวมถึงกองทัพเอลฟ์ด้วย[3]

ในมหากาพย์ Heimskringla และมหากาพย์ธอร์สไตน์ (Thorstein) มีการบันทึกลำดับสันตติวงศ์ของกษัตริย์ผู้ครอง อัล์ฟเฮม ดินแดนซึ่งสอดคล้องกับแคว้น Bohuslän ในสวีเดนกับแคว้น Østfold ในนอร์เวย์ กษัตริย์เหล่านี้สืบทอดเชื้อสายมาจากเอลฟ์ จึงกล่าวกันว่าเป็นผู้ที่งดงามยิ่งกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป

แผ่นดินซึ่งปกครองโดยพระราชาอัลฟ์มีชื่อเรียกว่า อัล์ฟเฮม ทายาทของพระองค์ล้วนเป็นผองญาติของเอลฟ์ พวกเขางดงามยิ่งกว่าชนทั้งหลาย[4]

กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้มีชื่อว่า แกนดัล์ฟ (Gandalf) [5]

นักประวัติศาสตร์และนักเทววิทยาชาวไอซ์แลนด์ชื่อ Snorri Sturluson เรียกพวกคนแคระ (dvergar) ว่า "เอลฟ์มืด" (dark-elves: dökkálfar) หรือ "เอลฟ์ดำ" (black-elves: svartálfar) สิ่งนี้สะท้อนถึงความเชื่อในยุคกลางของสแกนดิเนเวียนหรือไม่ยังไม่แน่ชัด[1] แต่เขาเรียกพวกเอลฟ์อื่นๆ ว่า เอลฟ์สว่าง (light-elves: ljósálfar) ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างพวกเอลฟ์กับเทพเฟรย์ (Freyr) ผู้เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ Snorri บรรยายความแตกต่างของพวกเอลฟ์ไว้ว่า

"มีที่แห่งหนึ่งบนนั้น [ในห้วงเวหา] เรียกชื่อว่า นิวาสเอลฟ์ (Elf Home หรือ Álfheimr อัล์ฟเฮม) ผองชนผู้อาศัยอยู่ที่นั่นเรียกว่า เอลฟ์สว่าง (light elves: Ljósálfar) ส่วนพวกเอลฟ์มืด (dark elves: Dökkálfar) อาศัยอยู่ใต้พื้นโลก พวกเขามีร่างปรากฏไม่เหมือนกัน ทั้งมีความจริงแท้แตกต่างกันยิ่งกว่า เอลฟ์สว่างมีร่างปรากฏสว่างไสวยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ แต่พวกเอลฟ์มืดนั้นดำสนิทยิ่งกว่าห้วงเหว"[6]

เอลฟ์ในตำนานสแกนดิเนเวีย

Älvalek "เอลฟ์เริงระบำ" ภาพวาดของออกัสต์ มัลสตรอม ในปี ค.ศ. 1866

ในนิทานพื้นบ้านของชาวสแกนดิเนเวีย ซึ่งได้ผสมผสานกลืนไปกับตำนานปรัมปราของนอร์สกับตำนานของชาวคริสเตียน เรียกชื่อ "เอลฟ์" ออกไปต่างๆ กัน กล่าวคือ elver ในภาษาเดนมาร์ก alv ในภาษานอร์เวย์ alv หรือ alva ในภาษาสวีเดน (คำแรกใช้เรียกเอลฟ์ชาย คำหลังใช้เรียกเอลฟ์หญิง) แต่คำเรียกของชาวนอร์เวย์มักไม่ใคร่พบเห็นในตำนานพื้นบ้านเท่าใดนัก หากพวกเขาต้องการเอ่ยถึงก็มักใช้คำอื่นคือ huldrefolk หรือ vetter ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ขุดรูอาศัยอยู่ใต้พิภพ คล้ายคลึงกับพวกคนแคระในตำนานนอร์สมากกว่าพวกเอลฟ์ หากเทียบกับตำนานไอซ์แลนด์จะเปรียบได้กับชาว huldufólk (ชนผู้ซ่อนตัว)

เอลฟ์ในตำนานของเดนมาร์กและสวีเดนจะแตกต่างไปจากพวก vetter ทั้ง ๆ ที่ดินแดนของพวกเขาประชิดแทบเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนภูตตัวเล็กมีปีกเหมือนแมลงในตำนานของชาวบริเตนจะเรียกว่า "älvor" ในคำสวีเดนยุคใหม่ หรือ "alfer" ในภาษาเดนมาร์ก ชาว "alf" ปรากฏในเทพนิยายเรื่องหนึ่งของ เอช. ซี. แอนเดอร์เซน นักเขียนชาวเดนมาร์ก เรื่อง เอลฟ์แห่งกุหลาบ (The Elf of the Rose) โดยที่เขามีตัวเล็กมากจนสามารถใช้ดอกกุหลาบเป็นบ้านได้ อีกทั้งยังมีปีกซึ่ง "ยาวจากไหล่จดปลายเท้า" ทว่าแอนเดอร์เซนยังได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับเอลฟ์อีกเรื่องหนึ่งคือ The Elfin Hill เอลฟ์ในเรื่องนี้กลับไปคล้ายคลึงกับเอลฟ์ในนิทานพื้นบ้านเก่าแก่ของเดนมาร์ก คือเป็นสตรีผู้สวยงาม อาศัยอยู่ตามเนินเขาและภูผา สามารถเต้นรำกับชายหนุ่มจนกระทั่งเขาสิ้นชีวิต หากมองพวกนางจากด้านหลังจะเห็นเพียงความว่างเปล่า เช่นเดียวกับ ฮุลดรา (huldra) ในตำนานของนอร์เวย์และสวีเดน

เอลฟ์ในตำนานนอร์สซึ่งปรากฏร่องรอยอยู่ในลำนำพื้นบ้านส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง อาศัยอยู่ตามป่าเขาหรือหมู่หิน älvor ของชาวสวีเดน (เอกพจน์เรียก älva) เป็นเหล่าเด็กหญิงผู้งดงามจนน่าตื่นตะลึง อาศัยอยู่ในป่ากับกษัตริย์เอลฟ์ พวกนี้มีอายุยืนยาวมากและมักรื่นเริงไร้แก่นสาร ภาพวาดของพวกเอลฟ์มักเป็นภาพชนสวยงามผมสีอ่อน สวมเสื้อผ้าสีขาว แต่ก็ดุร้ายเกรี้ยวกราดหากถูกบุกรุก (เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในลำนำพื้นบ้านของสแกนดิเนเวีย) ในนิทาน พวกเขามักรับบทเป็นวิญญาณแห่งความเจ็บป่วย เรียกว่า älvablåst (สายลมแห่งเอลฟ์) ซึ่งปกติแล้วจะไม่เป็นอันตราย แต่มักเกิดเหตุขึ้นเสมอหากพวกเขาถูกทำให้ขุ่นเคือง สามารถรักษาได้โดยใช้แรงลมต้าน Skålgropar ที่สร้างจากเครื่องเป่าลม พบในงานสลักโบราณของสแกนดิเนเวีย ในยุคเก่าแก่เรียกกันว่า älvkvarnar หรือ เครื่องสีของเอลฟ์ (elven mills) ซึ่งสื่อถึงความเชื่อของพวกเขา มนุษย์อาจเอาอกเอาใจพวกเอลฟ์ได้โดยการเสนอสิ่งของที่พวกเขาชื่นชอบ (ส่วนมากมักเป็นเนย) โดยวางเอาไว้ในเครื่องสีของเอลฟ์ สิ่งนี้อาจเป็นกำเนิดของวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในหมู่นอร์สโบราณ ที่เรียกว่า álfablót

หากมนุษย์เฝ้ามองการเริงระบำของพวกเอลฟ์ เขาจะรู้สึกว่าตนกำลังแลดูการเต้นรำนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงเวลาได้ล่วงผ่านไปนานหลายปี (ปรากฏการณ์ทางเวลานี้มีปรากฏในวรรณกรรมของโทลคีน เรื่อง ซิลมาริลลิออน เมื่อธิงโกลเฝ้าดูเทพีเมลิอัน นอกจากนี้ยังปรากฏในตำนานของไอริช เกี่ยวกับ sídhe ด้วย) ลำนำบทหนึ่งในช่วงปลายของยุคกลางเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Olaf Liljekrans เขาได้รับเชิญจากราชินีเอลฟ์ให้เต้นรำด้วยกัน แต่เขาปฏิเสธเพราะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขาเข้าร่วมการเต้นรำนั้น ขณะนั้นเขากำลังเดินทางกลับบ้านเพื่อไปสู่งานวิวาห์ของตน ราชินีเสนอของขวัญให้แก่เขา แต่เขาก็ปฏิเสธอีก นางจึงขู่จะฆ่าเขาหากเขาไม่ยอมเข้าร่วม เขาขี่ม้าหนีไป แต่ก็ตายหลังจากนั้นด้วยโรคร้ายที่ราชินีส่งตามหลังเขามา เจ้าสาวผู้อ่อนเยาว์ของเขาก็เสียชีวิตตามไปด้วยหัวใจแหลกสลาย[7]

เอลฟ์ในตำนานเยอรมัน

เอลฟ์ ในภาษาแซกซอนโบราณเรียก alf เยอรมันยุคกลางชั้นสูงเรียก alb หรือ alp (พหูพจน์ elbe, elber) ส่วนในภาษาเยอรมันโบราณชั้นสูงเรียก alb (ตามที่ปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 13) [8] เอลฟ์ดั้งเดิมในตำนานเยอรมันยุคคนเถื่อนนอกศาสนา เป็นสิ่งมีชีวิตที่ส่องสว่างอาศัยอยู่บนสวรรค์ ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงพวกเอลฟ์มืดและคนแคระที่อาศัยอยู่ใต้พิภพด้วย (ดังที่เข้าใจว่าคล้ายคลึงกับพวก álfr ในตำนานนอร์สโบราณ) ในลำนำพื้นบ้านหลังยุคคริสเตียน เริ่มมีการพรรณนาถึงพวกเอลฟ์ว่าเป็นกลุ่มชนซุกซนชอบเล่นแผลงๆ นำความเจ็บป่วยมายังผู้คนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงนำเอาฝันร้ายมาใส่ผู้นิทราด้วย คำในภาษาเยอรมันที่หมายถึงฝันร้าย คือ Albtraum มีความหมายตรงตัวว่า "ฝันของเอลฟ์" คำเก่าแก่กว่านั้นคือ Albdruck มีความหมายว่า "แรงกดของเอลฟ์" เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ฝันร้ายเกิดจากการที่เอลฟ์มานั่งทับอยู่บนทรวงอกของผู้ฝัน ความเชื่อเกี่ยวกับเอลฟ์ในตำนานเยอรมนี้สอดคล้องกันอย่างยิ่งกับความเชื่ออย่างหนึ่งในตำนานสแกนดิเนเวียเกี่ยวกับ มารา คือจิตภูตสตรีผู้ร้ายกาจที่บันดาลให้เกิดฝันร้าย นอกจากนี้ยังคล้ายคลึงกับตำนานว่าด้วย incubi และ succubi ด้วย[1]

กษัตริย์เอลฟ์มีปรากฏอยู่ในตำนานค่อนข้างน้อย ไม่เหมือนเหล่าเอลฟ์สตรีผู้มีอำนาจมากมายดังในตำนานของเดนมาร์กและสวีเดน มหากาพย์ยุคกลางของเยอรมันเรื่องหนึ่งชื่อ นีเบอลุงเงินลีท (Nibelungenlied) มีตัวละครเอกตัวหนึ่งเป็นคนแคระนามว่า อัลเบอริช คำนี้มีความหมายตรงตัวแปลว่า "กษัตริย์เอลฟ์ผู้ทรงอำนาจ" ความสับสนปนเประหว่างเอลฟ์กับคนแคระนี้มีปรากฏสืบต่อมาอยู่ในจารึกเอ็ดดา (Edda) ด้วย ชื่อของตัวละครนี้ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Alberon ในเวลาต่อมาได้ปรากฏในวรรณกรรมอังกฤษในชื่อ Oberon ในฐานะกษัตริย์แห่งเอลฟ์และภูตทั้งหลายในบทละครเรื่อง ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน ของ เชกสเปียร์

ในเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์เรื่องแรก คือ Die Wichtelmänner ตัวเอกซึ่งมีชื่อเดียวกับชื่อเรื่องเป็นหุ่นเปลือยสองตัวซึ่งทำงานช่วยช่างทำรองเท้า เมื่อช่างให้รางวัลแก่พวกเขาเป็นเศษผ้าชิ้นเล็กๆ พวกเขาก็ดีใจมาก แล้ววิ่งหนีหายไปไม่มีใครพบอีกเลย Wichtelmänner เป็นภูตเล็กๆ ชนิดหนึ่งทำนองเดียวกับคนแคระ kobold และ brownie แต่เมื่อบทประพันธ์ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ กลับมีชื่อเรื่องว่า เอลฟ์กับช่างทำรองเท้า (The Elves and the Shoemaker) แนวคิดนี้ยังได้สะท้อนต่อมาอยู่ในวรรณกรรมของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในลักษณะของ เอลฟ์ประจำบ้าน

เอลฟ์ในตำนานอังกฤษ

Poor little birdie teased ภาพวาดโดย ริชาร์ด ดอยล์ นักวาดภาพยุควิคตอเรีย แสดงให้เห็นมุมมองความเชื่อเกี่ยวกับเอลฟ์ในลำนำพื้นบ้านของอังกฤษ เป็นสิ่งมีชีวิตในป่าคล้ายมนุษย์ร่างเล็กจิ๋ว

คำว่า เอลฟ์ (elf) เป็นคำภาษาอังกฤษใหม่ ซึ่งนำมาจากภาษาอังกฤษเก่าว่า ælf (พหูพจน์ ælfe) คำนี้มาสู่บริเตนได้โดยผ่านชาวแองโกล-แซกซอน[1] ยังมีคำที่หมายถึง นางพรายน้ำ (nymph) ในตำนานกรีกและโรมัน ที่แปลมาโดยปราชญ์ชาวแองโกลแซกซอนว่า ælf และเพี้ยนเสียงไปเป็นคำต่างๆ[1]

มีเหตุผลเพียงพอที่จะสันนิษฐานได้ว่า เอลฟ์ของแองโกลแซกซอน น่าจะคล้ายคลึงกับเอลฟ์ในตำนานนอร์สโบราณ กล่าวคือ มีลักษณะเหมือนมนุษย์ รูปร่างสูงใหญ่เหมือนอย่างมนุษย์ มักมีผู้นำเป็นหญิง สามารถให้ความช่วยเหลือหรือทำอันตรายแก่มนุษย์ที่ประสบกับพวกเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง æsir กับ álfar ที่พบในจารึกเอ็ดดา เป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงงานเขียนเรื่อง Wið færstice ในตำนานอังกฤษโบราณ รวมถึงเป็นที่มาของคำว่า os และ ælf ในชื่อภาษาแองโกลแซกซอนด้วย (เช่น Oswald หรือ Ælfric) [1]

ในแง่ของความงดงามของเอลฟ์ในตำนานนอร์ส มีคำในภาษาอังกฤษเก่าบางคำ เช่น ælfsciene ("งามดั่งเอลฟ์") สำหรับใช้ในการบรรยายความงามอันยั่วยวนของสตรีบางคนในพระคริสตธรรมคัมภีร์ เช่นในบทกวีอังกฤษโบราณเรื่อง Judith และ Genesis A เป็นต้น[1] ในชุมชนหลายแห่งตลอดทั่วอังกฤษมักมีความเชื่อต่อพวกเอลฟ์ว่าเป็นพวกที่สวยงามและชอบช่วยเหลือคน แต่ในส่วนของแองโกลแซกซอนแล้ว พวกเอลฟ์เป็นเหมือนกับปีศาจ ตัวอย่างดังเช่นที่ปรากฏในบทกวีเรื่อง เบวูล์ฟ บรรทัดที่ 112 ในอีกทางหนึ่ง oaf ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาจาก elf เชื่อว่ามีความหมายเดิมสื่อถึงความลุ่มหลงงมงายอันเกิดจากเวทมนตร์มายาของพวกเอลฟ์

เรื่องของเอลฟ์ปรากฏอยู่มากมายในบทลำนำดั้งเดิมของอังกฤษและสก็อตแลนด์ รวมถึงนิทานพื้นบ้านทั้งหลาย โดยมากเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปยัง เอลป์เฮม (Elphame หรือ Elfland แดนเอลฟ์ คำเดียวกันกับ อัล์ฟเฮม (Álfheim) ในตำนานนอร์ส) ดินแดนลี้ลับที่น่าหวาดหวั่น บางครั้งภาพวาดของเอลฟ์จะเป็นโครงร่างแสงสว่าง เช่นราชินีแห่งเอลป์เฮมในบทลำนำ Thomas the Rhymer กระนั้นก็มีตัวอย่างมากมายที่เอลฟ์เป็นตัวละครอันแสนชั่วร้าย มักเป็นขโมยหรือฆาตกร เช่นใน Tale of Childe Rowland หรือลำนำ Lady Isabel and the Elf-Knight ซึ่งอัศวินเอลฟ์ลักพาตัวอิซาเบลไปเพื่อสังหารเสีย เอลฟ์ในบทลำนำเหล่านี้มักเป็นเพศชาย มีเอลฟ์หญิงแต่เพียงคนเดียวคือราชินีแห่งแดนเอลฟ์ที่ปรากฏในลำนำ Thomas the Rhymer เท่านั้น แต่ในบรรดาตำนานทั้งหมดนี้ไม่มีเรื่องไหนเลยที่เอลฟ์เป็นภูตพรายร่างเล็กจิ๋ว

นิทานพื้นบ้านของอังกฤษในช่วงต้นยุคใหม่นี้เองที่เริ่มวาดภาพเอลฟ์เป็นผองชนตัวเล็กๆ ผู้ว่องไวและซุกซน แม้จะไม่ใช่ปีศาจแต่ก็มักสร้างความรำคาญแก่มนุษย์หรือขัดขวางกิจธุระให้เสียหาย บางครั้งเล่ากันว่าพวกเอลฟ์สามารถหายตัวได้ ตำนานในลักษณะนี้ เอลฟ์มีความคล้ายคลึงกับพวกภูตมากขึ้น

ในเวลาต่อมา คำว่า เอลฟ์ และ ภูต เริ่มนำมาใช้แทนความหมายของจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติในหลายๆ รูปแบบ ดังเช่น พัค ฮอบกอบลิน โรบิน กู้ดเฟลโลว์ และอื่นๆ คำเหล่านี้และคำใกล้เคียงในหมู่ภาษายูโรเปียนอื่นๆ ก็ไม่ได้สื่อความหมายถึงชนเผ่าในตำนานพื้นบ้าน

เอลฟ์ยุคใหม่

เอลฟ์ในตำนานคริสต์มาส

พวกเอลฟ์ คือ คนชนิดหนึ่งที่มีใบหูแหลมและยาวมาก และมีตัวเตี้ย พวกเอลฟ์ จะทำของขวัญให้ซานต้าเพื่อไปแจกเด็กๆในวันคริสต์มาส พวกเอลฟ์ต้องทำงานหนักในนคริสต์มาส เพื่อแจกของขวัญให้แก่เด็ก

เอลฟ์ในแฟนตาซียุคใหม่

ดูเพิ่ม

ชื่อที่มีคำว่าเอลฟ์ในราชวงค์พระเจ้าแผ่นดิน

หมายเหตุ คำที่ขึ้นว่าอัล,เอ็ด,แอมีความหมายทำนองว่า เหนือฟ้า หรือ เจ้าฟ้า ถ้าเป็นพระเจ้าเอ็ดวี เขียนเป็นไทยได้ว่า พระเจ้าฟ้าวีแห่งอังกฤษ ต่างจากเจ้าฟ้าชายหรือเจ้าฟ้าหญิง ที่มีพระยศฐาเป็นลูก พระเจ้าเอลฟ์เวียร์ดแห่งเวสเซกซ์ เขียนเป็นไทยได้ว่า พระเจ้าป่าเวียร์ดแห่งเวสเซกซ์ ป่าเป็นสิ่งที่ลี้ลับและทรงพระอำนาจยิ่ง กว้างใหญ่ครองคลุมทุกพื้นที่บนแผ่นดิน

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Hall, Alaric Timothy Peter. 2004. The Meanings of Elf and Elves in Medieval England เก็บถาวร 2006-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Ph.D. University of Glasgow).
  2. Elb เป็นคำเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่จากรูปศัพท์พหูพจน์ โดย เจค็อบ กริมม์ ในหนังสือ Deutsches Wörterbuch เนื่องจากไม่ต้องการใช้คำ Elfe ซึ่งดูเหมือนชาวอังกฤษ
  3. Setr Skuld hér til inn mesta seið at vinna Hrólf konung, bróður sinn, svá at í fylgd er með henni álfar ok nornir ok annat ótöluligt illþýði, svá at mannlig náttúra má eigi slíkt standast. จาก มหากาพย์ Hrolf Kraki (นอร์เวย์)
  4. The Saga of Thorstein, Viking's Son เก็บถาวร 2005-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ต้นฉบับภาษานอร์สโบราณ: Þorsteins saga Víkingssonar). บทที่ 1.
  5. Harald Fairhair's saga จาก Heimskringla
  6. Snorri Sturluson . จารึกเอ็ดดา, ถอดความโดย รัสมุส บี. แอนเดอร์สัน (1897). บทที่ 7.
  7. โทมัส ไคท์ลีย์ (1870). ตำนานภูตพราย. แปลบทลำนำไว้เป็นสองฉบับได้แก่: Sir Olof in Elve-Dance และ The Elf-Woman and Sir Olof.
  8. Marshall Jones Company (1930). Mythology of All Races Series, Volume 2 Eddic, บริเตนใหญ่: มาร์แชล โจนส์, 1930, pp. 220.
Kembali kehalaman sebelumnya