Share to:

 

แซยิด

แซยิด หรือสำเนียงกลางว่า เซิงรื่อ (จีน: 生日; พินอิน: shēngrì; วันเกิด) เป็นประเพณีจีนอย่างหนึ่ง ความหมายของคำที่เรียกนี้คือการทำกิจการในวันคล้ายวันเกิดหรืองานเลี้ยงฉลองวันเกิด สำหรับคนไทย จะเป็นการทำบุญเมื่ออายุ 60 ปี บริบูรณ์ จะมีการหาอาหารดี ๆ รสอร่อยมากินกัน การทำแซยิดนอกจากจะทำกันในหมู่ชาวจีนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพตามฐานะของเขาที่จะทำได้แล้ว คนไทยที่มีฐานะก็ได้รับคตินิยมดังกล่าวมาทำด้วย

ความแตกต่างของงานแซยิดของคนจีนกับคนไทย

คนไทยจะทำบุญเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ของจีนเริ่มทำตั้งแต่อายุเต็มขวบปีไปจนถึง 49 ปี จึงเรียกแซยิด และทำตั้งแต่อายุเต็ม 51 ปีไปจนถึง 59 ปี อายุเต็ม 61 ปีไปจนถึง 79 ปี อายุเต็ม 81 ปี ไปจนถึง 89 ปี อายุเต็ม 91 ไปจนถึง 99 ปี ก็เรียกว่าแซยิด

ส่วนที่ทำในวันคล้ายวันเกิดเมื่ออายุเต็ม 50 ปี เรียกว่าโง่วจั้บซีว อายุเต็ม 60 ปี เรียกว่า ลักจั้บซีว อายุเต็ม 70 ปี เรียกว่า ชิดจั้บซีว อายุเต็ม 80 ปี เรียกว่า โป้ยจั้บซีว อายุเต็ม 90 ปี เรียกว่า เกาจั้บซีว และอายุเต็ม 100 ปี เรียกว่า แปะส่วยซีว

การเสี่ยงทาย

ประเพณีแซยิดเป็นประเพณีสืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณ ตามหลักฐานจากหนังสือซื่อหงวนกล่าวว่า การทำแซยิดเป็นประเพณีของชาวกังหลำ คือ ตามประเพณีของชาวกัง ถ้าใครมีลูกไม่ว่าชายหรือหญิงก็ตาม เมื่อลูกมีอายุเต็มขวบปีแล้วจะมีการทำฉี่หยีหรือการเสี่ยงทายลูก โดยฝ่ายพ่อแม่ จะหาสิ่งของมาให้ลูกจับเสี่ยงทาย แต่สิ่งของที่นำมาให้ลูกจับจะแบ่งเป็นสองประเภทคือ ประเภทหนึ่งสำหรับลูกชาย และประเภทหนึ่งสำหรับลูกสาว

ถ้าลูกชาย สิ่งของที่เอามาเสี่ยงทาย จะได้แก่ เสื้อกางเกงชุดหนึ่งเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์และธงเล็ก ๆ อุปกรณ์การเรียนมีแบบเรียน เป็นต้น เครื่องมือสำหรับทำไร่ ทำนา เครื่องมือการช่าง เช่น กบ ขวาน สิ่ว เครื่องสินค้า และของเล่นเด็กต่างๆ ก่อนที่จะทำพิธีเสี่ยงทายลูก ก็จะรอให้บรรดาญาติพี่น้องมาพร้อมหน้าพร้อมตากันเสียก่อน จากนั้นพ่อแม่ก็จะอาบน้ำชำระร่างกายให้ลูก จัดแจงใส่เสื้อตัวใหม่ กางเกงใหม่ให้เรียบร้อย แล้วพามาเคารพญาติพี่น้องส่วนญาติผู้ใหญ่ที่มาร่วม พิธีก็จะเอาสิ่งของต่าง ๆ ออกมาวางรายเรียงเป็นหมวดหมู่ แล้วปล่อยให้เด็กคลานหรือเดินไปหยิบเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากลูกที่เป็นผู้ชายหยิบเป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ โตขึ้นจะเป็นทหารหรือนายทหาร หากหยิบอุปกรณ์การเรียนหรือแบบเรียน โตขึ้นจะได้เป็นข้าราชการ ถ้าหยิบเครื่องทำไร่ไถนา โตขึ้นจะเป็นเกษตรกร ถ้าหยิบเครื่องมือช่าง โตขึ้นจะเป็นช่าง ถ้าหยิบเครื่องสินค้า โตขึ้น จะเป็นพ่อค้าพาณิชย์ และถ้าหยิบตุ๊กตาของเล่นต่าง ๆ เติบโตจะยากจนเข็ญใจ ไม่มีดี ส่วนลูกที่เสี่ยงทายเป็นหญิง หยิบเครื่องเย็บปักถักร้อย โตไปในวันหน้าจะได้สามีร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ถ้าหยิบอุปกรณ์การเรียนโตขึ้นจะได้ผัว/สามีเป็นชาวไร่ชาวนา ถ้าหยิบเครื่องมือช่าง โตขึ้นจะได้ผัว/สามีเป็นช่าง ถ้าหยิบเครื่องสินค้า โตขึ้นจะได้ผัว/สามีเป็นพ่อค้า และถ้าหยิบตุ๊กตาของเล่นต่าง ๆ ผัว/สามีจะเป็นคนยากจนเข็ญใจ

นอกจากการทำพิธี เสี่ยงทายให้แก่ลูกดังกล่าวแล้ว ตามประเพณีการทำแซยิดให้กับลูกของชาวแต้จิ๋ว ยังมีพิเศษไปอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อลูกชาย หรือหญิงก็ตามมีอายุครบ 15 ปี บริบูรณ์ในวันไหน วันนั้นพ่อแม่จะจัดเสื้อกางเกงใหม่ให้ชุดหนึ่ง กับเหล้าอาหารและดอกไม้ห้าอย่าง มีดอกทับทิม เป็นต้น มาโปรยลงที่น้ำอุ่น แล้วให้ลูกอาบน้ำชำระกายจนสะอาดสะอ้าน ขึ้นมาสวมเสื้อกางเกงชุดใหม่ให้เรียบร้อย หลังจากนั้นให้ติดเหล้าอาหารอยู่แต่ในห้องตลอดวัน ตลอดคืน โดยไม่ให้ออกไปไหน แม้จะถ่ายอึฉี่ก็ให้ถ่ายอยู่ในห้องนั้นเอง จนรุ่งขึ้นเสร็จพิธีแล้วจึงให้ออกจากห้อง ไปไหนมาไหนได้ตามปกติพิธี

ดังกล่าวนี้เรียกว่า ชุดหวยฮึง แปลว่า ออกจากสวนดอกไม้แล้วความหมายของการทำเช่นนั้นก็เพื่อแสดงว่า ลูกคนนั้นได้เป็นหนุ่มสาวล่วงเลยภาวะทารกแล้ว

การทำแซยิดในราชสำนัก

การทำแซยิดในประเทศจีน พระเจ้าแผ่นดินก็ทำแซยิด และได้ถือเป็นพระราชประเพณีที่กระทำสืบเนื่องกันมาหลายราชวงศ์ พระราชพิธีแซยิดเริ่มในสมัยราชวงศ์ถัง โดยกษัตริย์ของราชวงศ์นี้พระองค์หนึ่งได้ทรงบัญญัติพระราชพิธีเชยชิวเจี้ยดขึ้น ต่อจากนั้นกษัตริย์ที่สืบสันตติวงศ์ถังก็ทรงกระทำพระราชพิธีนั้นสืบเนื่องไปทุกพระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ถังแล้วกษัตริย์ราชวงศ์ชิงก็ได้ถือปฏิบัติต่อมาจนกระทั่งถึงราชวงศ์หงวนจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีเชยชิวเจี้ยดเป็นบ้วนซิ่วเจี้ยดอยู่ครั้งหนึ่ง

คำว่าโชยชิวเจี้ยด (千壽節) หรือ บ้วนซิ่วเจี้ยด (萬壽節) ก็ดี ก็มีความหมายว่า ตรุษพระชนม์ยืนยาวพันปีหรือหมื่นปี ซึ่งหมายถึงการเฉลิมพระชนมพรรษานั่นเอง แต่ไม่ช้าพระราชพิธีที่ได้ชื่อตามที่กล่าวนี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นคำอื่นอีก จนถึงราชวงศ์หมิงรัชกาลพระเจ้าเม่งสี่จงได้ทรงย้อนกลับไปใช้คำว่าบ้วนซิ่วเจี้ยดเป็นนามพระราชพิธีนั้นสืบเนื่องไปถึงสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชพิธีบ้วนซิ่วเจี้ยดก็เลิกล้มไป แต่ลัทธิธรรมเนียมแซยิดยังคงนิยมทำกันอยู่ต่อมา

อ้างอิง

  • หนังสือ "หล่นบนโต๊ะจีน" ชุดที่ 2 หน้า 145-150

ดูเพิ่ม

Kembali kehalaman sebelumnya