Share to:

 

แท่นบูชา

แท่นบูชา

แท่นบูชา (อังกฤษ: altar) เป็นโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้วางสิ่งของที่ใช้ในพิธีมิสซาในคริสต์ศาสนสถาน ต้องจัดวางไว้ให้เด่นที่สุดในโบสถ์[1] และไม่ใช่เป็นโต๊ะวางสิ่งของจิปาถะ แท่นบูชาใช้วางผ้ารองศีล ผ้าเช็ดกาลิกส์ หนังสือมิสซา ถ้วยกาลิกส์ และแผ่นปัง แท่นบูชามีประโยชน์ใช้สอยทางสถาปัตยกรรมในฐานะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรม และไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งอาคาร[2] บนแท่นบูชานี้ จะต้องจัดให้สามารถนำภาชนะศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ สำหรับภาคถวายมาวางไว้ได้อย่างสะดวกในเวลาประกอบพิธี เช่น จานรองศีล พร้อมแผ่นปัง กาลิกส์ที่มีเหล้าองุ่น นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิธีมิสซา ไมโครโฟน และสิ่งอื่นเท่าที่จำเป็น แท่นบูชาไม่ใช่โต๊ะวางของ จึงควรมีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นสำหรับภาคถวายเท่านั้น แท่นบูชาของคริสตชนในสมัยแรกเป็นโต๊ะไม้เคลื่อนที่ได้ ต่อมาเป็นแบบตั้งอยู่กับที่ และในจารีตละตินให้เป็นแบบทำศิลาหรือหินเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมของพระศาสนจักรที่รับสืบทอดกันมา และให้สอดคล้องกับ สัญลักษณ์จากพระคัมภีร์เกี่ยวกับแท่นบูชาจะต้องทำด้วยหิน และหินธรรมชาติด้วย ซึ่งแท่นหรือหินเป็นรูปแบบที่ชาวอิสราเอลใช้เป็นที่ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า[3]

แท่นบูชามี 2 แบบ คือ

  1. แท่นบูชาแบบติดอยู่กับที่ (โบสถ์ทุกแห่งควรมี[4])
  2. แท่นบูชาแบบเคลื่อนย้ายได้

แท่นบูชาทั้งแบบติดอยู่กับที่ หรือแบบเคลื่อนย้ายได้ จะต้องตั้งอยู่ต่างหาก สร้างห่างจากกำแพงหรือฝาผนัง ให้ผู้ประกอบพิธีเดินรอบ ๆ ได้โดยง่าย และต้องเปิดโอกาสให้ ถวายบูชามิสซาหันหน้าหาประชาชนได้

การตั้งแท่นบูชา

การตั้งแท่นบูชาให้เป็นจุดรวมความสนใจ

ต้องคำนึงถึงตำแหน่งและที่ตั้งให้สูงเด่น ต้องตั้งให้เป็นศูนย์กลางที่รวมความสนใจ มิได้หมายความว่าพระแท่นจะต้องตั้งอยู่ตรงกลางของโบสถ์ แต่ควรตั้งให้ผู้ร่วมพิธีกรรมทุกคนมองเห็นและได้ยินเสียงในการประกอบพิธีกรรม

การประดับตกแต่งบนแท่นบูชา

ไม่ควรมีอะไรเกะกะรุงรัง หากมีการวางเทียน ดอกไม้ หรือเครื่องประดับอื่น ๆ ก็ต้องวางให้เหมาะสม โดยไม่ใช้ของปลอม ไม่ควรนำสิ่งของใหญ่ ๆ มาตั้งหน้าหรือบนแท่นบูชา

ผ้าคลุมแท่นบูชา

ผ้าคลุมแท่นบูชา

การคลุมแท่นบูชาใช้ผ้าขาวปู อาจวางดอกไม้ไว้ใกล้แท่นบูชา ส่วนเทียนนั้นอาจวางบนแท่นบูชาหรือใกล้ ๆ นั้นก็ได้ การปูแท่นบูชาแสดงว่าแท่นบูชาของคริสตชนเป็นแท่นบูชาที่ถวายบูชาขอบพระคุณและเป็นโต๊ะของพระเป็นเจ้า เพื่อเฉลิมฉลองระลึกถึงการตรึงพระเยซูที่กางเขนและการคืนพระชนม์ของพระเยซู และร่วมรับประทานอาหารค่ำของพระองค์ เพราะเหตุนี้จึงต้องเตรียมแท่นบูชาให้เป็นเสมือนโต๊ะสำหรับงานเลี้ยงฉลองการถวายบูชา[5] พิธีใช้ผ้าขาวคลุมแท่นบูชาต้องเตือนให้เราคิดถึงพิธีรับคริสตชนเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร เมื่อคริสตชนใหม่ได้รับศีลล้างบาปและศีลกำลังแล้ว เขาจะรับเสื้อขาวมาสวม

อ้างอิง

  1. ทัศไนย์ คมกฤส, ครบเครื่องเรื่องพระแท่น, ฝ่ายบุคลาภิบาล ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาลบ้านผู้หว่าน, 2543
  2. "ครบเครื่องเรื่องพระแท่น"
  3. "ครบเครื่องเรื่องพระแท่น"
  4. "ครบเครื่องเรื่องพระแท่น"
  5. "ครบเครื่องเรื่องพระแท่น"
Kembali kehalaman sebelumnya