Share to:

 

โคขุนโพนยางคำ

สัญลักษณ์ของสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด สำหรับแสดงว่าเป็นร้านที่ได้รับรองมาตรฐานจริง

โคขุนโพนยางคำ เป็นเนื้อโคคุณภาพสูงจากหมู่บ้านโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โคเป็นโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส โดยมีการตกลงจัดตั้งเป็นสหกรณ์โพนยางคำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แม้จะมีราคาสูงกว่าเนื้อโคปกติก็ตาม

กระบวนการ

โคขุนโพนยางคำมีที่มาจากโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อ-แม่พันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชาโรเลย์ส (Charolais) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส เป็นสายพันธุ์หลัก, พันธุ์ซิมเมนทอล (Simmental) ถิ่นกำเนิดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพันธุ์ลิมูซีน (Limusin) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส[1]

หลังจากลูกโคสายเลือดผสมมีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการ "ขุนโค" โดยจัดการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน และตอนก่อนที่จะนำเข้าคอก ทางสหกรณ์ใช้เทคนิคการให้โคฟังเพลงเพื่อให้วัวกินอาหารได้มาก โดยเชื่อว่าเนื้อวัวที่ได้จะนุ่ม[2] เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติเป็นหลัก แบ่งเป็นอาหารหยาบที่ใช้หญ้าหรือฟาง เสริมด้วยอาหารสูตรพิเศษที่ใช้ธัญพืชในการผลิต ซึ่งเชื่อกันว่าเนื้อโคจะมีกลิ่นหอมและรสหวานยิ่งขึ้น[2] และที่คอกวัวนั้นมีการดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ทำความสะอาดพื้น เก็บมูล อาบน้ำวัว แปรงขัดขน ให้วัวกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยย่นระยะเวลาการขุนโคจากเดิมประมาณ 1 ปี ลงเหลือ 8-9 เดือน[2]

เมื่อขุนโคเสร็จแล้วก็นำมาชำแหละในโรงฆ่ามาตรฐาน แล้วนำไปเก็บบ่มนาน 7 วัน ก่อนจะมีการให้คะแนนไขมันแทรก แล้วตัดแบ่งชิ้นส่วนและกำหนดเรียกชื่อตามแบบฝรั่งเศส 17 ส่วน ใช้มาตรฐานของฝรั่งเศส[2]

ราคา

ในปี พ.ศ. 2554 ราคาเนื้อโคขุนโพนยางคำเกือบสามสิบรายการมีตั้งแต่หนึ่งร้อยถึงหนึ่งพันบาทต่อกิโลกรัม เนื้อที่มีราคาต่ำสุด คือ เนื้อย่าง (5 กิโลกรัม) กิโลกรัมละ 115 บาท ที่มีราคาสูงที่สุด คือ เนื้อสันใน กิโลกรัมละ 1,050 บาท[3] ซึ่งโรงแรมดุสิต โฮเต็ล ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร จำหน่ายสเต๊กในราคาเริ่มต้น 280 บาท และเมนูชาบูเริ่มต้นที่ 350 บาท[4]

ความนิยม

ปัจจุบันโคขุนโพนยางคำได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลาดเนื้อโคชำแหละในบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีตัวแทนจำหน่ายต่างประเทศที่จังหวัดปทุมธานี[4] มีสหกรณ์จำหน่ายในจังหวัดสกลนคร ปัจจุบันสามารถผลิตโคได้ 55 ตัวต่อวัน ชำแหละสัปดาห์ละ 2 วัน[4] จากความสำเร็จของโคขุนโพนยางคำ ทำให้มีการแอบอ้างโดยร้านค้าหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค โคขุนโพนยางคำจริงจะมีป้ายรับรองมาตรฐานของสหกรณ์ติดอยู่หน้าร้าน[4]

อาชีพโคเนื้อในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ชาวบ้านผู้เลี้ยงโคขุนคนหนึ่งบอกว่า ตนได้กำไรจากการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำปีละกว่า 300,000-350,000 บาท[4]

ประวัติ

กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ซึ่งตั้งขึ้นที่บ้านโพนยางคำ ต้องการจะพัฒนาพันธุ์โคเนื้อของไทยให้เป็นอาหารขายได้ จึงได้ของบประมาณจากรัฐบาลจัดหาน้ำเชื้อโคพันธุ์เนื้อจากต่างประเทศมาผสมเทียมโดยไม่คิดมูลค่าให้แก่สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคในภาคอีสาน แต่ยังประสบปัญหาไม่มีตลาดรองรับเนื้อโคพันธุ์ลูกผสม กรป.กลางจึงได้ขอความร่วมมือจากประเทศฝรั่งเศส และมีการตั้งลงจัดตั้งสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง บ้านโพนยางคำขึ้นในปี พ.ศ. 2523[4] ซึ่งทางรัฐบาลฝรั่งเศส โดยสถานเอกอัครราชทูตได้ให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ไทย ตลอดจนสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและบริษัท เนสเล่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย[5]

ในปีแรกสหกรณ์มีสมาชิก 50 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกระจายอยู่ใน 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร แล้วยังมีสมาชิกในจังหวัดหนองคายและจังหวัดนครพนมด้วย[4] จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 สหกรณ์มีสมาชิก 4,702 ราย[5]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya