Share to:

 

โบตั๋น (พรรณไม้)

โบตั๋น
P. suffruticosa
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Saxifragales
วงศ์: Paeoniaceae
Raf.[1]
สกุล: Paeonia
L.
ชนิด
ดูในเนื้อหา

โบตั๋นมีชื่อในภาษาไทยว่า "นางพญานิรมล" เป็นไม้ดอกสกุล Paeonia ซึ่งเป็นสกุลเดียว ในวงศ์ Paeoniaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย, ตอนใต้ของทวีปยุโรป และตะวันตกของอเมริกาเหนือ ในอดีต โบตั๋นมักถูกจัดอยู่ในวงศ์ Ranunculaceae

พืชสกุลโบตั๋นส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงประมาณ 0.5–1.5 เมตร บางชนิดเป็นพุ่ม ลำต้นมีเนื้อไม้ สูง 1.5-3 เมตร ลักษณะของใบเป็นใบประกอบ มีแฉกลึก ดอกใหญ่ และมักมีกลิ่นหอม มีหลายสี ตั้งแต่ แดง บานเย็น เหลือง จนถึงขาว มักออกดอกในช่วงต้นฤดูร้อน

ชื่อ

ชื่อ "โบตั๋น" ในภาษาไทย มาจากชื่อดอกไม้นี้ในภาษาฮกเกี้ยน "บ๊อตั๊น" (จีน: 牡丹; เป่อ่วยยี: bó͘-tan) แต่บางคนก็ว่า มาจากชื่อในภาษาจีนกลางว่า "หมู่ตัน" (พินอิน: mǔ dān)[2]

โบตั๋นนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า peony โดยมีตำนานเล่าว่า ตั้งตามชื่อของไพอัน (Paean) ศิษย์คนหนึ่งของเอสเคลปิอัส เทพเจ้าแห่งการแพทย์ของกรีกโบราณ ต่อมาเอสเคลปิอัสอิจฉาลูกศิษย์ของตน เทพเซอุสช่วยไพอันให้พ้นภัยโดยสาปให้กลายร่างเป็นดอกโบตั๋น [3]

ชนิด

สัญลักษณ์และการใช้

ถาดอาหารไม้ลงยาฝังทอง จากราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279), นกหางยาวสองตัว หมายถึงการมีอายุยืนยาว ดอกโบตั๋นอยู่บนสุดของภาพ หมายถึง ความมั่งคั่ง
โบตั๋น โดยศิลปินจีน Wang Qian, ราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368).
ภาพโบตั๋น โดยศิลปินจีน Yun Shouping, คริสต์ศตวรรษที่ 17

ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในงานศิลปะมายาวนาน และหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติของจีน โดยถือเป็นดอกไม้แห่งจักรพรรดิและความร่ำรวย กับนิยมใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในศิลปะจีนอีกด้วย [4] เมื่อ ค.ศ.1903 ราชวงศ์ชิงประกาศให้โบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ ปัจจุบันนี้ไต้หวันใช้ดอกเหมยเป็นดอกไม้ประจำชาติ ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ใช้เป็นดอกไม้ประจำชาติตามกฎหมายอีกแล้ว และต่อมาเมื่อปี 1994 มีการเสนอให้ใช้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติอีก โดยการทำประชามติ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ กระทั่ง ค.ศ. 2003 มีการเสนอดังกล่าวอีกครึ่งหนึ่ง และยังไม่มีการเลือกใช้ดอกโบตั๋นอีกเช่นกัน

เมืองลั่วหยาง เมืองหลวงเก่าที่มีชื่อเสียงของจีน มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางการปลูกดอกโบตั๋นที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์จีน มักจะยกย่องโบตั๋นจากลั่วหยางว่างดงามที่สุดในแผ่นดิน ปัจจุบันยังมีการจัดนิทรรศการและการแสดงดอกโบตั๋นในเมืองนี้ปีละนับสิบๆ ครั้ง

ในประเทศญี่ปุ่น ดอกโบตั๋นชนิด Paeonia lactiflora เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ebisugusuri (แปลว่า ยาจากต่างแดน) ตามตำรับยาของญี่ปุ่น ถือว่ารากโบตั๋นใช้รักษาอาการชักได้ นอกจากนี้ยังปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ โบตั๋นชนิด Paeonia suffruticosa ในญี่ปุ่น ถือว่าเป็น เจ้าแห่งบุปผา และชนิด Paeonia lactiflora ถือว่า เป็น อัครเสนาบดีแห่งบุปผา"[5]

ภาษาญี่ปุ่นเรียกโบตั๋นว่า โบตัน (牡丹) ก่อนสมัยเมจิ เนื้อจากสัตว์สี่เท้าไม่นิยมบริโภคมากนัก เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เมื่อเอ่ยถึงเนื้อสัตว์จึงเลี่ยงมาใช้ชื่อดอกไม้แทน คำว่า โบตัน ถูกใช้เรียกเนื้อหมูป่า มาตั้งแต่ครั้งนั้นจนปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะเนื้อหมูป่าเมื่อแล่เป็นชิ้นบางๆ จะคล้ายกับดอกโบตั๋นนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน ชาวญี่ปุ่นใช้ดอกซากุระแทนคำเรียกเนื้อม้า

ในรัฐอินเดียนา ของสหรัฐอเมริกา ใช้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำรัฐมาตั้งแต่ ค.ศ. 1957 โดยใช้แทนดอก zinnia ที่เคยใช้เป็นดอกไม้ประจำรัฐมาตั้งแต่ ค.ศ.1931

โบตั๋นนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพราะมีดอกสวยงามและใหญ่มาก ทั้งยังมีกลิ่นหอมด้วย

ภาพโบตั๋น

อ้างอิง

  1. Angiosperm Phylogeny Group (2009). "An update of the Angiosperm Phylogeny Group classification for the orders and families of flowering plants: APG III" (PDF). Botanical Journal of the Linnean Society. 161 (2): 105–121. doi:10.1111/j.1095-8339.2009.00996.x. สืบค้นเมื่อ 2013-07-06.
  2. พจนานุกรม จีน-ไทย ฉบับใหม่ โดย เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด, 2537.
  3. Flowers in Greek Mythology เก็บถาวร 2008-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, VALENTINE floral creations. เรียกข้อมูล 23 มิถุนายน 2008.
  4. Terese Tse Bartholomew, Hidden Meanings in Chinese Art (San Francisco: Asian Art Museum/Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture), 2006.
  5. Sasaki, Sanmi. 2005. Chado: The Way of Tea: A Japanese Tea Master's Almanac. Translated from the Japanese by Shaun McCabe and Iwasaki Satoko. Boston: Tuttle. Page 247.

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Paeonia ที่วิกิสปีชีส์

Kembali kehalaman sebelumnya