Share to:

 

โพลาไรเซอร์

ตัวกรองโพลาไรซ์ ทำหน้าที่ลดการสะท้อน (ซีกบน) แต่ยังสามารถสะท้อนจนเห็นผู้ถ่ายภาพจาง ๆ ได้ที่มุมบรูว์สเตอร์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากแสงที่สะท้อนจากกระจกเก๋งหลังรถค่อนข้างเป็นแสงโพลาไรซ์ (ดู โพลาไรเซชันโดยการสะท้อน) ก็ทำให้ไม่สามารถตัดแสงสะท้อนส่วนนี้ได้ดีนัก

โพลาไรเซอร์ (Polarizer หรือ Polariser)[ม 1] เป็นตัวกรองแสงซึ่งสามารถทำให้แสงซึ่งมีโพลาไรซ์ตามแนวที่กำหนดหรือแบบที่ต้องการผ่านได้ ส่วนแสงที่มีโพลาไรซ์แบบอื่นจะถูกปิดกั้นไว้มิให้ผ่านได้[1][2][3][4] นอกจากนี้ โพลาไรเซอร์ยังสามารถแปลงแสงซึ่งมีโพลาไรซ์แบบผสมหรือไม่ทราบทิศทางให้กลายเป็นแสงโพลาไรซ์ได้อีกด้วย เรียกแสงที่ผ่านโพลาไรเซอร์ว่า แสงโพลาไรซ์

ในชีวิตประจำวัน โพลาไรเซอร์มีสองชนิด คือ โพลาไรเซอร์แบบเส้นตรง (linear polarizer) และ โพลาไรเซอร์แบบวงกลม (circular polarizer) โพลาไรเซอร์เหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางการถ่ายภาพ การประดิษฐ์เครื่องมือทางแสง เช่น จอภาพผลึกเหลว ได้อีกด้วย นอกเหนือจากแสงแล้ว ยังมีโพลาไรเซอร์สำหรับคลื่นวิทยุ (เช่นเสาอากาศ) คลื่นไมโครเวฟ และรังสีเอกซ์

โพลาไรเซอร์แบบเส้นตรง

โพลาไรเซอร์แบบเส้นตรง แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ โพลาไรเซอร์ดูดกลืน (absorptive polarizer) ซึ่งทำงานโดยการดูดกลืนแสงโพลาไรซ์ในทิศที่ไม่ต้องการออกเสีย และ โพลาไรเซอร์แบ่งลำแสง (beam-splitting polarizer) ซึ่งทำงานโดยการแยกลำแสงออกเป็นสองลำ แต่ละลำมีทิศทางการสั่นหรือโพลาไรซ์ตรงข้ามกัน

โพลาไรเซอร์ชนิดตับลวด

โพลาไรเซอร์ชนิดตับลวด ทำหน้าที่แปลงแสงไม่โพลาไรซ์ (หรือโพลาไรซ์แบบผสม) ให้เหลือโพลาไรซ์แบบเดียว ลูกศรในภาพชี้ทิศสนามไฟฟ้า โดยให้ถือว่าสนามแม่เหล็กตั้งฉากกับสนามไฟฟ้าเสมอ แสงส่วนที่ไม่ยอมให้ผ่านจะถูกดูดกลืนและสะท้อนกลับ

โพลาไรเซอร์ชนิดตับลวด (wire-grid polarizer) เป็นโพลาไรเซอร์แบบที่ง่ายที่สุด ประกอบด้วยลวดโลหะขนาดเล็กมากเรียงกันเป็นตับบนระนาบที่ตั้งฉากกับเส้นลำแสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใดที่มีองค์ประกอบในทิศขนานกับเส้นลวด จะกระตุ้นให้อิเล็กตรอนในตับลวดเคลื่อนไปตามเส้นลวด จากนั้นจึงสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลับ โดยมีพลังงานบางส่วนสูญเสียไปเป็นพลังงานความร้อน[5] ในส่วนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีองค์ประกอบในทิศตั้งฉากกับแนวลวด อิเล็กตรอนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลนัก ส่งผลให้เส้นลวดไม่สามารถสะท้อนพลังงานกลับไปได้ จึงยอมให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านออกไป จากความจริงข้างต้นทำให้ได้ว่าทิศทางการโพลาไรซ์ของโพลาไรเซอร์ชนิดตับลวด คือ ทิศตั้งฉากกับแนวลวด ซึ่งขัดแย้งกับการมองว่าคลื่นสามารถลอดผ่านรูระหว่างลวดสองเส้นในตับลวดได้[5]

ในทางปฏิบัติ มักกำหนดให้ระยะระหว่างเส้นลวดสองเส้นในตับลวด น้อยกว่าความยาวคลื่นของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และเส้นลวดควรมีขนาดเล็กกว่านั้นมาก ๆ ส่งผลให้โพลาไรเซอร์ชนิดนี้นิยมใช้กับคลื่นไมโครเวฟ และรังสีอินฟราเรด หากจะใช้กับแสงที่มองเห็น จะต้องใช้เทคนิคการพิมพ์หิน (lithography) ในการผลิตตับลวด เนื่องจากสัดส่วนโพลาไรซ์ (degree of polarization) ไม่ค่อยขึ้นกับความยาวคลื่นและมุมตกกระทบ ทำให้โพลาไรเซอร์ชนิดนี้นิยมใช้ในช่วงย่านความถี่กว้าง ๆ

โพลาไรเซอร์ชนิดดูดกลืน

โพลาไรเซอร์ชนิดดูดกลืน (absorptive polarizer) ทำงานโดยอาศัยผลึกบางชนิด ซึ่งสามารถดูดกลืนแสงโพลาไรซ์ลักษณะหนึ่งได้ ทำให้มีการนำมาใช้งานเป็นโพลาไรเซอร์ ตัวอย่างของผลึกซึ่งมีสมบัติดังกล่าวคือ ทัวร์มาลีน (tourmaline) อย่างไรก็ตาม ทัวร์มาลีนมีสมบัติขึ้นกับความยาวคลื่น นอกจากนี้ตัวผลึกยังมีสีด้วย จึงนิยมใช้เฮราพาไทต์ (Herapathite) ซึ่งไม่มีสีแต่สร้างให้ผลึกมีขนาดใหญ่ยาก แทน

ตัวกรองโพลารอยด์เดิมทีทำจากผลึกเฮราพาไทต์ แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงขึ้นให้ทำงานคล้ายกับโพลาไรเซอร์ชนิดตับลวด วิธีการผลิตมีดังนี้ คือผลิตแผ่นโพลิไวนิลแอลกอฮอล์เจือไอโอดีน จากนั้นยืดไปในทางใดทางหนึ่งจนอนุภาคไอโอดีนที่เจือสามารถเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับทิศที่ยืด อนุภาคไอโอดีนนี้เองที่ทำงานเหมือนกับอิเล็กตรอนในตับลวด ตัวกรองโพลารอยด์ปัจจุบันนำไปใช้ทำแว่นกันแดด ตัวกรองแสงสำหรับถ่ายภาพ และหน้าจอผลึกเหลว มีข้อดีคือ ทน ราคาถูก

นอกจากโพลาไรเซอร์ที่กล่าวมาแล้ว โพลาไรเซอร์ยังสามารถทำได้จากอนุภาคนาโนเงินฝังในแผ่นแก้วบางมาก (≤0.5 mm) ทำให้ได้โพลาไรเซอร์ที่ทนกว่าและประสิทธิภาพดีกว่าโพลารอยด์ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนโพลาไรเซชันที่ 100,000:1 และสัดส่วนดูดกลืนแสงโพลาไรซ์แนวเดียวกัน 1.5%[6] โพลาไรเซอร์ชนิดนี้มีประสิทธิภาพดีในย่านอินฟราเรดคลื่นสั้น และนิยมใช้ในการสื่อสารด้วยใยแก้วนำแสง

โพลาไรเซอร์ชนิดแยกลำแสง

โพลาไรเซอร์ชนิดแยกลำแสง (Beam-splitting polarizers) ทำงานโดยแยกลำแสงตกกระทบเป็นสองลำ แต่ละลำมีโพลาไรเซชันแตกต่างกัน โพลาไรเซชนันชนิดนี้ทำงานได้ดีเมื่อใช้แยกโพลาไรเซชันสองชนิดที่ตั้งฉากกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีเพียงสองลำแสงที่โพลาไรซ์อย่างสมบูรณ์ ส่วนลำแสงที่เหลือเป็นแสงโพลาไรซ์แบบผสม

โพลาไรเซอร์ชนิดแยกลำแสงไม่ดูดกลืนแสงโพลาไรซ์ที่ไม่ต้องการ แต่ทำหน้าที่แยกออกไปในทิศทางอื่นแทน ดังนั้นจึงนิยมใช้ในทางการสื่อสารข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ หรือการวิเคราะห์และใช้งานลำแสงโพลาไรซ์สองชนิดพร้อมกัน

การโพลาไรซ์โดยการสะท้อน

แผ่นกระจกเรียงซ้อนกัน สามารถสะท้อนแสงโพลาไรซ์แบบ s ที่มุมบริวสเตอร์ได้ ส่วนแสงโพลาไรซ์แบบ p จะยอมให้ผ่านไปได้ อนึ่งถ้าต้องการแสงโพลาไรซ์แบบบริสุทธิ์ต้องใช้กระจกมากกว่านี้ ลูกศรในภาพ ชี้ทิศของสนามไฟฟ้า ส่วนทิศของสนามแม่เหล็กคือทิศตั้งฉากกับสนามไฟฟ้าเสมอ

เมื่อแสงตกกระทบรอยต่อระหว่างตัวกลางโปร่งใสสองชนิดที่มีดัชนีหักเหแตกต่างกัน ค่าความสะท้อนของแสงโพลาไรซ์ตั้งฉากกับระนาบตกกระทบ[ม 2] (s) และแสงโพลาไรซ์บนระนาบตกกระทบ (p) จะแตกต่างกัน ถ้ามุมตกกระทบเท่ากับมุมค่าหนึ่งที่เรียกว่า มุมบริวสเตอร์ (Brewster's angle) จะทำให้ลำแสงสะท้อนเป็นแสงโพลาไรซ์ในทิศทางตั้งฉากกับระนาบตกกระทบ (s) ชนิดเดียว สำหรับแสงที่ตกกระทบรอยต่ออากาศ-แก้ว จะได้ว่ามุมบริวสเตอร์มีค่า 57° อนึ่ง โพลาไรเซอร์แบบสะท้อนนิยมทำด้วยกระจกหลายอันประกบติดกัน และจากการทดลองพบว่าลำแสงโพลาไรซ์แบบ s ประมาณ 16% จะสะท้อนที่รอยต่ออากาศ-กระจก หรือกระจก-อากาศ ส่วนที่เหลือนั้นสะท้อนในแนวรอยต่อระหว่างกระจก ซึ่งถ้าวางกระจกหนาหลายชั้น แม้ว่าจะได้ลำแสงโพลาไรซ์เข้มขึ้น แต่ก็เป็นลำแสงที่กว้างและไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก

หากสร้างโพลาไรเซอร์โดยเรียงกระจกซ้อนกันหลายชั้น อาจเพิ่มปริมาณของแสงโพลาไรซ์ในลำแสงส่องผ่านได้ โดยการเพิ่มมุมตกกระทบให้มากกว่ามุมบริวสเตอร์ ซึ่งอาจได้ถึง 100% ถ้าใช้กระจกสี่แผ่นเรียงติดกันและมุมตกกระทบ 80° แต่ความเข้มแสงจะลดลง ยิ่งเพิ่มจำนวนชั้นของกระจก ก็จะได้แสงโพลาไรซ์ในสัดส่วนมากขึ้นแต่ความเข้มน้อยลง[7]

โพลาไรเซอร์แบบหักเหสองแนว

โพลาไรเซอร์แบบหักเหสองแนว (birefringent polarizer) ทำงานโดยอาศัยหลักการหักเหสองแนวของผลึกเช่นเขี้ยวหนุมาน และแคลไซต์ ซึ่งเป็นผลึกที่สามารถแยกลำแสงตกกระทบออกเป็นสองลำ ลำหนึ่งเป็นไปตามกฎของสแน็ล เรียกว่า รังสีสามัญ (ordinary "o" ray) อีกลำไม่เป็นไปตามกฎของสแน็ล เรียกว่า รังสีวิสามัญ (extraordinary "e" ray) รังสีทั้งสองนี้ มีสถานะโพลาไรเซชันที่แตกต่างกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นโพลาไรซ์แบบเส้นตรง อาจจะเป็นโพลาไรซ์แบบวงกลมก็ได้ นอกจากนี้ยังมีค่าดัชนีหักเหที่ไม่เหมือนกันแม้เป็นผลึกก้อนเดียวกันด้วย

ปริซึมนิคอล

โพลาไรเซอร์แบบหักเหสองแนวที่รู้จักกันดี ได้แก่ ปริซึมนิคอล (Nicol prism) ซึ่งเป็นผลึกแคลไซต์สองก้อนประสานด้วยน้ำมันสนบาลซัม (Canada Balsam) ผลึกดังกล่าวจะตัดให้มีลักษณะที่รังสีสามัญกับรังสีวิสามัญมีสถานะโพลาไรเซชันตั้งฉากกัน จากนั้นเมื่อรังสีสามัญกระทบรอยต่อ จะเกิดการสะท้อนไปทางข้างของปริซึม ส่วนรังสีวิสามัญจะทะลุผ่านได้ตามปกติ ปริซึมชนิดนี้นิยมใช้มากในทางการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ ในปัจจุบันได้มีปริซึมกลาน–ทอมป์สัน (Glan–Thompson prism) ปริซึมกลาน–ฟูโก (Glan–Foucault prism) และปริซึมกลาน–เทย์เลอร์ (Glan–Taylor prism) อนึ่ง ปริซึมเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแยกลำแสงโพลาไรซ์อย่างแท้จริง เพราะมีแค่ลำแสงส่องผ่านเท่านั้นที่ได้รับการโพลาไรซ์โดยสมบูรณ์

ปริซึมวอลลัสตัน

ปริซึมวอลลัสตัน (Wollaston prism) เป็นโพลาไรเซอร์แบบหักเหสองแนวที่รู้จักกันดีเช่นกัน ทำจากปรึซึมแคลไซต์รูปทรงสามเหลี่ยมสองก้อนเชื่อมติดกัน โดยให้แกนผลึกของแต่ละก้อนตั้งฉากกัน เมื่อฉายแสงโพลาไรซ์แบบผสมเข้าไป จะได้แสงสองลำแยกกันที่แนวเชื่อมระหว่างผลึกออกจากกัน ลำแสงทั้งสองทำมุม 15°–45° นอกจากปริซึมวอลลัสตันแล้ว ยังมีปริซึมโรชง (Rochon prism)[ม 3] และปริซึมเซนาร์มง (Sénarmont prism)[ม 4] ที่ทำงานคล้ายกัน แตกต่างก็ตรงที่มีการจัดวางแกนผลึกไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ปริซึมเซนาร์มงยังมีอากาศแทรกระหว่างรอยต่อผลึกด้วย ซึ่งไม่เหมือนกับปริซึมวอลลัสตันและปริซึมโรคง

ปริซึมโนมาร์สกี (Nomarski prism) เป็นปรึซึมที่ดัดแปลงจากปริซึมวอลลัสตัน สำหรับใช้ศึกษาวัตถุโปร่งใสมาก ๆ ด้วยกล้องจุลทรรศน์

โพลาไรเซอร์ชนิดฟิล์มบาง

โพลาไรเซอร์ชนิดฟิล์มบางทำด้วยวัสดุพื้น (ซับสเตรต) เคลือบด้วยฟิล์มบางซึ่งมีสมบัติเฉพาะ ทำให้โพลาไรเซอร์ชนิดนี้สามารถทำงานอย่างโพลาไรเซอร์ชนิดแยกแสง อนึ่งวัสดุพื้นนิยมใช้แผ่นแก้วบาง หรือปลูกไว้บนผิวเอียงของลิ่มแก้ว ซึ่งจะมีลิ่มแก้วอีกอันมาประกบต่อกัน[8] อนึ่ง โพลาไรเซอร์ชนิดฟิล์มบางมีราคาถูก ทำงานได้ไม่ดีเท่าโพลาไรเซอร์แบบปริซึม นอกจากนี้ โพลาไรเซอร์แบบฟิล์มบางแทรกระหว่างลิ่มแก้วจะมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบแผ่นแก้วบางธรรมดา

กฎของมาลุสและสมบัติ

จากภาพ θ1θ0 = θi

กฎของมาลุส ซึ่งตั้งชื่อตามเอเตียน-ลุย มาลุส กล่าวว่า เมื่อวางโพลาไรเซอร์แบบสมบูรณ์ไว้ในลำแสงที่โพลาไรซ์แล้ว ความเข้มแสงที่ทะลุผ่านโพลาไรเซอร์ออกมา I จะกำหนดตามสมการ

โดยที่ I0 แทนความเข้มเริ่มต้น และ θi แทนมุมวัดระหว่างแกนโพลาไรซ์กับแนวการโพลาไรซ์ของลำแสงเริ่มต้น ในลำแสงธรรมชาติซึ่งมีโพลาไรซ์ในทุกทิศทางผสมปนกัน เราจำเป็นจะต้องเฉลี่ยค่าโคไซน์ของมุมที่เป็นไปได้ทั้งหมด และจากการที่ค่า เท่ากับ 1/2 ทำให้ได้ว่า

ในทางปฏิบัติ แสงบางส่วนถูกดูดกลืนไปภายในตัวโพลาไรเซอร์ ทำให้ความเข้มแสงที่ทะลุผ่านออกมาลดลงไปบ้าง ในโพลาไรเซอร์แบบโพลารอยด์ ความเข้มแสงจะลดลงราว ๆ 38% ส่วนปริซึมหักเหสองแนว ความเข้มแสงจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

หากมีโพลาไรเซอร์สองอันวางเรียงในแนวเดียวกัน โดยกำหนดให้โพลาไรเซอร์ตัวที่สองเรียกว่า อะนาไลเซอร์ (ตัววิเคราะห์) จะได้ว่า มุม θ ในกฎของมาลุสคือมุมวัดระหว่างแกนโพลาไรเซอร์ทั้งสองดังกล่าว เมื่อแกนโพลาไรเซอร์ทั้งสองถูกปรับให้ตั้งฉากกัน ในทางทฤษฎีจะได้ว่าไม่มีแสงผ่านออกไปได้ แม้ว่าโพลาไรเซอร์จริงอาจยอมให้แสงผ่านออกไปได้เล็กน้อยจนเห็นเป็นสีราง ๆ อัตราส่วนระหว่างแสงที่เล็ดลอดออกมาได้กับแสงก่อนการผ่าน เรียกว่า อัตราส่วนการสูญเสีย (extinction ratio) มีได้ตั้งแต่ 1:500 สำหรับโพลารอยด์ และ 1:106 สำหรับปริซึมกลาน–เทย์เลอร์ นอกจากนี้ ถ้าวางวัตถุโปร่งแสงไว้ระหว่างโพลาไรเซอร์ทั้งสอง อาจเห็นความเข้มของแสงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสมบัติโพลาไรเซชันของวัตถุดังกล่าว การวัดสมบัติของวัสดุด้วยวิธีนี้เรียกว่า โพลาริเมตรี (polarimetry)

สำหรับในรังสีเอกซ์ กฎของมาลุสยังจะต้องคำนึงถึงผลของทฤษฎีสัมพัทธภาพด้วย โดยนิยามตามสมการ

โดยที่ แทนความถี่ของรังสีเอกซ์ก่อนผ่านเข้าสู่โพลาไรเซอร์ แทนความถี่ของรังสีเอกซ์หลังผ่านโพลาไรเซอร์ แทนความยาวคลื่นคอมป์ตันของอิเล็กตรอน แทนอัตราเร็วแสงในสุญญากาศ[9]

โพลาไรเซอร์แบบวงกลม

โพลาไรเซอร์แบบวงกลม (circular polarizer) เป็นโพลาไรเซอร์ชนิดที่สามารถสร้างแสงที่โพลาไรซ์กวาดเป็นเกลียวกลม โดยยอมให้องค์ประกอบสนามไฟฟ้าในแนวตั้งและแนวนอนผ่านเข้ามาด้วยสัตส่วนรวมถึงความต่างเฟสที่เหมาะสม หรืออาจจะแยกแสงที่โพลาไรซ์เป็นวงกลมอยู่แล้วออกให้เหลือชนิดเดียว นิยมใช้ในการถ่ายภาพ (ลดแสงสะท้อนออก) และการผลิตแว่นสามมิติชนิด RealD 3D

การสร้างแสงโพลาไรซ์เป็นวงกลม

โพลาไรเซอร์แบบวงกลมชนิดที่สรำงแสงโพลาไรซ์หมุนขวา (ตามทิศของนิ้วมือซ้ายขณะกำเข้า) อนึ่ง ทิศหมุนขวาคือทิศที่มองจากผู้สังเกตที่มีแสงพุ่งเข้าหาตัว ถ้าเปลี่ยนเป็นมุมมองจากแหล่งกำเนิดจะได้ว่าเป็นทิศหมุนซ้าย

การสร้างแสงโพลาไรซ์เป็นวงกลมหรือวงรี ทำได้โดยการปรับองค์ประกอบสนามไฟฟ้าในแกนตั้งและแกนนอนให้มีความต่างเฟสที่เหมาะสม เมื่อคลื่นเคลื่อนที่ไป องค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบจะสลับกันขยายและหด ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแบบเวกเตอร์จะได้รูปวงรีหรือวงกลม ในทางปฏิบัติ นิยมใช้แผ่นหน่วงคลื่นชนิดหนึ่งในสี่ของคลื่น (quarter-wave plate) ซึ่งทำจากวัสดุหักเหสองแนว วางต่อจากโพลาไรเซอร์แบบเส้นตรง จากนั้นจึงให้แสงไม่โพลาไรซ์ (หรือแสงโพลาไรซ์แบบผสม) ผ่านเข้าสู่โพลาไรเซอร์แบบเส้นตรงจนได้แสงโพลาไรซ์ เมื่อแสงโพลาไรซ์ผ่านเข้าแผ่นหน่วงคลื่น จะเกิดการแยกออกเป็นองค์ประกอบตามแกนสองแกน ได้แก่ แกนช้า (slow axis) และแกนเร็ว (fast axis) ซึ่งตั้งฉากกัน สนามไฟฟ้าที่แยกเข้าแต่ละแกนแล้วจะเคลื่อนที่ในลักษณะที่มีความต่างเฟสไม่เป็นศูนย์อีกต่อไป เมื่อแกนหนึ่งดับ อีกแกนก็จะสว่าง สลับกันเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ทำให้สนามไฟฟ้าที่เกิดจากการทับซ้อนเริ่มเคลื่อนที่กวาดเป็นวิถีเกลียวกลม จากรูปสังเกตว่า แกนโพลาไรซ์ของโพลาไรเซอร์ตัวแรกจัดไว้ที่ 45° เพื่อให้สามารถแยกองค์ประกอบของสนามไฟฟ้าเข้าแกนช้าและแกนเร็วได้เท่ากัน เป็นผลให้แสงที่ทะลุผ่านแผ่นหน่วงคลื่นมีโพลาไรเซชันเป็นวงกลมตามที่ต้องการ

นอกจากการสร้างแสงโพลาไรซ์แบบวงกลมแล้ว แผ่นหน่วงคลื่นยังสามารถยอมให้แสงที่โพลาไรซ์แบบเดียวกับตัวมันเองผ่านเข้าไปได้ และไม่ยอมให้แสงที่โพลาไรซ์ในทิศตรงข้ามผ่าน หลักการนี้ถูกนำไปใช้ประดิษฐ์แว่นสามมิติชนิด RealD Cinema

โพลาไรเซอร์แบบวงกลมเนื้อเดียว

โพลาไรเซอร์แบบวงกลมเนื้อเดียวแบบที่ยอมให้แสงโพลาไรซ์หมุนซ้ายผ่านได้

โพลาไรเซอร์แบบวงกลมเนื้อเดียว (homogenous circular polarizer) เป็นโพลาไรเซอร์ที่สามารถยอมให้แสงโพลาไรซ์แบบหนึ่งผ่านได้ แต่ไม่ยอมให้อีกแบบผ่าน ทำได้โดยนำแผ่นหน่วงคลื่นสองแผ่นมาประกบติดกัน คั่นกลางด้วยโพลาไรเซอร์แบบเส้นตรง[10] เมื่อฉายแสงโพลาไรซ์แบบหมุนซ้ายเข้าไป แผ่นหน่วงคลื่นแผ่นแรกจะมีหน้าที่ปรับความต่างเฟสของสนามไฟฟ้าแต่ละแกนให้เป็นศูนย์ ก่อนผ่านเข้าสู่โพลาไรเซอร์แบบเส้นตรง หลังจากนั้นจึงผ่านแสงโพลาไรซ์แบบเส้นตรงเข้าสู่แผ่นหน่วงคลื่น เพื่อแปลงกลับเป็นแสงโพลาไรซ์หมุนซ้ายเช่นเดิม

โพลาไรเซอร์แบบแบบเส้นตรง นิยมใช้ในการถ่ายภาพยุคแรก ๆ รวมถึงกล้องเก่า ๆ แต่ไม่นิยมใช้ในกล้องรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งมีการวัดแสงและการโฟกัสอัตโนมัติผ่านเลนส์ หากแสงที่ผ่านเข้ามาเป็นแสงโพลาไรซ์แบบเส้นตรงอยู่แล้ว ก็จะทำให้ระบบโฟกัสอัตโนมัติไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นจึงนิยมใช้ตัวกรองแบบโพลาไรซ์วงกลมแทน[11]

หมายเหตุ

  1. ทั้งสองแบบใช้ได้ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษแบบอังกฤษ) โดยนิยมใช้ Polariser ในทางราชการ ส่วนสหรัฐอเมริกา (อังกฤษแบบอเมริกา) ใช้ Polarizer
  2. อังกฤษเรียก plane of incidence หมายถึงระนาบกระดาษที่ทำการวิเคราะห์การสะท้อนหรือหักเห ถ้าโพลาไรซ์ในระนาบกระดาษ ก็เรียก p ถ้าโพลาไรซ์ตั้งฉากกับกระดาษ ก็เรียก s
  3. ตามชื่อ อเล็กซี-มารี เดอ โรชง (Alexis-Marie de Rochon) หรืออับเบ โรชง (Abbé Rochon)
  4. ตามชื่อ อ็องรี เซนาร์มง (Henri Sénarmont; พ.ศ. 2351-2405) นักวิทยาแร่ธาตุชาวฝรั่งเศส

อ้างอิง

  1. Wolf, Mark J. P. (2008). The Video Game Explosion: A History from PONG to Playstation and Beyond. ABC-CLIO. p. 315. ISBN 031333868X.[ลิงก์เสีย]
  2. Johnsen, Sönke (2012). The Optics of Life: A Biologist's Guide to Light in Nature. Princeton Univ. Press. pp. 207–208. ISBN 0691139911.
  3. Basu, Dipak (2000). Dictionary of Pure and Applied Physics. CRC Press. pp. 142–143. ISBN 1420050222.
  4. Gåsvik, Kjell J. (2003). Optical Metrology (3 ed.). John Wiley and Sons. pp. 219–221. ISBN 0470846704.
  5. 5.0 5.1 Hecht, Eugene. Optics, 2nd ed., Addison Wesley (1990) ISBN 0-201-11609-X. Chapter 8.
  6. "Polarcor glass polarizers: Product information" (PDF). Corning.com. December 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
  7. Collett, Edward. Field Guide to Polarization, SPIE Field Guides vol. FG05, SPIE (2005) ISBN 0-8194-5868-6.
  8. US2,403,731 (PDF version) (1946-June-4) Stephen M. MacNeille, Beam splitter. 
  9. A. N. Volobuev (2013). Interaction of the Electromagnetic Field with Substance. Nova Science Publishers, Inc. New York. ISBN 978-1-62618-348-3.
  10. Bass M (1995) Handbook of Optics, Second edition, Vol. 2, Ch. 22.19, McGraw-Hill, ISBN 0-07-047974-7
  11. Ang, Tom (2008).Fundamentals of Modern Photography. Octopus Publishing Group Limited. p168. ISBN 978-1-84533-2310.
  • Kliger, David S. Polarized Light in Optics and Spectroscopy, Academic Press (1990) ISBN 0-12-414975-8
  • Mann, James "Austine Wood Comarow: Paintings in Polarized Light", Wasabi Publishing (2005) ISBN 978-0976819806
Kembali kehalaman sebelumnya