Share to:

 

ไมดลัง

ไมดาม
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ชื่อทางการไมดาม – ระบบการฝังศพเนินดินของจักรวรรดิอาหม
ที่ตั้งรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
เกณฑ์พิจารณาวัฒนธรรม: (iii) (iv)
อ้างอิง1711
ขึ้นทะเบียน2024 (สมัยที่ 46th)

ไมดลัง (อาหม: 𑜉𑜩𑜓𑜝𑜪) หรือ ไมดาม หรือ มอยด้ำ[1] (อักษรโรมัน: Moidam หรือ maidam, เบงกอล: মৈদাম) เป็นเนินฝังศพแบบธรรมเนียมในศาสนาอาหม[2] ไมดลังหลวงแห่งจาไรเทวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2024[3][4] ไมดลังมักได้รับการเปรียบเปรยกับปีรามิดอียิปต์หรือสุสานหลวงของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงในจีน[5][6] ปัจจุบัน มีอยู่สี่เผ่าของอาหมที่ยังคงยึดถือปฏิบัติธรรมเนียมการสร้างไมดลัง ได้แก่ โมะหุง (Mo-Hung), โมะจาม (Mo-Cham), เจาดาง (Chaodang) และ โมะปลง (Mo-Plong)[2]

พิธีศพของชาวไตส่วนใหญ่เช่นชาวอาหมตามธรรมเนียมดั้งเดิมนิยมใช้การฝังศพ ซึ่งต่างกันกับพิธีศพแบบธรรมเนียมฮินดูที่นิยมใช้การเผาศพ ดังนั้น นับตั้งแต่กษัตริย์แห่งอาหมรับศาสนาฮินดูมาปฏิบัติ ก็เปลี่ยนมาเป็นการฝังอัฐิของตนภายใต้ไมดลังแทน ชุมชนชาวอาหมในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดียในปัจจุบันยังคงยึดถือการฝังศพเป็นส่วนสำคัญของธรรมเนียมปฏิบัติของตน ไมดลังมีความสัมพันธ์อย่างมากกับคติบูชาบรรพชนของอาหม และเทศกาลเมด้ำเมผี

โครงสร้างของไมดลังประกอบด้วยห้องใต้ดินหนึ่งห้องเป็นอย่างน้อย[7] และมีโครงสร้างใหญ่รูปกรวยครอบทับ ปกคลุมด้วยเนินดินทรงครึ่งทรงกลม บนยอดเป็นศาลาแบบเปิดที่เรียกว่า โจวจาฬี (chow chali) ส่วนที่ฐานมีกำแพงเตี้ยรูปแปดเหลี่ยมล้อมรอบ ความสูงของไมดลังขึ้นอยู่กับอำนาจอขงกษัตริย์ผู้สร้างไมดลังนั้น ๆ และส่วนมากไม่มีการระบุชื่อของกษัตริย์ที่สร้างหรือฝังร่างไว้ ยกเว้นแต่เพียงบางแห่ง เช่น ของคฑาธร สิงห์ และ รุทร สิงห์ ไมดลังขนาดใหญ่โตส่วนใหญ่มาจากศตวรรษที่ 17-18 ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้จะกระทำการฝังร่างของกษัตริย์หรือราชินีอาหมได้จะต้องมาจากเผ่าตระกูล ฆรฟลิยะ (Gharphaliya) หรือ ลขูรขาน (Lakhurakhan) เท่านั้น สำหรับการก่อสร้างนั้นจะต้องใช้เจ้าหน้าที่พิเศษในตำแหน่ง จางรุง ฟูกาน (Chang-Rung Phukan) ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ของสถาปนิกในอาณาจักรอาหม เท่านั้น[8]

คำว่าไมดลังเป็นรูปย่อยของคำภาษาไต-อาหม ว่า ฟราง ไม ดลัง (Phrang-Mai-Dam; หรือ ผรัง ไม ด้ำ)[9] โดยคำว่า ฟราง ไม (Phrang-Mai; หรือ ผรัง ไม) แปลว่าการ “ฝังไว้” และ ดลัง (Dam; หรือ ด้ำ) แปลว่าคนเสียชีวิตหรือวิญญาณบรรพชน[10]

ในระหว่างปี 2000-2002 กรมสำรวจโบราณคดีอินเดีย สาขาคุวาหาฏี ได้ทำการขุดค้นไมดลังหมายเลขสองแห่งจาไรเทว ในศิวสาคร รัฐอัสสัม ซึ่งยังคงโครงสร้างของไมทลังอย่างดั้งเดิมอยู่ จากการขุดค้นนี้พบว่าห้องใต้ดินของไมดลังสร้างมาจากอิฐ และยังมีการพบรูบนเพดานซึ่งบ่งบอกว่าไมดลังนี้น่าจะโดนปล้นมาก่อนหน้าแล้ว กระนั้นภายในยังคงมีโบราณวัตถุมากมาย รวมถึงพบโครงกระดูกห้าร่าง ชิ้นส่วนงาช้างสำหรับเป็นเครื่องประดีบ ชิ้นส่วนไม้ โศไรที่ออกแบบเป็นรูปเสา แผ่นแสดงตราของราชวงศ์อาหมทำจากงาช้าง ประติมากรรมรูปช้าง นกยูง และดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้กรมโบราณคดีไม่สามารถระบุอายุที่แน่ชัดของไมดลังนี้ได้ แต่คาดว่าเก่าแก่กว่าศตวรรษที่ 18[8] และเชื่อว่าเป็นไมดลังของกษัติรย์แห่งอาหม ปรมัตต์ สิงห์ หรือ ราเชศวร สิงห์

อ้างอิง

  1. การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม
  2. 2.0 2.1 Gohain, Dr. BK (2009). Tai-ahom Janagosthi Aru Tai Parampara Ed. 1st. p. 283.
  3. World Heritage List
  4. Kalita 2023, Times of India, Unesco ICOMOS Expert Arrives At Assam's Charaideo District, Vying For World Heritage Status
  5. Moidams – the Mound-Burial system of the Ahom Dynasty - UNESCO
  6. Desai, Raha (2004), page 450, The Dying Earth People's Action, Nature's Reaction,ACB Publications,ISBN:9788187500216, 8187500212
  7. (ASI 2007)
  8. 8.0 8.1 "Maidams at Charaideo" (PDF). 2014.
  9. Brochure on moidams at Charaideo, Sivasagar, Government of Assam p. 04
  10. Brochure on moidams at Charaideo, Sivasagar, Government of Assam p. 04
Kembali kehalaman sebelumnya