กระทรวง
หน่วยงานเทียบเท่าระดับกระทรวงในภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีอยู่ด้วยกันหลายชื่อ ในประเทศไทยสำนักนายกรัฐมนตรี (อังกฤษ: Office of the Prime Minister) อันมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 [1]ในขณะที่ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา หรือประเทศที่มีรัฐมนตรีอาวุโสสูงสุดเป็นหัวหน้าเรียกว่า Secretary[2] หรือ Secretary of State[3] มักเรียกหน่วยงานระดับกระทรวงว่า Department เช่น Department of State อันหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา บ้างก็เรียกว่า Secretariat หรือ Directorate ซึ่งแปลตรงตัวมีความหมายว่า สำนักเลขาธิการและสำนักงานงานผู้อำนวยการตามลำดับ แต่ถึงกระนั้นทั้งชื่อ Secretariat และ Directorate เป็นที่นิยมใช้กันน้อย เช่น ในประเทศเม็กซิโกมีหน่วยงานระดับกระทรวงที่ดูแลกิจการภายในคือ Secretariat of the Interior อันเทียบได้กับกระทรวงมหาดไทยของประเทศอื่นๆ กลับกันประเทศส่วนใหญ่ที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเรียกว่า Minister หรือ Minister of State มักเลือกที่จะเรียกหน่วยงานระดับกระทรวงว่า Ministry เพื่อบ่งบอกถึงขอบเขตอำนาจแห่งรัฐมนตรีผู้นั้นมากกว่า เช่นในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ไทย เป็นต้น กระทรวงเป็นทบวงการเมือง (อังกฤษ: Public Body) มีฐานะเป็นนิติบุคคล[4][5] ซึ่งในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กระทรวงสามารถเรียกว่า "ทบวง" ก็ได้ เช่น ทบวงมหาวิทยาลัย แม้จะเรียกว่าทบวงแต่มีฐานะเทียบเท่าสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงทุกประการ โดยชื่อของทบวงนี้ยังคงเรียกในภาษาอังกฤษว่า Ministry และมีรัฐมนตรีว่าการทบวงซึ่งเป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า แต่ปัจจุบันทบวงมหาวิทยาลัยได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545[6] จึงทำให้ระบบราชการส่วนกลางของประเทศไทย ณ เวลานี้ไม่มีทบวงอันมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีทบวงอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นหัวหน้าและสังกัดภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง กล่าวคือเป็นทบวงที่มีฐานะต่ำกว่าสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง ด้วยเพราะงานของทบวงยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งเป็นกระทรวงได้ ทว่าในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยไม่เคยมีการจัดตั้งหรือปรากฏทบวงประเภทนี้[7] ดูเพิ่มอ้างอิง
|