กลีบดอกกลีบดอก (อังกฤษ: petal) เป็นส่วนหนึ่งของดอก กลีบดอกเจริญมาจากใบที่เปลี่ยนรูป ล้อมรอบโครงสร้างสืบพันธุ์ของดอก กลีบดอกมักมีสีสันสดใส และรูปทรงสะดุดตาเพื่อดึงดูดพาหะถ่ายเรณู[1] เมื่อกลีบดอกอยู่รวมกันจะเรียกว่า วงกลีบดอก (corolla) กลีบดอกมักอยู่ร่วมกับกลีบเลี้ยง ซึ่งเป็นใบเปลี่ยนรูปอีกชุดที่ทำหน้าที่ปกป้องดอก เมื่อวงกลีบดอกและวงกลีบเลี้ยงอยู่ด้วยกันจะเรียกว่า วงกลีบรวม (perianth) บางครั้งมีการใช้คำกลีบรวม (tepal) เมื่อการแยกกลีบดอกและกลีบเลี้ยงเป็นไปได้ยาก โดยทั่วไปกลีบดอกเป็นส่วนที่เด่นชัดที่สุดของพืชดอก แต่พืชบางชนิด เช่น หญ้ามีกลีบดอกที่ลดรูปเล็กมากหรือไม่มีเลย[2]: 11 พืชแต่ละชนิดมีจำนวนกลีบดอกต่างกัน พืชใบเลี้ยงคู่แท้มีกลีบดอก 4–5 กลีบ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีกลีบดอก 3–6 กลีบ[3] วงกลีบดอกมีความสมมาตรได้ทั้งแบบด้านข้างและแบบรัศมี[4] กล่าวคือดอกสมมาตรด้านข้างสามารถแบ่งเป็นสองด้านที่มีลักษณะเหมือนกันได้ครั้งเดียว[5] ขณะที่ดอกสมมาตรแบบรัศมียังคงมีลักษณะเหมือนกันทั้งสองด้าน แม้จะแบ่งหลายครั้ง[6] พืชสร้างกลีบดอกที่มีสีสัน กลิ่น และน้ำหวานเพื่อดึงดูดพาหะถ่ายเรณู ทั้งยังพัฒนากลไก ขนาด และรูปทรงให้เหมาะสมกับการถ่ายเรณูแต่ละแบบ ดอกที่ใช้การถ่ายเรณูด้วยลมมีกลีบดอกเล็ก มีกลิ่นเล็กน้อยหรือไม่มีกลิ่น แต่มีละอองเรณูจำนวนมากเพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายเรณู[7] ดอกที่ใช้การถ่ายเรณูด้วยแมลงมีสี–กลิ่นเฉพาะ และกลไกการสร้างรังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อนำทางแมลง[8] ดอกที่ใช้การถ่ายเรณูด้วยนกจะมีขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้นกมองเห็นในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และพัฒนาโครงสร้างให้ทนต่อนกจะงอยปากแข็ง[9] ส่วนดอกที่ใช้การถ่ายเรณูด้วยค้างคาวจะมีขนาดใหญ่ มีสีอ่อนถึงสีขาว มีกลิ่นแรง และบานตอนกลางคืน[10] วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ กลีบดอก อ้างอิง
|