การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์
การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (อังกฤษ: Glorious Revolution) ยังรู้จักกันในชื่อ การปฏิวัติปี ค.ศ. 1688 คือการปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์ของ สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (พระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์, พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งไอร์แลนด์) โดยสหภาพนักรัฐสภานิยม ชาวอังกฤษ กับเจ้าผู้ครองสถานชาว ดัตช์ เจ้าชายวิลเลียม แห่งออเรนจ์-นัสเซา (เจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์) จากความสำเร็จในการบุกยึดอังกฤษ ด้วยกองทัพเรือของเจ้าชายวิลเลียม ตามมาซึ่งการขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเป็น พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษร่วมกับ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ พระชายา การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ยังถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอังกฤษ ทำให้กษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เหตุการณ์นโยบายด้านการศาสนาของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 หลังปี ค.ศ. 1685 เผชิญกับการต่อต้านมากขึ้น จากผู้นำฝ่ายการเมืองซึ่งไม่นิยมชมชอบสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับฝรั่งเศส และการเข้ารีตนิกายคาทอลิกขององค์กษัตริย์ จุดวิกฤตมาถึงเมื่อองค์กษัตริย์ให้กำเนิดรัชทายาทเป็นพระราชโอรสนามว่า เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1688 (ตามปฏิทินจูเลียน)[1] ซึ่งเปลี่ยนแปลงลำดับการสืบราชบัลลังก์ของเจ้าหญิงแมรีแห่งอังกฤษ พระราชธิดาผู้ซึ่งเป็นทายาทโดยสันนิษฐานและคริสเตียนโปรเตสแตนต์ (และยังเป็นพระชายาในเจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์) แทนที่ด้วยเจ้าชายเจมส์ผู้นับถือคริสต์นิกายคาทอลิกและมีสิทธิเป็นทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงในทันที การสถาปนาราชวงศ์ในรีตโรมันคาทอลิกขึ้นปกครองราชอาณาจักรอังกฤษจึงเป็นไปได้อีกครั้ง หัวหน้าขุนนางทอรีผู้มีอิทธิพลสูงบางกลุ่มจึงร่วมกับขุนนางจากพรรควิกเข้าคลี่คลายวิกฤต ด้วยการทูลเชิญเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์มายังอังกฤษ[2] ซึ่งเจ้าผู้พิทักษ์เห็นว่าความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอังกฤษ และฝรั่งเศสดำเนินมาถึงจุดที่จะต้องมีการเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหาร หลังจากรวบรวมกำลังสนับสนุนทางการเงินและจากฝ่ายการเมืองแล้ว เจ้าชายวิลเลียมจึงนำกองเรือรบข้ามทะเลเหนือ และช่องแคบอังกฤษก่อนจะมาขึ้นฝั่งอังกฤษที่ทอร์เบย์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1688 ภายหลังจากมีการปะทะกันของกองกำลังย่อยสองครั้งในอังกฤษ และความไม่สงบจากการต่อต้านนิกายคาทอลิกในหลายเมือง การครองราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ก็มีอันต้องสิ้นสุดลง โดยมากเนื่องจากการที่พระองค์ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ไขสถานการณ์ได้ ตามมาด้วยความยืดเยื้อจากสงครามวิลเลียมไมท์ในไอร์แลนด์ และการปฏิวัติจาโคไบต์ ในสกอตแลนด์[3] ในอาณานิคมอเมริกาอันไกลโพ้นของอังกฤษ การปฏิวัตินำไปสู่ความล่มสลายของรัฐอธิราชนิวอิงแลนด์ (Dominion of New England) และการโค่นล้มรัฐบาลในจังหวัดแมรีแลนด์ ตามมาด้วยการพ่ายแพ้ของกองกำลังฝ่ายพระเจ้าเจมส์ในสมรภูมิรีดดิง วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1688 พระเจ้าเจมส์ที่ 2 และพระชายาจึงเสด็จออกนอกประเทศ อย่างไรก็ดีพระองค์เสด็จกลับมายังลอนดอนเป็นเวลาสองสัปดาห์ก่อนที่จะเสด็จออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศสเป็นการถาวรในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1688 เพื่อเป็นการยุติภารกิจของกองกำลังของพระองค์ เจ้าชายวิลเลียมจึงได้โน้มน้าวให้ที่ประชุมรัฐสภาราชาภิเษกพระองค์และพระชายาเป็นกษัตริย์ร่วมบัลลังก์ การปฏิวัติยุติความเป็นไปได้ใดๆ ที่จะทำให้อังกฤษกลับไปเป็นรัฐซึ่งนับถือคริสตจักรโรมันคาทอลิก โดยส่งผลกระทบอย่างมากต่อลัทธิโรมันคาทอลิกในบริเตนทั้งด้านสังคมและด้านการเมือง ผู้นับถือโรมันคาทอลิกไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งในรัฐสภาเวสต์มิสเตอร์เป็นเวลานานกว่าศตวรรษก่อนที่จะมีการยกเลิกไป นอกจากนี้ยังห้ามการมีตำแหน่งในกองทัพ และพระมหากษัตริย์เองก็ถูกจำกัดไม่ให้เข้ารีตโรมันคาทอลิกด้วย ซึ่งข้อห้ามที่ใช้กับพระมหากษัตริย์นี้ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน การปฏิวัติยังก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิ์ต่อชาวโปรเตสแตนต์นอกรีตจนเวลาล่วงเลยผ่านไปนานกว่าจะกลับมามีสิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่อีกครั้ง นับได้ว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ์ ค.ศ. 1689 กลายมาเป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองในสหราชอาณาจักร และไม่เคยปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยต่อมาพระองค์ใดเคยได้ครอบครองอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสหราชอาณาจักรอีกเลย ในระดับนานาชาติ การปฏิวัติถูกเชื่อมโยงกับสงครามมหาสัมพันธมิตร บนยุโรปภาคพื้นทวีป โดยถูกมองว่าเป็นการรุกรานอังกฤษโดยชาวต่างชาติครั้งสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จ[4] การปฏิวัติทำให้ทุกความพยายามที่จะครอบครองสาธารณรัฐดัตช์ ด้วยกำลังทหารของอังกฤษในสงครามอังกฤษ-ดัตช์ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นอันต้องสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามผลกระทบจากการร่วมมือกันทางการค้าและการทหารของอังกฤษและดัตช์ ทำให้ขั้วอำนาจทางการค้าของโลกถูกส่งผ่านจากสาธารณรัฐดัตช์ไปสู่อังกฤษแล้วถูกส่งต่อไปยังราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในที่สุด การเรียกขาน การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ถูกใช้ครั้งแรกโดย จอห์น แฮมป์เดน ในช่วงปลาย ค.ศ. 1689[5] จนกลายมาเป็นการเรียกขานที่ยังคงใช้อยู่มาถึงปัจจุบันโดย[6] การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ยังถูกเรียกในบางโอกาสว่า การปฏิวัติปราศจากเลือด แม้ว่าจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง สงครามกลางเมืองอังกฤษ (การลุกฮือครั้งใหญ่) ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวอังกฤษส่วนมากในปี ค.ศ. 1688 และสำหรับพวกเขาแล้วการปฏิวัติครั้งนี้ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินน้อยกว่าสงครามกลางเมืองอยู่มาก ข้อมูลพื้นฐานระหว่างระยะเวลา 3 ปีในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระองค์ทรงมีส่วนร่วมโดยตรงเกี่ยวกับสงครามการเมืองในอังกฤษระหว่างชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และโปรแตสแตนท์ และนอกจากนั้นระหว่างสิทธิแห่งพระเจ้าแห่งเกียรติยศ และสิทธิทางการเมืองแห่งรัฐสภา และปัญหาสำคัญที่สุดของพระเจ้าเจมส์ก็คือ การเป็นชาวคาทอลิก ซึ่งทำให้พระองค์เป็นปรปักษ์กับทั้งพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคในรัฐสภา ชาวคริสต์แห่งพรรควิกประสบความล้มเหลวที่จะพยายามล้มพระราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ระหว่างปี ค.ศ. 1679 และ 1681 ผู้สนับสนุนพระเจ้าเจมส์เป็นชาวคริสต์ในพรรคอนุรักษนิยม เมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี ค.ศ. 1685 พระองค์ทรงสนับสนุนใน 'Loyal Parliament' อย่างมากซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเป็นส่วนใหญ่ ความพยายามของพระเจ้าเจมส์ที่จะผ่อนคลายกฎหมายอาญาทำให้เป็นปรปักษ์กับผู้สนับสนุนของพระองค์ อ้างอิง
|