Share to:

 

การลดธงครึ่งเสา

การลดธงชาติไทยและธงประจำสถาบันครึ่งเสาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เพื่อถวายอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในปี 2016
การลดธงครึ่งเสา ถวายความอาลัย แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ หอประชุมกาญจนาภิเษก 50 พรรษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ.2551

การลดธงครึ่งเสา (อังกฤษ: half-staff, half-mast) เป็นการชักธงให้อยู่ใต้ยอดเสากระโดงเรือ เสาบนบก หรือเสาบนอาคาร ในประเทศถือเป็นสัญลักษณ์การให้เกียรติ, การไว้อาลัย, ขอความช่วยเหลือ หรือในบางกรณีเป็นการทำความเคารพ[1]

ธรรมเนียมการลดธงครึ่งเสามีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17[ต้องการอ้างอิง] ตามแหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่ามีการลดธงลงเพื่อเปิดทางให้ "ธงแห่งความตายที่มองไม่เห็น" (the invisible flag of death) ได้ชักอยู่บนยอดเสาธงนั้น[2] กระนั้นยังมีการโต้เถียงว่าเมื่อชักธงครึ่งเสา ควรวางธงไว้บริเวณไหนของเสาธง โดยส่วนใหญ่แนะนำว่าควรชักธงลงครึ่งเสาให้เท่ากับความกว้างหรือความยาวของธงเท่านั้น[3][4] ระเบียบปฏิบัติของธงชาติอังกฤษคือ จะต้องชักธงขึ้นไม่น้อยกว่าสองในสามของความสูงเสาธง โดยให้ความสูงของธงอยู่ระหว่างยอดธงกับยอดเสาอย่างน้อยหนึ่งส่วน[5] เป็นเรื่องปกติที่วลีดังกล่าวจะถูกตีความตามตัวอักษร และธงจะถูกชักขึ้นเพียงครึ่งเสาธงเท่านั้น[6] แม้ว่าผู้มีอำนาจบางส่วนไม่ปฏิบัติตามสิ่งนั้น[4]

สำหรับวิธีการลดธงครึ่งเสาในประเทศไทยนั้น จะต้องเชิญธงขึ้นไปสู่ยอดเสาเสียก่อน จากนั้นจึงลดธงลงมาอยู่ในระดับครึ่งเสา (ตามระเบียบ นร.ได้กำหนดให้ลดลงจากยอดเสาเพียง 1 ใน 3 ของความสูงเสา หรืออีกนัยหนึ่ง ธงจะอยู่ที่ความสูง 2 ใน 3 ส่วน ของความสูงเสาธง) หรือตามระดับอื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมาย นอกจากนั้น เมื่อจะมีการเชิญธงจากยอดเสาในเวลาสิ้นสุดของวัน จะต้องเชิญธงกลับขึ้นไปที่ยอดเสาเสียก่อน จึงจะลดธงได้เช่นกัน[7]

การไว้ทุกข์ด้วยธงชาติสำหรับบางประเทศยังอาจมีธรรมเนียมที่ต่างออกไป เช่น ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น จะมีการเพิ่มแถบผ้าสีดำไว้เหนือธงชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการไว้ทุกข์

ธงชาติซาอุดีอาระเบียไม่มีการลดธงครึ่งเสา

สำหรับธงชาติซาอุดีอาระเบีย ธงชาติโซมาลีแลนด์ ธงชาติอิหร่าน ธงชาติอัฟกานิสถานและธงชาติอิรัก ถือเป็นธงชาติที่จะไม่มีการลดธงครึ่งเสา เนื่องจากข้อความชะฮาดะฮ์ หรือ(และ) ตักบีร์บนธงมีความหมายถึง พระนามของอัลลอฮ์ (พระเจ้า) จึงไม่อาจใช้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความอาลัยได้

ประเทศไทย

การลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศครั้งแรกในสยามเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อคราวสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสวรรคต (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ สิ้นพระชนม์) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2404 บรรดาฝรั่งลดธงลงครึ่งเสา 3 วัน

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาศรีพิพัฒน์หัวหน้าคณะทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศฝรั่งเศส มีข้อความว่า

“แม่เพอยนี้ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงว่าเป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อยก็ดีแต่ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรีแลลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมากเขานับถือว่าเป็นคนโตคนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศ บรรดาที่มีธงเขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่จอดทอดอยู่ในแม่น้ำทุกลำ

กงสุลก็ป่าวร้องให้ลดธงแลไขว้เชือกแดงสำแดงให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน...ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือหรือที่บกควรจะยกธงกึ่งเสาเป็นคำนับสามวันหรือเจ็ดวันอย่างไร ก็จงคิดเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าด้วย

หรืออย่างหนึ่งเมื่อข่าวว่ามารดากวีนวิคตอเรียสิ้นชีพแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน แล้วเขาแต่งด้วยเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน แต่รายนี้จะทำสามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว พวกทูตถ้ามีเครื่องดำแต่ง จะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ แต่ถ้าจะสำแดงการอย่างนี้จงประกาศการให้ปรากฏก่อน อย่าให้กิตติศัพท์เลื่องลือผิดกลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้ เพราคนในประเทศเป็นอันมาก แลนอกประเทศบางพวก มันนั่งเร่งนอนเร้าข้าพเจ้าอยู่ ท่านก็จะรู้อยู่แล้ว”[8]

จากประโยคที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าบรรดาชาวต่างชาติในพระราชอาณาจักรสยามเมื่อล่วงรู้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชเทวีซึ่งเป็นพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าของพระมหากษัตริย์ต่างแสดงความไว้อาลัยด้วยการป่าวร้องให้ลดธงในสถานกงสุลและบรรดาเรือลดธงลงครึ่งเสา จากนั้นมาธรรมเนียมสากลนี้ถูกนำมาใช้ปฏิบัติต่อเนื่อง แต่ประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบข่าวเสียก่อน เพื่อเกรงความเข้าใจผิดพลาด และอาจส่งผลต่อความมั่นคง

สำหรับประเทศไทย การลดธงครึ่งเสา จะมีคำสั่งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นกรณีไป หากเป็นบุคคลสำคัญในประเทศ ก็ให้ลดธงครึ่งเสา เป็นเวลาตามกำหนด ให้สมเกียรติกับฐานันดรศักดิ์ (อย่างในภาพขวาบน โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักลดธงครึ่งเสาเพื่อถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลา 30 วัน) ส่วนหากเป็นบุคคลสำคัญต่างประเทศ ส่วนมากแล้ว ทางรัฐบาล จะประกาศให้ลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา 3 วัน

อ้างอิง

  1. "Flags at half mast". www.crwflags.com.
  2. Bartram, G., A Guide to Flag Protocol in the United Kingdom เก็บถาวร 11 สิงหาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, an extract from the book British Flags and Emblems, The Flag Institute.
  3. "What is the proper etiquette for lowering the flag to half staff?". The Flag Shop. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
  4. 4.0 4.1 "Basic Flag Protocol and Etiquette". Newton Newton Flag & Banner Makers Limited. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 August 2003. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
  5. "Flags at half-staff". The Flag Institute.
  6. "What is the proper procedure to fly your flag at half-staff?". American Flag & Pole Co. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2017. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
  7. "ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ | Dek-D.com". Dek-D.com > Board (ภาษาอังกฤษ).
  8. "พระราชหัตถเลขา ร.๔". www.thaiheritage.net.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya