กาลักมุล
กาลักมุล (สเปน: Calakmul) เป็นแหล่งโบราณคดีอารยธรรมมายาแห่งหนึ่งในรัฐกัมเปเช ประเทศเม็กซิโก ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในป่าดิบของภูมิภาคแอ่งเปเตน ห่างจากชายแดนประเทศกัวเตมาลาราว 35 กิโลเมตร[1] กาลักมุลเป็นหนึ่งในนครโบราณที่ใหญ่ที่สุดและเคยมีอำนาจมากที่สุดเท่าที่ค้นพบในที่ลุ่มมายา กาลักมุลเป็นศูนย์กลางของหน่วยทางการเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าอาณาจักรแห่งงู[2] อาณาจักรแห่งงูนี้มีอำนาจในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของสมัยคลาสสิกและได้ปกครองพื้นที่กว้างใหญ่ มีการใช้ตราสัญลักษณ์รูปหัวงูซึ่งอ่านว่า กาน เป็นเสมือนหลักเขตกระจายทั่วอาณาเขต คาดว่าในสมัยนั้นตัวเมืองกาลักมุลมีประชากร 50,000 คนและปกครองท้องที่ต่าง ๆ ภายในระยะ 150 กิโลเมตรในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน[3] โดยมีคู่แข่งสำคัญคือเมืองติกัลซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้[4] มีโครงสร้างโบราณ 6,750 โครงสร้างที่ได้รับการพิสูจน์ระบุที่กาลักมุล โครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนนั้นคือพีระมิด พีระมิดหมายเลข 2 มีความสูงกว่า 45 เมตร[5] และเป็นหนึ่งในพีระมิดมายาที่สูงที่สุด มีสุสาน 4 สุสานอยู่ภายในพีระมิดนั้น พีระมิดที่กาลักมุลได้รับการเพิ่มขนาดด้วยการสร้างทับตัววิหารที่มีอยู่ก่อนเช่นเดียวกับวิหารหรือพีระมิดอีกหลายแห่งในมีโซอเมริกา[6] กาลักมุลได้รับการค้นพบในสมัยใหม่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1931[3] โดยไซรัส แอล. ลันเดลล์ นักชีววิทยาที่กำลังวิจัยเกี่ยวกับการนำยางละมุดจากอเมริกากลางมาทำหมากฝรั่ง เขารายงานการค้นพบไปยังซิลเวนัส จี. มอร์ลีย์ นักวิชาการอารยธรรมมายาจากสถาบันคาร์เนกีที่ชิเชนอิตซาใน ค.ศ. 1932[3] การสำรวจค้นคว้าหยุดชะงักใน ค.ศ. 1938 และบรรดานักโบราณคดีไม่ได้กลับมายังแหล่งดังกล่าวอีกจนกระทั่ง ค.ศ. 1982 เมื่อวิลเลียม เจ. โฟลัน ดำเนินโครงการขุดค้นที่กาลักมุลจนถึง ค.ศ. 1994 ในนามของมหาวิทยาลัยอิสระแห่งกัมเปเช[7] ในปัจจุบันแหล่งโบราณคดีนี้รวมอยู่ในโครงการขนาดใหญ่ของสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติเม็กซิโก[7] อ้างอิงบรรณานุกรม
|