ขุนรองปลัดชู (ภาพยนตร์)
ขุนรองปลัดชู หรือในชื่อเต็มว่า ขุนรองปลัดชู วีรชนคนถูกลืม ภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในสงครามพระเจ้าอลองพญา ออกฉายในช่วงกลางปี พ.ศ. 2554 นำแสดงโดย สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ, จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม กำกับการแสดงโดย สุรัสวดี เชื้อชาติ เนื้อเรื่องในปี พ.ศ. 2302 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดาวหางฮัลเลย์ได้โคจรผ่านโลกเสมือนหนึ่งลางร้าย ขุนรองปลัดชู (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ครูดาบอาตมาทและนายหมู่บ้านแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ไปยังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับกรมการเมืองผู้ใหญ่ เพื่อเฝ้าสถานการณ์การผลัดแผ่นดิน ขุนรองปลัดชูเฝ้ามองดูสถานการณ์ของบ้านเมืองด้วยความเป็นห่วง เนื่องจากการผลัดแผ่นดิน เจ้านายในพระราชวังแย่งชิงพระราชบัลลังก์ ขุนนางก็แตกแยกสนับสนุนแต่ละฝ่ายกัน เจ้าสามกรม ถูกกุมตัวไปประหารชีวิตยังวัดโคกพระยาแล้ว พระเจ้าอุทุมพร ขึ้นเสวยราชสมบัติยังมิทันได้ 2 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศ พระบรมเชษฐาแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการขึ้นเสวยราชย์เอง ด้วยการประทับอยู่ในพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ซ้ำยังการเข้าเฝ้าบางครั้งยังพกเอาพระแสงขรรค์ขึ้นวางพาดตัก พระเจ้าอุมทุมพรยอมหลีกให้พระบรมเชษฐาขึ้นเสวยราชย์แต่โดยดี โดยพระองค์เสด็จออกผนวช แม้น กรมหมื่นเทพพิพิธจะเสด็จหนีราชภัยออกผนวชเช่นกัน แต่ก็ไม่พ้นถูกกำจัดด้วยน้ำมือของตัวขุนรองฯเอง แม้นตัวขุนรองฯจะไม่เข้าข้างผู้ใดและสลดใจกับเหตุการณ์ที่คนในชาติเดียวกันต้องมาเข่นฆ่ากันเองก็ตาม ในเวลาเดียวกัน ทางอังวะ พระเจ้าอลองพญาสถาปนาตนเองขึ้นครองราชย์ หลังจากปราบปรามมอญได้สิ้น โดยมีพระราชบุตรมังระ (จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) และมังฆ้องนรธา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ที่ตะนาวศรีทางฝ่ายอยุธยาได้ริบเรือสินค้าของอังวะไป พระเจ้าอลองพญาเห็นเป็นจังหวะเหมาะ ประกอบกับได้สดับรู้ความของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของอยุธยาว่า โฉดเขลา ไม่เป็นที่ยอมรับของราษฎร โดยที่พระองค์ต้องการจะทำสงครามเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ได้เป็นอยู่อย่างเป็นสุข เมื่อขุนรองฯได้กลับวิเศษไชยชาญ ได้เล่าเรื่องราวที่ตนเองประสบพบเจอมาที่อยุธยา พร้อมย้ำอยู่เสมอว่า บ้านเมืองอ่อนแอ เหมือนบ้านไม้ที่ถูกปลวกมอดกัดแทะ แม้ต้องลมเพียงนิดก็จะพังทลายทั้งหมด ต้องเตรียมทำสงคราม สู้เพื่อวิเศษไชยชาญ โดยรวบรวมอาสาสมัครได้ 400 คน ฝึกดาบอาตมาท และอาบน้ำว่านเพื่อปลุกขวัญกำลังใจและอยู่ยงคงกระพัน เดินทางไปยังด่านสิงขรเพื่อสกัดกั้นทัพพม่า โดยที่กรมการเมืองวิเศษไชยชาญได้แจ้งไปยัง พระยารัตนาธิเบศร์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในอยุธยาได้ทราบแล้ว และจะยกทัพไปสมทบ แต่เมื่อได้ปะทะกับทางพม่าแล้ว ขุนรองฯได้ใช้ป่าชายเลนริมหาดซุ่มโจมตี แม้ตัดกำลังพม่าได้ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อทางพม่าโต้กลับก็มิอาจทานได้ ทั้งหมดจึงหนีไปอยู่ริมหาด และถูกฆ่าตายทั้งหมดด้วยการจับกดน้ำและใช้ช้างกระทืบ ด้วยทั้งตัวขุนรองปลัดชูด้วย ก่อนตาย ขุนรองฯเหลือบเห็นทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ที่สัญญาว่าจะยกมาช่วยยืนมองอยู่ห่าง ๆ โดยไม่มาช่วยจริงดังคำที่ว่าไว้ ขุนรองฯรู้สึกสลดกับเหตุการณ์และระลึกถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น เบื้องหลังและการออกฉายขุนรองปลัดชู เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเนื้อหาเพียง 2 บรรทัดที่จารึกลงในพงศาวดารที่ว่าถึง ขุนรองปลัดชู ขุนนางระดับล่างของวิเศษไชยชาญได้รวบรวมอาสาสมัครซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ จำนวน 400 คน ยกลงไปสู้รบกับพม่าที่หาดหว้าขาว ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวมะนาว ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทั้งหมดได้ตายหมดสิ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นมาจากแนวความคิดของ บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้บริหารของบริษัท ดีแทค ในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ที่ดำริถึงวีรกรรมของขุนรองปลัดชู ที่เหมือนกับสถานการณ์ความแตกแยกของบ้านเมืองในเวลาปัจจุบันเพื่อสะท้อนสำนึกของคนในชาติ ว่าในอดีตเคยมีคนตัวเล็ก ๆ ที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อบ้านเมือง โดยไม่หวังอะไรตอบแทนและรู้ดีว่าจุดจบของตนเองจะเป็นเช่นไร โดยมี สุรัสวดี เชื้อชาติ ที่เคยร่วมงานกำกับภาพยนตร์โฆษณาของดีแทคมาร่วม 10 ปี รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ และได้ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรรายการ คนค้นฅน ทางช่อง 9 รับบทเป็น ขุนรองปลัดชู ตัวเอกของเรื่อง[2][3][1] ออกฉายครั้งแรกในรายการไทยเธียเตอร์ ทางไทยพีบีเอส เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม เวลา 22.00 น. และออกซ้ำอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. ซึ่งตรงกับวันหยุดชดเชยวันเข้าพรรษา และออกฉายในโรงภาพยนตร์เฉพาะโรงภาพยนตร์สกาล่าเท่านั้น โดยเปิดให้เข้าชมฟรี โดยการรับบัตรผ่านทางเว็บไซต์ มีทั้งหมด 5 รอบ ระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม ในรอบเวลา 20.15 น. และวันที่ 9-11 กรกฎาคม ในรอบเวลา 12.00 น.[4] นอกจากนี้แล้ว ยังมีการนำเนื้อหาของเรื่องมาถกและวิเคราะห์กันเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแง่มุมในด้านต่าง ๆ ในรายการ ถกหนังเห็นคน วีรชนคนถูกลืม ทางไทยพีบีเอส เริ่มออกอากาศในตอนแรกในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม เวลา 23.00 น. เมื่อออกฉายแล้ว ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดออกมาในแบบขาวดำ ในภาพบางช่วงตัดสลับเป็นภาพสี ดำเนินเรื่องคล้ายกับสารคดีให้ความรู้สึกเหมือนจริง โดยมีเสียงบรรยายความโดยตัวขุนรองฯเอง เล่าความตั้งแต่ต้น ด้วยบทสนทนามีการสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่ร่วมสมัย แม้เป็นคำพูดภาษาโบราณ แต่ทว่าสะท้อนถึงปัญหาของบ้านเมืองในยุคนี้ได้อย่างถึงแก่น ขณะที่ตัวนักแสดงนำ คือ สุทธิพงษ์ ถือว่ารับบทนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่า คือขุนรองฯเองจริง ๆ ถึงขนาดเมื่อฉายจบในโรงภาพยนตร์สกาล่า ผู้ชมได้ปรบมือและบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา[5][6] และบ้างก็นำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง 300 ที่มีเนื้อหาวีรกรรมคล้ายคลึงกัน[7] อ้างอิง
ดูเพิ่มแหล่งข้อมูลอื่นวิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ ขุนรองปลัดชู (ภาพยนตร์)
|