ดีแทค
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Total Access Communication Public Company Limited; ชื่อย่อ: TAC) หรือในชื่อการค้าว่า ดีแทค (dtac) เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย เดิมเป็นบริษัทในเครือยูคอม[1][2] โดยในช่วงแรกให้บริการในช่วงความถี่ 1800MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ระยะเวลา 27 ปี ตามสัญญาสัมปทาน พร้อมทั้งให้บริการ 3 จี ในช่วงความถี่ 850MHz ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดียวกัน ต่อมาได้มีการโอนย้ายลูกค้า ทรัพย์สิน และการให้บริการให้กับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นผู้ให้บริการหลักภายใต้แบรนด์ดีแทคมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จนถึง 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ปัจจุบันแบรนด์ดีแทคย้ายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ทรูมูฟ เอช ภายหลังจากที่ดีแทค ไตรเน็ต ได้รวมกิจการกับ ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชัน โดยสมบูรณ์ ประวัติดีแทคเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อเข้ารับสัมปทานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในช่วงความถี่ 850 และ 1800MHz จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในประเภทสร้าง-โอน-ดำเนินการ (Build-Transfer-Operate) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 และจดทะเบียนเข้าซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2538 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ได้ยืดสัญญากับ กสท. ไปเป็น พ.ศ. 2561 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ได้เริ่มต้นขายหุ้นบางส่วนให้กับเทเลนอร์ และเปลี่ยนชื่อทางการค้าจาก "แทค" เป็น "ดีแทค" ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ในยูคอมซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแทค ได้ขายหุ้นให้กับเทเลนอร์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555 ทางดีแทคได้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยมีบริษัทบีซีทีเอ็น โฮลดิ้ง ของตระกูลเบญจรงคกุล ที่มีนายบุญชัย เบญจรงคกุลผู้ก่อตั้งดีแทคเป็นผู้บริหารอยู่ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 มาเป็นเป็นร้อยละ 51 และกลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้นที่เหลืออีกร้อยละ 49 เพื่อลดข้อครหาในการเป็นบริษัทต่างชาติ ที่จะเข้าร่วมประมูล 3 จีได้ ทำให้ปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดีแทคคือบีซีทีเอ็น โฮลดิ้ง[3]
การควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เผยแพร่บทความว่ากลุ่มเทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยเรื่องการควบรวมกิจการของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยทรู คอร์ปอเรชั่น มูลค่าดีลนี้อาจสูงถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมประเทศไทยเหลือผู้เล่นเพียงสองราย[4] ซึ่งภายหลังจากที่มีข่าว ทรูและดีแทคได้ส่งจดหมายด่วนขอให้รอความชัดเจนเรื่องการควบรวมกิจการที่จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ต่อไป [5] ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้แถลงข่าวด่วนเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ดีแทค โดยโฮลดิ้งคอมปานีที่จะจัดตั้งขึ้นร่วมกันอย่างเป็นทางการ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ จะจัดตั้งบริษัทร่วมค้าขึ้นเป็นโฮลดิ้งคอมปานี และบริษัทแห่งนี้จะเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และดีแทค ด้วยวิธีการแลกหุ้น ภายหลังธุรกรรมเสร็จสิ้น ผู้ถือหุ้นของทั้งทรู และดีแทค จะถือหุ้นบริษัทแห่งนี้ในรูปแบบพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน (Equal Partnership) นั่นคือกลุ่มผู้ถือหุ้นของทรูรวมเครือเจริญโภคภัณฑ์จะถือหุ้น 58% และกลุ่มผู้ถือหุ้นของดีแทครวมถึงเทเลนอร์และบีทีซีเอ็น โฮลดิ้ง ของ บุญชัย เบญจรงคกุล จะถือหุ้น 42% และทั้งสองฝ่ายจะมีอำนาจในบริษัทใหม่อย่างเท่าเทียมกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของดีแทค ได้มีมติอนุมัติการให้ควบรวมกิจการกับทรู คอร์ปอเรชั่น[6] โดยคาดว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกัน[7] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการควบรวมกิจการจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทรูและดีแทคจึงจัดการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เพื่อลงมติขยายเวลาการควบรวมออกไป[8] โดยที่ต่อมา กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมกิจการ[9] แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำการตลาดในนามแบรนด์ ทรู กับ ดีแทค ไว้ต่อไปอย่างน้อย 3 ปี[10] ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการของทรูและดีแทคได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วมเป็นครั้งที่ 2 และบรรจุวาระการอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่อย่างเป็นทางการ โดยเห็นพ้องให้ใช้ชื่อเดิมว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)[11] เนื่องจากจะสื่อถึงภาพรวมธุรกิจได้มากกว่า[12] จนกระทั่งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทั้งทรูและดีแทคก็ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP หยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราว[13] เพื่อเข้าสู่กระบวนการแลกหุ้น DTAC เป็นหุ้น TRUE ใหม่ในสัดส่วน 1:6.13444 [14] จากนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมครั้งที่ 2 ของทรูและดีแทค ได้อนุมัติชื่อบริษัทใหม่ดังกล่าว พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทใหม่ทั้งหมดที่จะทำหน้าที่ทันทีภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวมบริษัท[15] กระบวนการควบรวมบริษัทเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม โดยกรรมการของทรู คอร์ปอเรชั่น (ใหม่) ได้จดทะเบียนควบรวมบริษัทระหว่างทรู (เดิม) กับดีแทค แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ดีแทคสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลพร้อมกับทรู (เดิม)[16] ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงเพิกถอนหลักทรัพย์ DTAC และ TRUEE ออก และนำหุ้น TRUE (ใหม่) เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแทนในวันเดียวกัน[17] และเริ่มการซื้อขายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม[18] ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ทรู คอร์ปอเรชัน ได้แจ้งการปรับโครงสร้างธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใจความว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างบริษัทฯ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ("TUC") และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ("DTN") ได้อนุมัติให้ TUC เข้าควบกิจการทั้งหมดของ DTN และรับโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ลูกค้า ลูกหนี้ และภาระหน้าที่ต่าง ๆ ของ DTN ทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ภายหลังธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ DTN จะสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคล และแบรนด์ดีแทค รวมถึงฟินน์ โมบายล์ จะให้บริการต่อภายใต้แบรนด์ลูกของ ทรูมูฟ เอช อันเป็นการดำเนินงานของ TUC นับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ถือเป็นการสิ้นสุดการดำเนินงานของดีแทคโดยสมบูรณ์ บริการรางวัลที่ได้รับ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |