Share to:

 

คลองบางขุนเทียน

คลองบางขุนเทียนบริเวณวัดบางขุนเทียนนอก

คลองบางขุนเทียน เป็นคลองในพื้นที่เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมต่อคลองสนามชัยกับคลองบางมด มีความกว้างคลองราว 8–15 เมตร มีความยาว 3,650 เมตร[1] บริเวณคลองมีสวนลิ้นจี่โบราณอายุกว่า 100 ปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน[2] ริมคลองบางขุนเทียนเป็นที่ตั้งของวัดตั้งแต่สมัยอยุธยา 3 แห่ง คือ วัดบางขุนเทียนนอก วัดบางขุนเทียนใน และวัดบางขุนเทียนกลาง

ประวัติ

ชุมชนริมคลองบางขุนเทียนได้มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก่อน พ.ศ. 2065 จะมีความสัมพันธ์กับเส้นทางคลองด่านซึ่งเป็นระบบคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน หลักฐานที่เก่าที่สุดปรากฏอยู่ในกำสรวลสมุทร[3] ปรากฏชื่อ นางนอง ชุมชนย่านนางนองได้รับการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการซ่อมคลองด่านและขุดคลองบางขุนเทียนเมื่อ พ.ศ. 2374[4] เพื่อให้เดินเรือสะดวกยิ่งขึ้นในการค้าขายกับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นผู้ดำเนินการขุด โดยขุดตั้งแต่ด่านวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ริมคลองบางกอกใหญ่ไปถึงวัดกก วัดเลา ความยาว 178.18 เส้น กว้าง 14 วา ลึก 6 ศอก[5]

มีการบันทึกของชาวต่างประเทศ (พ.ศ. 2384–2365) ว่า "เมื่อเรามาถึงคุ้งที่สองในแม่น้ำนั้น สองฝั่งแม่น้ำก็มีแต่สวนหมากเต็มไปหมด คุ้งที่สามก็เต็มไปด้วยสวนผลไม้นับไม่ถ้วน มีกลิ่นหอมหวานของดอกไม้กลบไปหมด ขณะที่เราผ่านมาตามลำน้ำนับเป็นไมล์"[6] แสดงให้เห็นว่าชุมชนคลองบางขุนเทียนจะต้องทำสวนหมากและสวนผลไม้จำนวนมาก

หลังสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อ พ.ศ. 2507 ทำให้คุ้งลิ้นจี่บริเวณคลองบางขุนเทียนซึ่งจากเดิมชาวสวนไม่เคยใช้ปุ๋ยหรือฉีดยาก็ต้องหันมาใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดยาฆ่าแมลง ส่งผลให้กุ้งปลาตายเป็นจำนวนมาก จากพื้นที่สวนจึงเริ่มกลายเป็นโรงสีและโรงเลื่อยโดยเฉพาะช่วงปากคลองดาวคะนอง นอกจากนั้นยังเกิดการอพยพของแรงงานต่างพื้นที่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้การใช้ที่ดินเป็นที่พักอาศัยและการค้ามากขึ้น และหลังจากตัดถนนสายสำคัญอย่าง ถนนพระรามที่ 2 และถนนจอมทอง ยิ่งทำให้บทบาททางสัญจรทางน้ำลดลง[6]

อ้างอิง

  1. "บัญชีคลองในเขตกรุงเทพมหานคร". สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (xls)เมื่อ 23 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2022.
  2. "ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่โบราณย่านบางขุนเทียน". สนุก.คอม. 31 พฤษภาคม 2020.
  3. "นางนอง นองน้ำตา". มิวเซียมไทยแลนด์.
  4. ประภัสสร์ ชูวิเชียร (ตุลาคม 2556). "วัดร้างบางบอน? (วิหารหลวงพ่อขาว) วัดนิรนามอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนหลงลืมไปตามเวลา". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. จุมพล สำเภาพล (17 มิถุนายน 2015). "วิวัฒน์การบริหารกรุงเทพมหานคร" (PDF). หอสมุดกฎหมายรัฐธรรมนุญ. p. 9.
  6. 6.0 6.1 สมพงษ์ กุลวโรตตมะ. "แนวทางการพัฒนาชุมชนเมืองในพื้นที่สวนเดิมฝั่งธนบุรี : กรณีศึกษาชุมชนเมืองคลองบางขุนเทียน" (PDF). คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Kembali kehalaman sebelumnya