Share to:

 

คลองลัดหลวง

คลองลัดหลวงบริเวณวัดกลาง
แผนที่เมื่อ พ.ศ. 2431 แสดงเห็นบริเวณปากลัด ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคลองลัดหลวงและคลองลัดโพธิ์

คลองลัดหลวง เป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของคลองลัดโพธิ์ ประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวาในตำบลบางพึ่ง เป็นแนวตรงไปทางทิศใต้ จนออกแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวาในตำบลบางครุ คลองลัดหลวงมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร

ประวัติ

คลองขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ดำเนินการขุดคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพซึ่งเป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ไม่ปรากฏหลักฐานปีที่ขุด แต่มีวัตถุประสงค์การขุดเพื่อช่วยย่นระยะทางเดินเรือในลำน้ำเจ้าพระยาตอนปลาย ซึ่งมีความคดโค้งมากและเพราะเกรงว่าแม่น้ำเจ้าพระยาจะกัดเซาะตลิ่งของคลองให้กว้างออกเช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ ปัจจุบันบริเวณปากคลองมีประตูน้ำเปิดปิดได้เองโดยอัตโนมัติเพื่อควบคุมการไหลของน้ำเพื่อไม่ให้แรงเกินไป[1]

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า

ในคราวเมื่อสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการ ทรงพระราชดำริว่า ป้อมที่ได้สร้างขึ้นที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่ก่อน ก็ยังค้างอยู่ไม่สำเร็จสมบูรณ์ จึงโปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น ศักดิพลเสพ เป็นแม่กองทำการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ยังค้างอยู่ ให้สร้างป้อมขึ้นอีกป้อมขึ้นอีกป้อมหนึ่ง ชื่อ ป้อมเพชรหึง เปลี่ยนให้ขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ คลองหนึ่งมาทะลุออกคลองตาลาว คลองลัดที่ขุดใหม่นี้ เมื่อขุดกว้าง ๖ วา ลึก ๕ ศอก ยาว ๕๐ เส้น กรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงสร้างวัดขึ้นในคลองลัด ที่ขุดใหม่นี้วัดหนึ่ง พระราชทานนามว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์

[2]

ในคราวนั้นยังสร้างวัดอีกแห่งริมคลองคือวัดโปรดเกศเชษฐาราม นอกจากนั้นยังมีวัดอื่นที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลอง ได้แก่ วัดกลาง วัดพญาปราบปัจจามิตร วัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์ วัดแค และวัดโมกข์

แต่เดิมนั้นนครเขื่อนขันธ์เรียกว่า "ปากลัด" เหตุเพราะมีคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาคือคลองลัดโพธิ์อยู่ทางทิศเหนือ และปากคลองลัดหลวงอยู่ทางทิศใต้ ปลายคลองลัดทั้งสองทะลุออกออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองข้าง[3] เมืองนครเขื่อนขันธ์ดังกล่าวตั้งอยู่ระหว่างคลองลัดทั้งสองคลอง[4]

อ้างอิง

  1. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-19. สืบค้นเมื่อ 2022-06-08.
  2. "วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร". สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ.
  3. "ประวัติความเป็นมา". เทศบาลเมืองพระประแดง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-22. สืบค้นเมื่อ 2022-06-08.
  4. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ เมืองหน้าด่านชายทะเล". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-06-08.
Kembali kehalaman sebelumnya