Share to:

 

คลองลัดโพธิ์

คลองลัดโพธิ์
คลองลัดโพธิ์
ตำแหน่งตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ประเทศประเทศไทย
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว0.6 km (0.37 ไมล์)
ความกว้างประตูกั้นน้ำ14 m (46 ft)
ประตูกั้นน้ำ1
ประวัติ
วันที่บูรณะพ.ศ. 2523
ข้อมูลภูมิศาสตร์
จุดเริ่มต้นแม่น้ำเจ้าพระยา
จุดสิ้นสุดแม่น้ำเจ้าพระยา
สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา
เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา

คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน, กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกะเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้

คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงประกอบพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ พร้อมทั้งทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติ

ขุดคลอง

คลองลัดโพธิ์ขุดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โดยโปรดให้พระยาราชสงคราม (ปาน) เป็นแม่กองขุดคลองนี้ในช่วงคอคอดที่แม่น้ำเจ้าพระยาโค้งเข้าหากัน เมื่อแรกขุดมีความยาว 25 เส้น (1,000 เมตร) ขุดขึ้นเพื่อย่นระยะการเสด็จประพาสไปทรงเบ็ดที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นกีฬาที่ทรงโปรด

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริว่า คลองลัดอาจทำให้น้ำเค็มจากปากน้ำไหลมาถึงกรุงเทพฯ ได้เร็วขึ้น และกระแสน้ำ อาจทำให้คลองลัดกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ได้ในภายหลังดังที่เกิดขึ้นกับคลองลัดเกร็ดและคลองลัดบางกอก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำทำนบกั้นปากคลองและถมคลองให้แคบลง ถึงกระนั้นก็ยังคงเกิดการเซาะตลิ่งจนคลองมีความยาว เหลือเพียง 600 เมตร[1]

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้พระราชทานพระราชดำริในการขุดลอกคลองและสร้างประตูระบายน้ำที่คลองลัดโพธิ์ รวมทั้งพระราชทานพระราชดำริในการสร้างสะพานภูมิพล ประดิษฐาน ณ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริแก่รุ่งเรือง จุลชาต อธิบดีกรมชลประทาน, พลตำรวจเอก จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538[2]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานน้ำอันมหาศาลที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำนี้ และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549[3] เป็นที่มาของการจัดสร้างกังหันพลังน้ำและมีพระราชดำริให้ศึกษาการใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองให้เกิดประโยชน์ กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกันประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ขึ้น รวมทั้งยื่นขอจดสิทธิบัตรงานทั้ง 2 ชิ้น ในพระปรมาภิไธย[4]

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งเกี่ยวกับคลองลัดโพธิ์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนไว้เป็นจำนวนมากทุกภาค เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากน้ำเหนือหลากพร้อมกับน้ำทะเลหนุนอยู่เสมอ จนกระทั่งหลายหน่วยงานได้ร่วมกันวางโครงการขุดลอกคลองลัดโพธิ์ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[5]

สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ซึ่งอยู่ในบริเวณคลองลัดโพธิ์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและภูมิภาคอื่น เพื่อไม่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคราวน้ำท่วมปี พ.ศ. 2548 เมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ถึงการบริหารจัดการน้ำของคลองลัดโพธิ์ว่า "สมเด็จพระบรมฯ กับกรมสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง"

ที่พระประแดง ที่มีอุปกรณ์ที่เวลาน้ำขึ้น กักเอาไว้ แล้วเวลาน้ำลง ปล่อยให้ลง คือ ที่คลอง คนแก่จำไม่ได้แล้ว และได้ทำโครงการที่จะปล่อยน้ำไปได้ เวลาน้ำลง แล้วก็เวลาน้ำขึ้นก็ปิดเอาไว้ ดังนั้น คลอง 600 เมตร ถ้าเปิด มันก็ทะลักเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าปิด น้ำจะอ้อมไป นี่วิธีที่จะบริหารน้ำให้ดี ก็คือ วิธีการให้ทราบว่าเวลาไหนน้ำกำลังขึ้น ปล่อยให้ออกไป พอไปทางคลองเตย กว่าจะถึงตรงปลาย น้ำก็ลง พอน้ำขึ้นเป็นเวลา แล้วเวลาลงเป็นเวลา แต่ว่าเวลาน้ำขึ้น เขียนเอาไว้ว่าขึ้นเวลานั้นๆ สูง 2 เมตร 2 เมตรกว่า เวลาน้ำลง น้ำก็จะลง ลงไป ทำให้เป็นจังหวะ ถ้าไม่ได้จังหวะ เปิดประตูน้ำเวลาน้ำขึ้น มันก็ทะลักเข้ามา ก็เข้ามาอาจจะท่วมได้ น้ำอาจจะขึ้นไปสูงกว่า 2 เมตร น้ำมันขึ้น 2 เมตร 20 - 2 เมตร 30 แต่ว่าถ้าเราปิดในเวลานั้น น้ำก็ไม่ทะลักมาในถนนในกรุงเทพฯ เวลาน้ำลงก็ปล่อย หมายความว่า ต้องให้ตรง มันเป็นเวลา ถ้าทำเป็นเวลาแล้วน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ ก็ต้องท่วม แต่ว่าถ้าไม่ทำให้ถูกต้อง ถูกเวลา ถ้าฝนตกด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่น่าจะฝนตก แต่ว่ามีฝนตกน้ำท่วม ถ้าน้ำท่วมรถแล่นไปก็จมน้ำ
ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้เขาต้องทำ บอกเขา เขาทำให้ ปล่อยน้ำเวลาน้ำมันลง น้ำขึ้นก็กักเอาไว้ มีทุกอย่าง มีแห่งเดียวที่มีอุปกรณ์ ที่อื่นก็ควรจะทำ รอมาหลายปีแล้ว ควรจะทำได้ แต่ต้องลงทุนไม่ใช่น้อย ข้อสำคัญต้องลงแรง ตามคลองชายทะเลก็เคยมี เมื่อ 9 ปี เมื่อปี 38 ส่งองครักษ์ไปดู ไปดูส่วนมากเป็นตอนกลางคืน เห็นคนนอนหลับสบายที่ชายทะเล ปกติไปทางใต้เพราะว่า จะเปิดไหม เพราะว่าเขาไม่ได้บอกให้เปิดก็ไม่ปิด ปิดหรือเปล่า เขาไม่ได้บอกให้ปิด น้ำทะลักเข้ามาก็ท่วมในคลอง คลองก็มาท่วม จากชายทะเลแต่ถ้าทำถูกจังหวะน้ำไม่เกิด ตอนที่ทำทางฝ่ายรัฐบาลก็จะไม่รู้เรื่องว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ชายทะเล ที่นอนสบายเขาบอก คุณมาจากไหน รู้ได้อย่างไร น้ำขึ้นจริงๆ นะ เขานึกว่า ทำไมมาบอก รู้ว่าขึ้นทำไมไม่ปิด รู้ว่าลงไม่เปิด แล้วเขาถาม เป็นนายพล นายพลมาจากไหน มาจากในวัง ก็เลยเข้าใจว่ารู้เรื่อง ทำไมรู้เรื่อง เขาก็เชื่อ แต่ว่านายไม่เชื่อ นายผู้ใหญ่ต่างๆ เขาไม่ได้สั่งว่าเวลานั้นเวลานั้นต้องเปิดต้องปิด ที่ต้องเปิดต้องปิดเวลานี้ เพราะว่าน้ำไม่คอยใคร น้ำขึ้นน้ำลง ท่านเป็นทหารเรือก็รู้เรื่องว่าน้ำขึ้นลงเวลาไหน ต้องรู้ น้ำขึ้น น้ำลง แล้วช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ตัวเขานอนสบายแต่ว่าคนที่อยู่ข้างในทุกข์
ฉะนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีเวลาที่จะแก้ไข ไม่อย่างนั้นถึงปีใหม่น้ำก็ท่วมอีก ก็เลยบอกว่าท่านที่มีหน้าที่ไปดู เราต้องไป เขาไม่เห็นแต่อย่างไรก็น่าจะไป 2 วัน 3 วันนี้ ก็จะไปดู เพราะว่ายังจำเป็นที่จะดู แต่ว่าเห็นเป็นอย่างนี้ อาจจะไปไม่ได้ ปวดหลัง ก็เลยไม่ได้ไป แต่ที่สมเด็จพระบรมฯ กับสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง ทางกรมชลประทาน บอกว่า ปลายปีก็หมดแล้ว ปลายปีนี้ยังมีอีกเดือน แล้วฝนก็ยังไม่หมด ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเชื่อว่า มันจะไม่ช้าเกินไป จวนจะหมดฤดูกาลแล้ว แต่ว่ามาพูดเพราะว่าที่ผ่านมาพูดไม่มีใครได้ยิน เสียงมันแหบ วันนี้เสียงนับว่าดี ได้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรสำหรับในน้ำท่วม
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 4 ธันวาคม 2549[6]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประทับเรือพระที่นั่งอังสนาเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงประกอบพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ พร้อมทั้งทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และ 2 ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 16.30 น. โดยครั้งนี้ถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทั้งนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยมีการถ่ายทอดสดการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. [7]

มหาอุทกภัย

ในช่วงอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์มีส่วนช่วยบรรเทาการบ่าของน้ำเหนือ โดยมีการระบายน้ำผ่านคลองลัดโพธิ์ด้วยการใช้เรือดันตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 สามารถเร่งการเดินทางของน้ำจากความเร็ว 2 น็อต เป็น 6 น็อต ทำให้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของการไหลในอัตราปกติ ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่อำเภอบางไทรลงมา ลดระดับลงจากก่อนหน้านั้น ไม่ท่วมเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร บางกระเจ้า และพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ[8]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-19. สืบค้นเมื่อ 2022-06-01.
  2. "เว็บไซต์ฐานข้อมูลโครงการพระราชดำริฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-24.
  3. "เว็บไซต์ฐานข้อมูลโครงการพระราชดำริฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-24.
  4. ข่าวพระราชสำนัก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9:01น.ล หัวข้อข่าว 'ในหลวง'เสด็จฯทางชลมารคไปสมุทรปราการ ทรงเปิดประตูน้ำใน 'คลองลัดโพธิ์' สะพานภูมิพล 1-2
  5. ข่าวพระราชสำนัก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9:01น.ล หัวข้อข่าว 'ในหลวง'เสด็จฯทางชลมารคไปสมุทรปราการ ทรงเปิดประตูน้ำใน 'คลองลัดโพธิ์' สะพานภูมิพล 1-2
  6. [1]
  7. ข่าวมติชนออนไลน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 11:35:46 น. เก็บถาวร 2011-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวในหลวงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์-สะพานภูมิพล1-2 ทีวีพูลยิงสดเย็นนี้
  8. "จากขุดคลองลัดโพธิ์ เพื่อย่นระยะทางไปทรงเบ็ด!มาเป็นย่นระยะทางระบายน้ำลงทะเล มหัศจรรย์ ๕ ชั่วโมง เหลือ ๑๐ นาที!". ผู้จัดการออนไลน์.

แหล่งข้อมูลอื่น

13°40′01″N 100°32′22″E / 13.666909284167046°N 100.539327854509°E / 13.666909284167046; 100.539327854509

Kembali kehalaman sebelumnya