Share to:

 

งานฟุตบอลประเพณี ราชภัฏฯ–ราชมงคลอีสาน

งานฟุตบอลประเพณี

ราชภัฏฯ–ราชมงคลอีสาน

Rajabhat–Rajamangala Traditional Football Match
ตราประจำมหาวิทยาลัย
ตราประจำมหาวิทยาลัย
ราชภัฏนครราชสีมา เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ข้อมูลทั่วไป
แข่งขันนัดแรก พ.ศ. 2500
สนามแข่งขันนัดแรก ราชมงคลอีสาน
เจ้าภาพครั้งแรก ราชมงคลอีสาน
เจ้าภาพครั้งล่าสุด ราชภัฏนครราชสีมา
ชนะติดต่อกันมากที่สุด ราชมงคลอีสาน 7 ครั้ง
(ครั้งที่ 6 - 12)
สนามแข่งขันประจำ สนามกีฬากลางค่ายสุรนารี
รางวัล โล่พระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ช่องทางรับชม -
สัญลักษณ์ประจำทีม

ราชภัฏฯ

พระราชลัญจกร
สัญลักษณ์ประจำทีม

ราชมงคลอีสาน

พระมหาพิชัยมงกุฎ
จำนวนครั้งที่ชนะ
ราชภัฏนครราชสีมา เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
8* 10*
จำนวนครั้งที่เสมอ
9*
ช่องทางรับข่าวสาร
Facebook เฟซบุ๊กฟุตบอลประเพณีราชภัฏฯ–ราชมงคลอีสาน
Twitter -

งานฟุตบอลประเพณี ราชภัฏนครราชสีมา - เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน หรือ ศึกสองราช[1] เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบัน การแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 2 สถาบันจัดมามากกว่า 50 ปีแล้ว นอกจากการแข่งขันฟุตบอล ยังมีขบวนพาเหรด การตกแต่งสแตนเชียร์ และเชียร์ลีดเดอร์ และเพลงพี่น้องสองราช เป็นประจำการแข่งขัน [2][3]

ประวัติ

นับตั้งแต่อดีต การแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างวิทยาลัยครูนครราชสีมาและวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยการริเริ่มของอาจารย์เตรียม ทิพวงศา และอาจารย์ สุวัฒน์ พินิจพงศ์ ในครั้งแรกๆนั้น ได้จัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างอาจารย์ของวิทยาลัยครูและวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ความมุ่งหมายในขณะนั้นก็เพื่อเป็นการแข่งระหว่างคณาจารย์ของทั้งสองสถาบันซึ่งในอดีตนั้นตั้งบนท้องทุ่งตะโกราย ซึ่งไม่มีรั้วรอบขอบกั้นเช่นสมัยนี้ การแข่งขันในปีนั้นประสบความสำเร็จ คณาจารย์และผู้อำนวนการของทั้งสองสถาบันในสมัยนั้นจึงมีแนวคิดที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ของนักศึกษาทั้งสองสถาบันให้เป็นหนึ่งเดียว จึงริเริ่มให้มีการจัดเป็นประจำทุกปี แต่ให้ปรับเปลี่ยนจากการแข่งขันฟุตบอลของคณาจารย์มาเป็นการแข่งขันของนักศึกษาแทน โดยมีการจัดครั้งแรกในปี 2501 การแข่งขันปรากฏว่าวิทยาลัยครูนครราชสีมาชนะวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ ผลการการแข่งขันเป็นที่น่าพึงพอใจมาก ผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารให้กับอีกสถาบันในช่วงเย็น ทั้งสองสถาบันจึงได้ตกลงให้มีการจัดเป็นประจำทุกปี โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของทั้งสองสถาบัน พ.ศ. 2502 จึงได้ร่วมกันขอโล่พระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[4] นับเป็นสิริมงคลอย่างต่อทั้งสองสถาบัน เพราะเป็นการพระราชทานโล่รางวัลแก่ทั้งสองมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในภูมิภาค[5] มีการบันทึกไว้ว่าการได้รับเกียรติยศ ในการได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลประเพณีที่เก่าแก่นั้น มีเพียง 4 สถาบันเท่านั้น ในประเทศไทย นั่นคือ ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ และ งานฟุตบอลประเพณีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

สถานที่จัดการแข่งขัน

  • พ.ศ. 2500 ใช้สนามวิทยาลัยเทคนิค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ปัจจุบัน)
  • พ.ศ. 2502 เป็นปีที่ได้รับพระราชทานโล่ ฯ จึงได้ย้ายมาแข่งขันที่ สนามกีฬาหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
  • ประมาณ พ.ศ. 2520 ได้มีการย้ายไปจัดการแข่งที่สนามกีฬาของทั้งสองสถาบัน สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในระยะหนึ่ง (อันเนื่องมาจากสนามฟุตบอลหน้าศาลากลางจังหวัดได้ถูกปรับปรุงให้เป็นลานคนเมือง)
  • ประมาณ พ.ศ. 2530 มีการย้ายไปจัดการแข่งขันที่ สนามกีฬากลางค่ายสุรนารี
  • พ.ศ. 2549 สนามกีฬากลางค่ายสุรนารี ทรุดโทรมลงตามระยะเวลาในการใช้งาน จึงได้ย้ายไปจัดการแข่งขันที่ สนามกีฬากลางเทศบาลนครนครราชสีมา
  • พ.ศ. 2550 งดจัดการแข่งขัน เนื่องจากมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24
  • พ.ศ. 2551 จัดการแข่งขันที่สนามกีฬากลางเทศบาลนครนครราชสีมา อีกครั้ง
  • พ.ศ. 2553 เนื่องจากเหตุการอุทกภัยใหญ่ ของจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้สนามกีฬาเทศบาลฯ ชำรุดไม่สามารถใช้จัดกิจกรรมใดๆ ได้ และด้วยคณะกรรมการนักศึกษา ในสมัยนั้นได้เล็งเห็นถึงความไม่ยิ่งใหญ่ของสนามที่ใช้ในการแข่งขัน รวมถึงการเดินทางเข้าไปสนามนั้นอยู่ในมุมอับเกินไป จึงได้สำรวจสนามแข่งขันในจังหวัดและคัดเลือกคือ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (สนามกีฬาที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์) และสนามกีฬาค่ายสุรนารี และได้ตัดสินสินใจเลือกสนามกีฬากลางค่ายสุรนารี เป็นสนามหลักในการแข่งขัน ซึ่งสนามกีฬาแห่งนี้ได้มีการปรับปรุงและเสริมความแข็งแรงของอัฒจรรย์ เพื่อใช้รองรับกองเชียร์ของสองสถาบัน หัวใจหลักของการแข่งขันนั่นเอง
  • พ.ศ 2562 หรือการแข่งขันครั้งที่ 51 ใช้สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นสนามแข่งขัน
  • พ.ศ 2563 หรือการแข่งขันครั้งที่ 52 ใช้สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นสนามแข่งขัน
  • พ.ศ 2566 หรือการแข่งขันครั้งที่ 53 ใช้สนามกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นสนามแข่งขัน

เพลงประจำการแข่งขัน

“ พี่น้องสองราช” เพลงพี่น้องสองราช เป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ ของราชภัฏ-ราชมงคล ซึ่งแต่งโดยอาจารย์สาขาวิชาดนตรี ม.ราชภัฏนครราชสีมา ใช้เป็นเพลงที่ร้องร่วมกันทั้งเปิดการแข่งขันและปิดการแข่งขัน

ตราสัญลักษณ์การแข่งขัน

ฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ ครั้งที่ 52

ในอดีต มีการออกแบบตราสัญลักษณ์ขึ้นมาใช้เป็นประจำทุกๆ ปีแตกต่างกันไป ซึ่งการออกแบบตราสัญลักษณ์นั้นจะคัดเลือกนักศึกษาหรือคณาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยมาร่วมกันออกแบบ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 เป็นการแข่งขัน ครั้งที่ 43 มีสรุปกันให้มีการออกแบบสัญลักษณ์ฟุตบอลประเพณี ที่เป็นมาตรฐานและให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ ถาวร

ความหมาย คบเพลิง ที่ถูกจุดขึ้นล้อมรอบลูกฟุตบอลอันสื่อถึงมิตรภาพและความสามัคคีของสถาบันทั้งสองที่ได้ร่วมกันก่อกำเนิดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลประเพณีของทั้งสองสถาบัน เหนือสิ่งอื่นใดยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานโล่รางวัลเป็นมิ่งขวัญมงคลสืบมา ทั้งสองสีนั้นแทนสัญลักษณ์ของสองสถาบันอันได้แก่

สีแสด แทน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งรังสรรค์เป็นรูปดอกแคแสด อันเป็นดอกไม้ประจำสถาบัน ปลายดอกชูรับแสงแห่งดวงอาทิตย์ หมายถึงความเข้มแข็ง ความสามัคคีและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งต้องการเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตแห่งเทคโนโลยี อันเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

สีเขียวและเหลือง แทน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งรังสรรค์เป็นรูปดองราชพฤกษ์สีเหลืองแซมใบสีเขียว อันเป็นดอกไม้ประจำสถาบัน ซึ่งมีความหมายถึงที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกที่ล้วนตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ และหมายถึงความดีงามแห่งปราชญ์ของ “คนของราชา ข้าของแผ่น” ที่ประสาทวิชาความรู้ให้กับบัณฑิตนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้ตลอดมา

รัศมีสีเทาเข้ม แทนประวัติอันยาวนานของการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งบัดนี้ล่วงเลยมาเป็นครั้งที่ ๔๓ แล้ว แต่กีฬาฟุตบอลประเพณีนี้จะยังคงอยู่เป็นมิตรภาพและความภาคภูมิใจของสองสถาบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สืบไป ออกแบบร่วมกันสองสถาบัน

ผลการแข่งขัน

ราชภัฏ ชนะ ราชมงคล ชนะ เสมอ
ครั้งที่ วันที่ ผลการแข่งขัน จำนวนประตู
1 พ.ศ. 2501 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 2-1
2 พ.ศ. 2502 เสมอ 1-1
3 พ.ศ. 2503 วิทยาลัยครูฯ ชนะ 2-1
4 พ.ศ. 2504 วิทยาลัยครูฯ ชนะ 2-0
5 พ.ศ. 2505 วิทยาลัยครูฯ ชนะ 1-0
6 พ.ศ. 2506 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 4-2
7 พ.ศ. 2507 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 3-2
8 พ.ศ. 2508 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 3-2
9 พ.ศ. 2509 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 3-0
พ.ศ. 2510 งดจัดการแข่งขัน
10 พ.ศ. 2511 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 2-0
11 พ.ศ. 2512 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 3-2
12 พ.ศ. 2513 วิทยาลัยเทคนิคฯ ชนะ 1-0
13 - 38 พ.ศ. 2514 - 2546 ไม่แน่ชัด ไม่แน่ชัด
39 พ.ศ. 2547 เสมอ ไม่แน่ชัด
ครั้งที่ วันที่ ผลการแข่งขัน จำนวนประตู
40 พ.ศ. 2548 เสมอ ไม่แน่ชัด
41 28 มกราคม 2549 เสมอ ไม่แน่ชัด
พ.ศ. 2550 งดจัดฯ เนื่องจากจัดกีฬาซีเกมส์
42 14 กุมภาพันธ์ 2552 เสมอ 0-0
43 13 กุมภาพันธ์ 2553 มทร. ชนะ 1-0
44 6 กุมภาพันธ์ 2554 เสมอ 0-0
45 11 กุมภาพันธ์ 2555 เสมอ 1-1
46 26 มกราคม 2556 มทร. ชนะ 2-0
47 15 กุมภาพันธ์ 2557 มรภ. ชนะ 2-1
48 4 เมษายน 2558 เสมอ 0-0
49 3 เมษายน 2559 มรภ.ชนะ 2-1
พ.ศ. 2560 งดจัดฯ เนื่องจากการสวรรคตของ ร.9
50 3 มีนาคม 2561 มรภ.ชนะ 2-0
51 2 มีนาคม 2562 เสมอ 0-0
52 23 กุมภาพันธ์ 2563 มรภ.ชนะ 1-0
พ.ศ. 2564,2565 งดจัดฯ เนื่องจาก Covid-19
53 19 กุมภาพันธ์ 2566 มรภ.ชนะ 2-0
  • หมายเหตุ
    • วิทยาลัยครูฯ / มรภ. คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
    • วิทยาลัยเทคนิคฯ / มทร. คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

อ้างอิง

  1. ม.ราชภัฏนครราชสีมา แถลงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพฟุตบอล “ศึกสองราช"[ลิงก์เสีย], สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, สืบค้นวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554
  2. มทร.อีสานชูกีฬาลดภาวะโลกร้อน, คมชัดลึก, 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
  3. เกมจบแต่มิตรภาพยืนยาว ศึกสมานฉันท์"พี่น้องสองราช", ข่าวสดรายวัน, 5 มีนาคม พ.ศ. 2553, ปีที่ 19, ฉบับที่ 7036
  4. สนุก-สร้างสรรค์ -สามัคคี 44ปีฟุตบอลประเพณีราชมงคล-ราชภัฏ, ข่าวสดรายวัน, 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554, ปีที่ 20, ฉบับที่ 7384
  5. ฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 43 “มทร.อีสาน-มรภ.นครราชสีมา” เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 5 กุมภาพันธ์ 2553

https://www.rmuti.ac.th/2019/2020/02/23/news230263/ เก็บถาวร 2020-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เก็บถาวร 2020-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,RMUTI News,23 กุมภาพันธ์ 2563

มทร.อีสาน เปิดศึกดวลแข้ง มรนม. ฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ ครั้งที่ 53 สานสัมพันธ์ “พี่น้องสองราช”

Kembali kehalaman sebelumnya