Share to:

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
Rajamangala University of Technology Isan
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ชื่อย่อมทร.อีสาน / RMUTI
คติพจน์สร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา18 มกราคม พ.ศ. 2548; 19 ปีก่อน (2548-01-18)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ1,467,814,800 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ โฆษิต ศรีภูธร
อาจารย์1,377 คน (พ.ศ. 2564)
บุคลากรทั้งหมด2,479 คน (พ.ศ. 2564)
ผู้ศึกษา28,522 คน (พ.ศ. 2567)
ที่ตั้ง
วิทยาเขตศูนย์การศึกษาและวิทยาเขต
6
เพลงสดุดีราชมงคล / มาร์ช มทร.อีสาน
สี  สีแสด
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีที่จัดการเรียนการสอนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ นครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์ โดยได้รับการยกฐานะจากวิทยาเขตในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่งทั่วประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเดิมใช้เป็นพื้นที่ฝึกภาคสนามของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเรียกว่า "ศูนย์ฝึกภาคสนามหนองระเวียง" ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯได้รักษาสภาพพื้นที่ป่านี้ไว้ เพื่อใช้เป็นโรงเรียนธรรมชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,600 ไร่ มีรั้วล้อมรอบอย่างถาวร มีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ คือ สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จำนวน 200 ไร่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จำนวน 200 ไร่ พื้นที่รองรับการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 1,100 ไร่ และพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1,000 ไร่[2] และในปี 2565 ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทย โดยเว็บไซต์ http://www.webometrics.info ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก ได้จัดอันดับให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อยู่อันดับที่ 21 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อันดับที่ 704 ของทวีปเอเชีย อันดับที่ 2,429 ของโลก และยังเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งอีกด้วย

ประวัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ถือกำเนิดขึ้นจากการเรียกร้องของนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518 ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็นนักเรียนชั้นสองของสังคม จัดการศึกษาได้เพียงแค่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และการก้าวสู่ระดับปริญญาตรี จะต้องผ่านการสอบแข่งขันกับนักเรียนสายสามัญ ประกอบทั้ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้งสามแห่ง (ลาดกระบัง  พระนครเหนือและ บางมด) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เน้นการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ย้ายสังกัดจาก กระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งเน้นรับเฉพาะนักเรียนสายสามัญ และการจัดการสอบแข่งขันที่ยากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษา อาทิ โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งอยู่ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตั้งอยู่ที่ ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ วิทยาลัยพณิชยการพระนคร วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ วิทยาลัยช่างกลพระนครเหนือ ฯลฯ รวมตัวกันเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้ถึงระดับปริญญา

ต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี ให้การศึกษาทางด้านอาชีพทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เทคโนโลยีและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ในช่วงแรกที่เปิดทำการเรียนการสอนวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีปัญหาอุปสรรคนานัปการ อาทิ ขาดอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน บุคลากร ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศให้โอนบุคลากร ทรัพย์สิน สถาบันการอาชีวศึกษาที่สังกัด กรมอาชีวศึกษา 30 แห่ง ย้ายมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยเปลี่ยนจากวิทยาลัยมาเป็น "วิทยาเขต"

           ในปี พ.ศ. 2531 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ถือเอาวันที่ 15 กันยายนของทุกปีเป็นวันราชมงคล

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงมีภารกิจหลักคือ จัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี (ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้ทำการเรียนการสอนควบคู่กับทำการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เรื่อยมา อีกทั้งยังทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดตั้งวิทยาเขต จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครพนม จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดปัตตานีแต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

ในปี พ.ศ. 2542 มีการแบ่งส่วนราชการขึ้นใหม่ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบด้วย

สำนักงานอธิการบดี

คณะเกษตรศาสตร์นครศรีธรรมราช

คณะเกษตรศาสตร์บางพระ

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

คณะคหกรรมศาสตร์

คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์

คณะบริหารธุรกิจ

คณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง

คณะวิศวกรรมศาสตร์

คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร

คณะศิลปกรรม

คณะศิลปศาสตร์

คณะศึกษาศาสตร์

สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง

สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร

สถาบันวิจัยเคมี

สำนักบริการทางวิชาการและทดสอบ

การยกฐานะ 9 มหาวิทยาลัย[3]

สืบเนื่องจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการสู่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินการโดยบริหารจัดการได้โดยอิสระ และมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของสภาการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้นเพื่อให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและยกระดับสถานะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งสามารถจัดการศึกษาได้ถึงระดับสูง ปริญญาโท เอก จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่งขึ้น โดยมีการรวมวิทยาเขตที่อยู่ใกล้เคียงกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง

จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิม ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งเก้าแห่งดังต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มีจำนวน 9 แห่งทั่วประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ จึงนับได้ว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นอาณาจักรทางการศึกษาที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตมากว่าหลายหมื่นคนต่อปี เป็นเครื่องบงชี้ได้ว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้ดำรงภารกิจในการผลิตบัณฑิตที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลิตบัณทิตในสายวิชาชีพเพื่อออกมารับใช้ประเทศชาติ พัฒนาประเทศชาติมาเนิ่นนานกว่าสามทศวรรษแล้ว สมดังคำนิยามที่ให้ไว้กับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า “บัณฑิตนักปฏิบัติ”

ประวัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” และโอนวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรกรรม และวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาสังกัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ราชมงคล” เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 (วันราชมงคล) พร้อมทั้งมีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2532 ทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล"

ในระยะต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาต้องเป็นนิติบุคคล[4] ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเริ่มมีแนวคิดในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนิติบุคคล กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548[5] ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผลให้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเกิดขึ้นใหม่ จำนวน 9 แห่ง เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี จัดการศึกษาด้านวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ผลิตครูวิชาชีพ และให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก

ประวัติศูนย์กลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน[6]

ไฟล์:พิธีเปิดอาคารเรียน อาคารแรก.png
พิธีเปิดอาคารเรียน อาคารแรก

ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน หรือ วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เดิม) อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 330 ไร่ ทิศเหนือติดถนนสุรนารายณ์ ทิศใต้ติดคลองลำตะคอง ทิศตะวันตกติดมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และทิศตะวันออกติดที่ดินของเอกชน บริเวณนี้แต่เดิมมีต้นตะโกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีชื่อสามัญเรียกกันว่า "ทุ่งตะโกราย"

วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำดับความเป็นมาดังนี้

ยุคที่ 1 พ.ศ. 2499 วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (วทอ.)

วันที่ 5 มิถุนายน 2499 ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการ คือ นายเสงี่ยม วัฒนธรรม สีประจำสถาบัน คือ สีโกเมน

ยุคที่ 2 พ.ศ. 2518 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (วขอ.)

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 เปลี่ยนเป็นมหาวิยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ผู้อำนวยการ คือ นายเจนจิตต์ กุณฑลบุตร สีประจำสถาบัน คือ สีโกเมน

ยุคที่ 3 พ.ศ. 2531 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (วขอ.)

วันที่ 15 กันยายน 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรกเกล้า พระราชทานนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ผู้อำนวยการ คือ นางประไพศรี สุภา สีประจำสถาบัน คือ สีน้ำเงิน

ยุคที่ 4 พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน)

วันที่ 18 มกราคม 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์กลางนครราชสีมา วิทยาเขตกาฬสินธุ์ วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตสกลนคร และวิทยาเขตสุรินทร์ อธิการบดีคนแรกคือ รศ.ดร.วินิจ โชติสว่าง สีประจำสถาบัน คือ สีแสด

เหตุการณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย

ตราสัญลักษณ์ สี คำขวัญประจำมหาวิทยาลัย[7]

ตราสัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

เป็นรูปตราวงกลม ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในวงกลมเป็นรูปดอกบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง ปัญญาอันเป็นแสงสว่างในโลก ภายในรูปดอกบัวบานเป็น รูปพระราชลัญจกร อันเป็นตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทางนามให้ " มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล " และมีรูปดอกไม้ทิพย์ สองข้างที่ปลายแถบ ซึ่งหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง แจ่มใส เบิกบาน ความวิจิตรแห่ง "ราชมงคลสัญลักษณ์ " จักเป็นที่ประจักษ์และชื่นชมจาก ชาวราชมงคลและบุคคลทั่วไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งนี้ จักเป็นสถาบันที่ ตระหนักในภายกิจ ที่จะเสริมสร้างให้การศึกษาในทางวิชาชีพเจริญรุดหน้า แตกกิ่งก้านสาขา สมดั่งเจตนาที่ถือกำเนิดมา และได้รับพรมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามไว้เป็นสิริมงคลสืบไป

สีประจำมหาวิทยาลัย

   สีแสด

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

แคแสด และ ตะโกราย

หน่วยงานภายใน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เปิดทำการเรียนการสอนทั้งระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก 4 วิทยาเขต โดยศูนย์กลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

หน่วยงานตรวจสอบภายใน สำนักงานส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
แผนกงานวางแผนและปฏิบัติงานตรวจสอบ

แผนกงานรายงานและติดตามผลตรวจ

ศูนย์สหกิจศึกษา

งานพัฒนาวิชาการและส่งเสริมการศึกษา

งานประกันคุณภาพและประเมินผล

งานบริหารงานทั่วไป

งานทะเบียนและประมวลผล

งานวิทยบริการ

 แผนกงานห้องสมุด

 แผนกงานศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง

งานบริหารงานทั่วไป

งานเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำนักงานอธิการบดี สถาบันวิจัยและพัฒนา

สถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน





คณะและสถาบัน
งานสารบรรณ

งานบริหารงานทั่วไป

งานการประชุม

กองพัฒนานักศึกษา

กองบริหารงานบุคคล

กองนโยบายและแผน

กองคลัง

กองกลาง


คณะบริหารธุรกิจ

คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปสร้างสรรค์

คณะระบบรางและการขนส่ง

สถาบันสหสรรพศาสตร์

 วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ

 คณะวิศวกรรมการเกษตร (โครงการจัดตั้ง)

 คณะนวัตกรรมการเกษตรและเทคโนโลยี (โครงการจัดตั้ง

 คณะนวัตกรรมการเกษตร (โครงการจัดตั้ง)

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

นับจากปีแรกที่ได้เริ่มสถาปนาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษารุ่นแรก การได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด มีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกับพระหัตถ์พระองค์เอง ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร นำความปลื้มปิติยินดีมาสู่เหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา ผู้ปกครองบัณฑิต เป็นล้นพ้น และอีกสามครั้งคือ ในปี พ.ศ. 2527 ปี พ.ศ. 2530 ในปี พ.ศ. 2531 เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลแล้วได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ในปี พ.ศ. 2533 รวมเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง 4 ครั้ง

ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2534 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง เป็นประจำทุกปี

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2558 หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานจึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ ครั้งที่ 34ประจำปีการศึกษา 2562 ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปพระราชทานปริญญาบัตรแทนพระองค์ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการระบาดอย่างแพร่หลายในขณะนั้น ทำให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องขอเลื่อนการจัดงานออกไป และรอให้สถานการณ์คลี่คลายอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันให้เกิดความปลอดภัยได้ จึงขอพระราชทานวันจัดพิธีพระราชทานใหม่อีกครั้ง เป็นวันที่ 21 พฤษภาคม 2564[8] แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่ทุเลา จึงได้ประกาศกำหนดวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรใหม่ เป็นวันที่ 4 มีนาคม 2565 [9] ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 34 ประจำปีการศึกษา 2562 จึงเป็นปีที่เริ่มใช้หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเป็นต้นมา

อธิการบดี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ภาพ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.วินิจ โชติสว่าง 1. รองศาสตราจารย์ ดร.วินิจ โชติสว่าง 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552[10]
พ.ศ. 2552 - 2556 (รักษาราชการแทน)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[11] - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560[12] - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
3. รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร 12 กันยายน พ.ศ. 2564[13] - ปัจจุบัน

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๓, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนองระเวียง
  3. "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล", วิกิพีเดีย, 2021-09-15, สืบค้นเมื่อ 2021-11-02
  4. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอน 74ก ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2542
  5. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอน 6ก ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548
  6. "home". 60th.rmuti.ac.th (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  7. "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน".
  8. "ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ "มทร.อีสาน" พิธีพระราชทานปริญญาบัตร 21 พ.ค.64". สยามรัฐ. 2021-03-30.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 2023-01-28.
  10. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 ราย
  11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง)
  13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya