จักรพรรดินีโซอี พอร์ฟีโรเกนิตา
โซอี พอร์ฟีโรเกนิตา (กรีก: Ζωή แปลว่า "ชีวิต" ภาษากรีกสมัยกลาง: [zo'i]; ราวค.ศ. 978 – 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050) พระนางครองราชย์เป็นจักรพรรดินีนาถแห่งไบแซนไทน์ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028 จนกระทั่งสวรรคตในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050 พระนางทรงปกครองเคียงข้างพระราชสวามีทั้งสามพระองค์ และพระราชโอรสบุญธรรม คือ จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 คาลาฟาเตส และพระขนิษฐาคือ จักรพรรดินีธีโอโดรา พอร์ฟีโรเกนิตา จักรพรรดินีโซอีทรงกุมพระราชอำนาจที่แท้จริงร่วมกับจักรพรรดินีธีโอโดราเพียงแค่สองเดือนในช่วงเมษายนและมิถุนายน ค.ศ. 1042 เจ้าหญิงโซอีทรงเป็นพระราชธิดาองค์รองในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิร่วมกับพระเชษฐาคือ จักรพรรดิบาซิลที่ 2 จักรพรรดิบาซิลสวรรคตขณะเจ้าหญิงโซอีมีพระชนมายุ 47 พรรษา ราชบัลลังก์ไบแซนไทน์จึงตกแก่พระราชชนกของพระนางเพียงผู้เดียว จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ไม่ทรงมีพระราชโอรส พระองค์ทรงหวังให้ราชวงศ์ยังคงดำรงอยู่ต่อไปโดยพยายามให้พระราชธิดาอภิเษกสมรส เจ้าหญิงโซอีทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษาแล้ว ต้องทรงเสกสมรสกับโรมานอส อาร์กีรอส ขุนนางอาวุโส โซอีและพระราชสวามีได้ครองบัลลังก์ในอีกสามวันต่อมาหลังจากพระราชชนกสวรรคต ชีวิตสมรสเต็มไปด้วยปัญหาและหลังจากนั้นห้าปี จักรพรรดิโรมานอสที่ 3 ถูกพบว่าสวรรคตในอ่างสรงน้ำของพระองค์ การสวรรคตของพระองค์นั้นมีผู้อยู่เบื้องหลังคือจักรพรรดินีโซอี หรือคนรักวัยหนุ่มของพระนาง คือ มิคาเอล หรือทั้งสองร่วมวางแผนกัน ทั้งสองสมรสกันในวันที่เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น และมิคาเอลผู้มีพื้นเพเป็นเพียงชาวนาได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิเคียงข้างจักรพรรดินีโซอี เจ็ดปีต่อมา จักรพรรดินีโซอีทรงได้รับการชักชวนให้รับพระราชนัดดาของพระสวามีที่สวรรคตมาเป็นโอรสบุญธรรมซึ่งชื่อว่า มิคาเอล เช่นกัน เมื่อมิคาเอลผู้นี้ได้ครองราชย์เป็น จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 คาลาฟาเตส พระองค์จึงสั่งเนรเทศจักรพรรดินีโซอี ผู้เป็นพระราชชนนีบุญธรรม การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการจลาจลนำมาซึ่งการโค่นราชบัลลังก์ของจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 และมีการฟื้นราชบัลลังก์ของจักรพรรดินีโซอี และมีการสถาปนาพระขนิษฐาของพระนางขึ้นเป็น จักรพรรดินีธีโอโดรา ในฐานะจักรพรรดิร่วม หลังจากครองราชย์ต่อมาอีกสองปี จักรพรรดินีโซอีทรงอภิเษกสมรสใหม่กับอดีตคนรัก ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็น จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9 โมโนมาโชส พระนางส่งถ่ายโอนพระราชอำนาจไปให้พระองค์ และแปดปีต่อมา จักรพรรดินีโซอีก็สวรรคตด้วยพระชนมายุ 72 พรรษา ช่วงต้นพระชนม์ชีพ ราวค.ศ. 978 - 1028เจ้าหญิงโซอีทรงเป็น "พอร์ฟีโรเกนิตา"[2] หรือ "ผู้ประสูติในรัชกาล" หรือ "ผู้ประสูติในสีม่วง" อันเป็นสร้อยพระนามของพระโอรสธิดาที่ประสูติในช่วงจักรพรรดิกำลังเสวยราชย์อยู่ เจ้าหญิงโซอีเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 กับจักรพรรดินีเฮเลนา[3] พระราชชนกของเจ้าหญิงทรงเป็นจักรพรรดิร่วมตั้งแต่มีพระชนมายุได้ 2 พรรษา ในปีค.ศ. 962[4] พระเชษฐาของพระองค์คือ จักรพรรดิบาซิลที่ 2 เป็นพระประมุขร่วมที่อาวุโสกว่า ทรงพยายามไม่ให้เจ้าหญิงผู้เป็นพระราชนัดดาเสกสมรสกับเหล่าขุนนางไบแซนไทน์ เพื่อไม่ให้พระสวามีเหล่านันอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ได้ ในฐานะผู้หญิง พระองค์ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐใดๆได้ พวกพระองค์ทำได้เพียงแค่เลือก หรือยอมรับหรือไม่ จากพระสวามีซึ่งจะได้รับสิทธิต่างๆเมื่อทรงเสกสมรสแล้ว[5] ดังนั้น เจ้าหญิงโซอีจึงใช้พระชนม์ชีพอย่างน่าคลุมเครือในไกเนซีอุม (เขตพระราชฐานสตรี) เป็นระยะเวลาหลายปี[6] เจ้าหญิงโซอีทรงมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกเป็นพระมเหสีในจักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในปีค.ศ. 996[7] คณะราชทูตครั้งที่สองจัดขึ้นในปีค.ศ. 1001 หัวหน้าคณะคือ อาร์นัล์ฟที่ 2 อาร์กบิชอปแห่งมิลาน[8] ได้รับพระราชโอรงการให้คัดเลือกพระราชธิดาสามพระองค์ของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 มาเป็นพระมเหสีของจักรพรรดิอ็อทโท พระราชธิดาองค์โตคือ เจ้าหญิงยูโดเซีย ทรงเสียโฉมจากไข้ทรพิษ ส่วนพระราชธิดาองค์เล็กคือ เจ้าหญิงธีโอโดรา ทรงมีรูปโฉมเรียบๆธรรมดา อาร์นัล์ฟจึงเลือกเจ้าหญิงโซอี พระชนมายุ 23 พรรษา ผู้งดงาม ซึ่งจักรพรรดิบาซิลที่ 2 ทรงเห็นด้วย[2] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1002 เจ้าหญิงทรงติดตามอาร์นัล์ฟกลับไปยังอิตาลี แต่เมื่อเรือมาถึงบารี ก็ทราบข่าวว่าจักรพรรดิอ็อทโทสวรรคตแล้ว ทำให้พระนางต้องเสด็จกลับ[2] เมื่อจักรพรรดิบาซิลสวรรคต จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ได้ครองบัลลังก์ รัชกาลของพระองค์ระยะสั้นไม่ถึง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1025 ถึง 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028[3] โอกาสที่เจ้าหญิงโซอีจะได้อภิเษกสมรสเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1028 เมื่อคณะทูตของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เดินทางมาถึงคอนสแตนติโนเปิล เพื่อทูลขอการอภิเษกสมรส จักรพรรดิคอนสแตนตินและเจ้าหญิงโซอีทรงปฏิเสธเมื่อทราบว่าคู่อภิเษกคือเจ้าชายไฮน์ริช วัยเพียง 10 พรรษา ซึ่งเป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิค็อนราทที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[6] จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงตั้งพระทัยว่าราชวงศ์ของพระองค์ยังคงอยู่ต่อไป โดยหนึ่งในพระราชธิดาของพระองค์ต้องเสกสมรสกับขุนนางที่เหมาะสม บุคคลแรกคือขุนนางผู้โดดเด่นชื่อ คอนสแตนติน ดาลาสเซนอส อดีตดุ๊กแห่งแอนติออก[9] ที่ปรึกษาของจักรพรรดิพยายามที่จะเลือกบุคคลที่อ่อนแอเพื่อที่พวกเขาจะสามารถควบคุมได้ พวกเขาจึงชักชวนให้จักรพรรดิทรงปฏิเสธดาลาสเซนอสหลังจากที่เขาเดินทางมาถึงเมืองหลวง[5] โรมานอส อาร์กีรอส เจ้าเมืองคอนสแตนติโนเปิล เป็นตัวเลือกถัดไป[5] เจ้าหญิงธีโอโดราท้าทายพระราชชนกโดยปฏิเสธที่จะเสกสมรสกับโรมานอส อาร์กีรอส ทรงเถียงว่าอาร์กีรอสสมรสแล้ว โดยภรรยาของอาร์กีรอสถูกบังคับให้ผนวชเป็นชีเพื่อเปิดทางให้อาร์กีรอสแต่งงานเข้าราชวงศ์[10]: 465 และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางสายเลือดมากเกินไปจากการเป็นพระญาติกัน[11] ดังนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ทรงเลือกเจ้าหญิงโซอีเป็นชายาในโรมานอส[11][12] เจ้าหญิงโซอีและโรมานอสเข้าพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028 ในวิหารหลวงภายในพระราชวัง สองวันหลังจากนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินก็เสด็จสวรรคต และคู่สมรสใหม่ได้นั่งราชบัลลังก์ไบแซนไทน์[13] จากโรมานอสที่ 3 ถึงมิคาเอลที่ 5 ค.ศ. 1028 - 1042หลังจากทรงใช้เวลาหลายปีประทับร่วมกับพระขนิษฐา จักรพรรดินีโซอีทรงเกลียดชังเจ้าหญิงธีโอโดรา[6] จักรพรรดินีโซอีทรงชังจูงให้จักรพรรดิโรมานอสแต่งตั้งหนึ่งในองครักษ์ของจักรพรรดิเป็นผู้ปกครองของเจ้าหญิงธีโอโดรา โดยมีคำสั่งให้ลอบสอดแนมเจ้าหญิง[14] ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหญิงธีโอโดราทรงถูกกล่าวหาว่าวางแผนช่วงชิงราชบัลลังก์โดยครั้งแรกร่วมมือกับเจ้าชายพรีเซียนในปีค.ศ. 1030 ตามมาด้วยร่วมมือกับคอนสแตนติน ไดโอจีนิส ผู้ว่าราชการจังหวัดซีร์เมียมในปีค.ศ. 1031[15] จักรพรรดินีโซอีทรงกล่าวหาพระขนิษฐาว่าทรงมีส่วนในการวางแผนสมคบคิด และเจ้าหญิงธีโอโดราถูกส่งไปคุมขังที่อารามเปตริออน จักรพรรดินีโซอีเสด็จเยี่ยมพระขนิษฐาหลังจากนั้นและทรงบังคับให้พระขนิษฐาสาบานตนเข้าสู่พระศาสนา[16] จักรพรรดินีโซอีทรงหมกมุ่นอยู่แต่การดำรงไว้ซึ่งราชวงศ์มาซิโดเนีย[5] พระนางทรงอภิเษกสมรสกับโรมานอสขณะมีพระชนมายุถึง 50 พรรษาแล้วแต่พระนางก็ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ทรงพระครรภ์ พระนางทรงพึ่งเวทมนตร์คาถา เครื่องราง และน้ำยาขนานต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล[17] ความล้มเหลวในการตั้งครรภ์ทำให้ทั้งสองพระองค์ห่างเหินกัน และจักรพรรดิโรมานอสทรงปฏิเสธที่จะประทับบรรทมร่วมกับพระมเหสี[18] จักรพรรดิโรมานอสทรงจำกัดการใช้จ่ายของพระมเหสีและให้ความสนพระทัยในพระนางเพียงน้อยนิด[19] จักรพรรดินีโซอีทรงพิโรธและไม่พอพระทัย จึงทรงมีเรื่องอื้อฉาวกับบุรษคนอื่นๆ ส่วนจักรพรรดิโรมานอสทรงยอมอดทนและมีพระสนมลับเอง[20] ในปีค.ศ. 1033 จักรพรรดินีโซอีทรงหลงรักข้าราชบริพารหนุ่มรูปงามที่ชื่อว่า มิคาเอล พระนางทรงตรัสโอ้อวดคนรักของพระนางอย่างเปิดเผยและทรงตรัสว่าจะทำให้เขากลายเป็นจักรพรรดิ เมื่อได้ยินข่าวลือ จักรพรรดิโรมานอสทรงหวาดหวั่นและทรงไปเผชิญหน้ากับมิคาเอล แต่มิคาเอลก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้[19] ในต้นปีค.ศ. 1034 จักรพรรดิโรมานอสทรงพระประชวร และเป็นที่เชื่อได้ว่าจักรพรรดินีโซอีกับมิคาเอลวางแผนลอบวางยาพิษพระองค์[21] ในวันที่ 11 เมษายน จักรพรรดิโรมานอสสวรรคตขณะสรงน้ำในอ่างสรงน้ำ[20] ตามคำรายงานของ มิคาเอล เซลโลส ข้าราชสำนักและต่อมาคือนักพงศาวดาร ระบุว่า ผู้ติดตามคนหนึ่ง "จับพระเศียรของพระองค์ขึ้นจากน้ำ และพยายามทำเหมือนจะบีบพระศอของพระองค์"[21] จอห์น สไกลิตเซส เขียนถึงง่ายๆ ว่า จักรพรรดิโรมานอสถูกจับกดน้ำตามคำสั่งของมิคาเอล[21] มัทธิวแห่งอีเดสซาบันทึกว่าจักรพรรดินีโซอีวางยาพิษปลงพระชนม์จักรพรรดิโรมานอส[21] จักรพรรดินีโซอีทรงอภิเษกสมรสกับมิคาเอล ในวันเดียวกับที่จักรพรรดิโรมานอสที่ 3 สวรรคต[5] วันต่อมาทั้งสองพระองค์ได้เรียกอัครบิดร อเล็กซิออสแห่งคอนสแตนติโนเปิล มาทำพิธีราชาภิเษกให้แก่จักรพรรดิพระองค์ใหม่[22] แม้ว่าในตอนแรกเขาจะปฏิเสธที่จะทำพิธีครองราชย์ให้ แต่จักรพรรดินีทรงจ่ายทองคำให้เขา 50 ปอนด์เขาจึงเปลี่ยนใจ[5] เขาจึงดำเนินการสวมมงกุฎให้มิคาเอลเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ เฉลิมพระนามว่า จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตในปีค.ศ. 1041[23][24] แม้ว่าจักรพรรดินีโซอีทรงเชื่อว่าจักรพรรดิมิคาเอลเป็นพระสวามีที่เอาใจใส่พระนางมากกว่าจักรพรรดิโรมานอส แต่พระนางก็ทรงคิดผิด จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 ทรงกังวลว่า จักรพรรดินีโซอีอาจจะทำให้พระองค์พบจุดจบเหมือนจักรพรรดิโรมานอสได้[25] ดังนั้นพระองค์จึงกีดกันจักรพรรดินีโซอีออกจากการเมือง พระองค์จึงมอบพระราชอำนาจทั้งหมดไปให้พระเชษฐา คือ จอห์น เดอะ ออร์ฟาโนโทรพรอส ซึ่งเป็นขันที[26] จักรพรรดินีโซอีทรงถูกกักบริเวณแต่เพียงไกนาซีอุมของพระราชวัง และทรงถูกเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด[25] จักรพรรดินีผู้ไม่ทรงพอพระทัยพยายามสบคบคิดต่อต้านจอห์นแต่ไม่เป็นผล[5] ในปีค.ศ. 1041 จักรพรรดิมิคาเอลกำลังใกล้สวรรคต[27] ขันทีจอห์นมีความกระตือรือร้นที่จะคุมอำนาจไว้ในมือของเขา เขาจึงบีบบังคับให้จักรพรรดินีโซอี รับมิคาเอล บุตรชายในน้องสาวของเขาและจักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 เป็นพระราชโอรสบุญธรรม[20] ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1041 จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 สวรรคต โดยปฏิเสธคำขอสุดท้ายของพระมเหสี ที่ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระองค์อีกครั้ง[28] และพระนัดดาของพระองค์ได้ครองราชย์เป็น จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 คาลาฟาเตส[29][30] แม้ว่าจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 จะทรงให้คำมั่นว่าจะให้การเคารพจักรพรรดินีโซอี แต่พระองค์ก็สั่งเนรเทศพระนางไปยังอารามอย่างทันทีทันใดที่เกาะปรินกีปัสบนทะเลมาร์มารา ด้วยข้อกล่าวหาว่าทรงวางแผนปลงพระชนม์จักรพรรดิ พระนางทรงถูกบังคับให้ออกบวชและปวารณาตนสู่ภาคีศาสนา[31] การปฏิบัติต่อรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายของราชวงศ์มาซิโดเนียนเช่นนี้ทำให้เกิดการลุกฮือจลาจลในคอนสแตนติโนเปิล จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 ทรงหมดหวังที่จะรักษาราชบัลลังก์ต่อไปได้ จึงต้องให้จักรพรรดินีโซอีเสด็จกลับมาจากปรินกีปัส เพื่อให้พระนางปรากฏตัวให้พสกนิกรเห็น[32] แต่ความพยายามของเขาที่จะปกครองเป็นประมุขร่วมกับพระนางต่อไปนั้นไร้ผล ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1042 กลุ่มประชาชนที่ก่อจลาจลเข้าโค่นจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 ออกจากราชบัลลังก์ พวกเขาไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่จักรพรรดินีโซอีเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเจ้าหญิงธีโอโดรา พระขนิษฐาของพระนางด้วย[33] คณะผู้แทนนำโดยขุนนางคือ คอนสแตนตินอส คาบาซิลัส[34] เดินทางไปยังอารามเปตริออน เพื่อกราบทูลเชิญให้เจ้าหญิงธีโอโดราเสด็จกลับมาเป็นจักรพรรดินีร่วมกลับพระเชษฐภคินี ด้วยเจ้าหญิงธีโอโดราทรงเคยชินกับวิถีการทางศาสนา พระนางจึงปฏิเสธพวกเขาและทรงหลบไปประทับในส่วนโบสถ์คอนแวนต์ ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์บังคับอุ้มพระนางกลับเมืองหลวง[33] ในการประชุมที่ฮาเกียโซเฟีย ประชาชนได้นำพาเจ้าหญิงธีโอโดราผู้ทรงโกรธเกรี้ยวมารับฟังการประกาศเป็นจักรพรรดินีร่วมกับจักรพรรดินีโซอี[35] หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินีทั้งสอง ประชาชนได้บุกเข้าพระราชวัง และทำให้จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 ต้องหลบหนีไปอยู่ในอาราม[36] ปกครองร่วมกับธีโอโดราและคอนสแตนตินอสที่ 9 ค.ศ. 1042 - 1050จักรพรรดินีโซอีทรงพยายามใช้พระราชอำนาจของพระนางในทันทีและบีบบังคับให้จักรพรรดินีธีโอโดรากลับไปประทับยังอารามดังเดิม แต่วุฒิสภาและสาธารณชนเรียกร้องให้สองภคินีเป็นประมุขร่วมกัน[37] ในช่วงแรกจักรพรรดินีธีโอโดรสถูกเรียกร้องให้ดำเนินการจัดการกับอดีตจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 จักรพรรดินีโซอี พระเชษฐภคินีประสงค์ให้มีการพระราชทานอภัยโทษและปล่อยอดีตจักรพรรดิ แต่จักรพรรดินีธีโอโดราทรงมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและยืนกราน ในตอนแรกพระนางรับประกันความปลอดภัยให้มิคาเอลที่ 5 แต่จากนั้นพระนางมีพระเสาวณีย์ทำให้อดีตจักรพรรดิพระเนตรบอดและส่งไปดำรงพระชนม์ชีพที่เหลือในฐานะพระ[38] พระนางโซอีเป็นจักรพรรดินีอาวุโสอย่างเป็นทางการและราชบัลลังก์ของพระนางอยู่เบื้องหน้าบัลลังก์ของจักรพรรดินีธีโอโดราเพียงเล็กน้อยในวาระที่สาธารณชนเข้าเฝ้า แต่ในทางปฏิบัติ จักรพรรดินีธีโอโดรสทรงเป็นแรงผลักดันให้สองประมุขบริหารราชการร่วมกัน ภคินีทั้งสองดำเนินการบริหารกิจการของจักรวรรดิโดยมุ่งเน้นการเพิ่มขอบเขตการบริหารกิจการสาธารณะและการบริหารงานด้านยุติธรรม[39] แม้ว่าตามข้อความของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง มิคาเอล พเซลลัส ที่มองว่าการครองราชย์ร่วมกันคือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่นักประวัติศาสตร์ จอห์น ไซลิตเซส มองว่าสองภคินีมีความตระหนักเพื่อแก้ไขความผิดพลาดในรัชกาลก่อนๆ[40] จักรพรรดินีธีโอโดราและจักรพรรดินีโซอีปรากฏพระองค์ร่วมกันในการประชุมของวุฒิสภาและสาธารณชน แต่ไม่ช้าก็พบว่าการครองราชย์ร่วมกันนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด[41] จักรพรรดินีโซอียังคงริษยาจักรพรรดินีธีโอโดรา และพระนางไม่มีพระประสงค์ที่จะบริหารจักรวรรดิ แต่พระนางก็ไม่ยอมที่จะให้จักรพรรดินีธีโอโดราบริหารจักรวรรดิเพียงพระองค์เดียวได้ ราชสำนักแบ่งเป็นฝักฝ่ายที่สนับสนุนจักรพรรดินีแต่ละพระองค์[41] หลังจากนั้นสองเดือนความขัดแย้งก็ทวีมากขึ้น เมื่อจักรพรรดินีโซอีมีพระประสงค์ที่จะอภิเษกสมรสใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้จักรพรรดินีธีโอโดราแสวงหาอิทธิพลมากขึ้น[42] ตามกฎของศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ การอภิเษกสมรสครั้งที่สามของพระนางได้รับการอนุญาต[5] ผู้ที่พระนางโปรดปรานคือ คอนสแตนตินอส ดาลาสเซนอส ซึ่งเคยเป็นว่าที่คู่หมายคนแรกของพระนางที่พระราชบิดาแนะนำให้ในปีค.ศ. 1028 เขาถูกนำตัวมาเข้าเฝ้าเบื้องพระพักตร์จักรพรรดินี แต่ระหว่างสนทนากัน ดาลาสเซนอสเปิดเผยและมีกิริยามารยาทที่รุนแรงเกินไป สร้างความไม่พอพระทัยแก่จักรพรรดินีโซอี เขาจึงถูกไล่ออกไป[41] ตัวเลือกถัดไปของพระนางคือ คอนสแตนตินอส อาโทรคลิเนส ชายผู้สมรสแล้ว และเป็นข้าราชการในราชสำนัก และมีข่าวลือว่าเขาเคยมีความสัมพันธ์กับพระนางในสมัยรัชกาลจักรพรรดิโรมานอสที่ 3 มาแล้ว[20] แต่สุดท้ายเขาตายอย่างเป็นปริศนาไม่กี่วันก่อนพิธีอภิเษกสมรส คาดว่าถูกวางยาพิษโดยอดีตภรรยาที่ถูกเขาหย่าร้าง[41] จักรพรรดินีโซอีทรงจดจำคอนสแตนตินอส โมโนมาโชส อดีตคนรักของพระนาง[20] ผู้หล่อเหลาและสุภาพ[41] ทั้งคู่อภิเษกสมรสในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1042 โดยไม่ผ่านการทำพิธีจากอัครบิดรอเล็กซิออส ผู้ที่ปฏิเสธจะประกอบพิธีอภิเษกสมรสครั้งที่สามให้พระนางและคอนสแตนตินอสด้วย[43] ในวันถัดมาเขาได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิคอนสแตนตินอสที่ 9 ได้รับการประกาศเป็นจักรพรรดิร่วมกับจักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดรา[43] แต่จักรพรรดินีโซอีทรงต้องต่อรองกับจักรพรรดิคอนสแตนตินอสเมื่อเขานำนางสนม มาเรีย สเคราอีนา มาร่วมราชสำนักด้วย[44] แม้พระนางไม่พอพระทัยที่จะให้มาเรียมาร่วมราชสำนักด้วย แต่จักรพรรดิคอนสแตนตินอสทรงยืนยันว่าพระองค์ต้องได้รับอนุญาตให้แบ่งปันชีวิตทางสาธารณะร่วมกับมาเรียด้วย และเธอจะต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ[45] จักรพรรดินีโซอีวัย 64 พรรษา ไม่ทรงคัดค้านที่จะแบ่งปันแท่นบรรทมและราชบัลลังก์กับสเคราอีนา สเคราอีนาได้รับตำแหน่ง "เซบาสเต" มีลำดับโปเจียมอยู่เบื้องหลังจักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดรา และมักถูกเรียกว่า พระสนมหรือบางครั้งถูกเรียกว่าจักรพรรดินี เหมือนทั้งสองภคินี ในวโรกาสทางการต่างๆ สเคราอินาจะมีตำแหน่งตามหลังสองภคินี[5] ในมุมมองของสาธารณชน การที่จักรพรรดิคอนสแตนตินอสที่ 9 ให้ความสำคัญกับสเคราอินานั้นเป็นเรื่องอื้อฉาว และเกิดการแพร่กระจายข่าวลือไปทั่วว่า สเคราอินาวางแผนลอบปลงพระชนม์จักรพรรดินีโซอี หรือจักรพรรดินีธีโอโดรา[46] สิ่งนี้นำไปสู่การลุกฮือของพลเมืองคอนสแตนติโนเปิลในปีค.ศ. 1044 ซึ่งฝูงชนเกือบจะเข้ามาทำร้ายจักรพรรดิคอนสแตนตินอส ซึ่งกำลังทรงประกอบพิธีขบวนทางศาสนาในท้องถนนของคอนสแตนติโนเปิล[47] ฝูงชนสงบลงเมื่อจักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดราปรากฏตัวบนระเบียงของพระราชวัง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าพระนางทั้งสองไม่ได้ถูกลอบสังหารแต่อย่างใด[47] มีการบันทึกว่า จักรพรรดินีโซอีทรงสิริโฉมงดงาม และมิคาเอล พเซลลัสบันทึกในงานเขียน โครโนกราเฟีย ระบุว่า "พระวรกายของพระองค์ทุกส่วนยังคงแข็งแกร่งและสุขภาพพลานามัยดี"[48] จักรพรรดินีโซอีทรงใช้ความสิริโฉมของพระนางเป็นเครื่องมือในศิลปการปกครองประเทศ ทรงพยายามที่จะเติมเต็มความงามและคงความอ่อนเยาว์ด้วยการที่ทรงใช้ครีมบำรุงผิวหลากหลายชนิดที่จัดเตรียมไว้ในไกนาซีอุม กล่าวกันว่าทรงทดลองแต่ละครีมเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของมัน พระนางทรงมีห้องเครื่องสำอางในพระราชวังเพื่อจัดเตรียมน้ำหอมและน้ำมันหอมตลอดเวลา พเซลลัสบรรยายว่าพระพักตร์ของพระนางทรงดูอ่อนเยาว์มากในวัยหกสิบกว่าพรรษา[5][49] จักรพรรดินีโซอีเสด็จสวรรคตในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050 สิริพระชนมายุ 72 พรรษา[50] เชิงอรรถ
แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ
|