Share to:

 

ราชวงศ์

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และพระราชโอรส พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในอนาคต

ราชวงศ์ (อังกฤษ: dynasty) คือ วงศ์ตระกูลของกษัตริย์[1]หรือผู้ปกครองจากตระกูลเดียวกัน[2] มักปรากฏอยู่ในบริบทของระบบเจ้าขุนมูลนายและระบอบราชาธิปไตย แต่ในบางโอกาสก็ปรากฏอยู่ในระบอบสาธารณรัฐที่มีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ถือเป็นวงศ์ตระกูลชนชั้นสูง[3]ที่สืบวงศ์พระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ขุนนาง หรืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำหรือสมาชิกของตระกูลเกิดมาด้วยฐานันดรเช่นใด เจ้านายในราชวงศ์เรียกว่า "พระราชวงศ์"[4] นักประวัติศาสตร์หลายคนยังพิจารณาประวัติศาสตร์ของรัฐอธิปไตยแห่ง เช่น อียิปต์โบราณ จักรวรรดิการอแล็งเฌียง หรือจักรวรรดิจีน ภายใต้กรอบแนวคิดของลำดับราชวงศ์ผู้ปกครอง ดังนั้นบริบทของ "ราชวงศ์" จึงสามารถใช้อ้างถึงยุคสมัยที่แต่ละตระกูลปกครอง ทั้งยังเป็นบริบทที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ แนวโน้ม และศิลปวัตถุของแต่ละยุคสมัยนั้น ๆ ได้ เช่น แจกันราชวงศ์หมิง ซึ่งบริบทของราชวงศ์มักจะถูกลดทอนลงจากการอ้างอิงคุณศัพท์ดังกล่าว

จนกระทั่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่บริบทนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงการแผ่ขยายพระราชตระกูลโดยชอบด้วยกฎหมายของพระมหากษัตริย์ ผ่านการขยายดินแดน พระราชทรัพย์ และพระราชอำนาจของสมาชิกราชวงศ์ของพระองค์[5] ทั้งนี้ราชวงศ์ที่ยังคงสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างยาวนานที่สุดในโลกปัจจุบันคือ ราชวงศ์ญี่ปุ่น ที่ทรงปกครองตามพระราชประเพณีมาตั้งแต่ 660 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ตามประเพณีแล้ว ราชวงศ์ทั่วโลกมักถูกนับตามพระประยูรวงศ์ของบุรุษเพศเป็นหลัก (Patrilineality) เช่น ภายใต้กฎหมายแซลิกของชาวแฟรงก์ ดังนั้นลำดับการสืบสันตติวงศ์ผ่านสตรีเพศมักถูกนับเป็นราชวงศ์ใหม่ภายใต้ราชวงศ์ของพระสวามี แต่ปรากฏบางกรณีเช่นในทวีปแอฟริกา (ราชวงศ์ผู้ปกครองของบาโลเบดู) ที่นับสายราชวงศ์ตามพระประยูรวงศ์ของสตรีเพศเป็นหลัก (Matrilineality) ซึ่งผู้ปกครองในลำดับถัดมาจะใช้พระราชสันตติวงศ์ของพระมารดาเป็นหลัก เช่น ราชวงศ์ออเรนจ์ของเนเธอร์แลนด์ ราชวงศ์บรากาติโอนีของจอร์เจีย และราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ลอแรน

ในบางครั้งคำว่า "ราชวงศ์" ยังใช้อย่างไม่เป็นทางการกับบุคคลที่ไม่ได้มีเชื้อเจ้านายราชวงศ์แต่อย่างใด เช่น สมาชิกของตระกูลผู้ทรงอำนาจและอิทธิพลในขอบเขตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเมืองการปกครองอย่างลำดับตระกูลของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น แม้กระทั่งใช้กับกลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์แต่อย่างใด เช่น ลำดับกวีชั้นครูจากแหล่งเดียวกัน หรือลำดับคณะนักกีฬาของกีฬาบางประเภท เป็นต้น[2] จนมีการนำไปตั้งชื่อละครโทรทัศน์เกี่ยวกับตระกูลหรือครอบครัวของกลุ่มบุคคลดังกล่าว

ราชวงศ์ของแต่ละชาติ

อ้างอิง

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 996
  2. 2.0 2.1 Oxford English Dictionary, 1st ed. "dynasty, n." Oxford University Press (Oxford), 1897.
  3. Oxford English Dictionary, 3rd ed. "house, n.¹ and int, 10. b." Oxford University Press (Oxford), 2011.
  4. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 811
  5. Thomson, David (1961). "The Institutions of Monarchy". Europe Since Napoleon. New York: Knopf. pp. 79–80.
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya