Share to:

 

จันทรุปราคา

จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

จันทรุปราคา (ชื่ออื่น เช่น จันทรคาธ, จันทรคราส, ราหูอมจันทร์ หรือ กบกินเดือน; อังกฤษ: lunar eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ผ่านหลังโลกเข้าสู่เงามืด (umbra) โดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์เรียงตรงกันพอดีหรือใกล้เคียงมาก โดยมีโลกอยู่กลาง ชนิดและระยะของอุปราคาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์เทียบกับโหนดของวงโคจร (orbital node)

จากภาพที่ปรากฏเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ฝังเงามัวเริ่มกลายเป็นสีขาวเมื่อดวงจันทร์บางส่วนค่อยๆเข้าไปในเงามืดและทำให้เห็นสีแดงตรงขอบมืดๆ

จันทรุปราคาสามารถดูได้จากทุกที่ในฝั่งกลางคืนของโลก ซึ่งต่างกับสุริยุปราคาซึ่งมองเห็นได้จากพื้นที่ค่อนข้างเล็กของโลก จันทรุปราคากินเวลาเป็นชั่วโมง ขณะที่สุริยุปราคาเต็มดวงกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีในที่หนึ่ง ๆ เนื่องจากเงาของดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ จันทรุปราคายังสามารถดูได้โดยไม่ต้องมีสิ่งป้องกันดวงตาหรือการป้องกันเป็นพิเศษ เพราะมืดกว่าจันทร์เพ็ญ

ประเภทของจันทรุปราคา

เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ เงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ดังนี้[1]

จันทรุปราคาเงามัว

จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด สามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก

จันทรุปราคาบางส่วน

จันทรุปราคาบางส่วน (Partial lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

จันทรุปราคาเต็มดวง

จันทรุปราคาเต็มดวง (Total lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

จันทรุปราคาแบบกึ่งกลาง

จันทรุปราคาแบบกึ่งกลาง (Central lunar eclipse) เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในระหว่างที่ดวงจันทร์ผ่านใจกลางเงาของโลกไปสัมผัสกับจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์(antisolar point) ซึ่งเป็นจุดที่จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ 180° จันทรุปราคาประเภทนี้ค่อนข้างหายาก มีอุปราคาที่ใหญ่ และระยะเวลาคราสจะยาวนานกว่าจันทรุปราคาเต็มดวงที่ไม่ได้ผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

ซีลินิเลียน

ซีลินิเลียน (Selenelion) เป็นจันทรุปราคาที่สามารถสังเกตเห็นทั้งดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ที่เกิดจันทรุปราคาพร้อมกันได้ เกิดจากการหักเหโดยชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้ปรากฏดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เกิดจันทรุปราคาอยู่สูงเกินตำแหน่งจริง จันทรุปราคาประเภทนี้ สามารถสังเกตการณ์ได้บนพื้นที่ที่สูงกว่าขอบฟ้า

ช่วงเวลา

ภาพอธิบายช่วงเวลาของจันทรุปราคา
  • P1 : เริ่มต้นการเข้าสู่คราสเงามัว เงามัวของโลกสัมผัสกับขอบของดวงจันทร์
  • U1 : เริ่มต้นของคราสบางส่วน เงาของโลกสัมผัสกับขอบของดวงจันทร์
  • U2 : เริ่มต้นของคราสเต็มดวง พื้นผิวของดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งหมด
  • กึ่งกลางคราส : ระยะสูงสุดของคราส ดวงจันทร์อยู่ใกล้ศูนย์กลางของโลกมากที่สุด
  • U3 : สิ้นสุดของคราสเต็มดวง ขอของดวงจันทร์ออกจากพื้นผิวโลก
  • U4 : สิ้นสุดคราสบางส่วน เงาของโลกออกจากพื้นผิวดวงจันทร์
  • P4 : สิ้นสุดคราสเงามัว เงามัวของโลกไม่สัมผัสกับดวงจันทร์อีกต่อไป

ลักษณะของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

อองเดร ดังชง คิดค้นมาตราต่อไปนี้ (เรียก มาตราดังชง) เพื่อจัดความมืดและบ่งบอกถึงลักษณะโดยรวมของจันทรุปราคา[2]

L=0: อุปราคามืดมาก แทบมองไม่เห็นดวงจันทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลางคราสเต็มดวง (mid-totality)
L=1: อุปราคามืด มีสีเทาหรือออกน้ำตาล แยกแยะรายละเอียดได้ยาก
L=2: อุปราคาสีแดงเข้มหรือสนิม เงากลางมืดมาก ขณะที่ขอบนอกของอัมบราค่อนข้างสว่าง
L=3: อุปราคาสีแดงอิฐ เงาอัมบราปกติมีขอบสว่างหรือสีเหลือง
L=4: อุปราคาสีแดง-ทองแดงหรือส้มสว่างมาก เงาอัมบราสีออกน้ำเงินและขอบสว่างมาก

และตัวอักษรตัว l หมายถึง luna

หรือดวงจันทร์

ประวัติการเกิดจันทรุปราคา

จากข้อมูลที่ทราบจะมีข้อมูลดังนี้

1.จันทรุปราคา เมษายน พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557 เป็นจันทรุปราคาแรกของจันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2557 และยังเป็นจันทรุปราคาครั้งแรกสำหรับอุปราคาที่อยู่ในเทแทรด (ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 4 ดวงติดต่อกัน) ซึ่งไม่ได้พบในประเทศไทย

2.จันทรุปราคา กันยายน พ.ศ. 2558 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ถึง 28 กันยายน พ.ศ. 2558 โดยสังเกตได้ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน ในทวีปอเมริกา ขณะที่ในทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา และตะวันออกกลาง

3.จันทรุปราคา กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เกิดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยดวงจันทร์เคลื่อนผ่านที่ศูนย์กลางของเงาของโลก ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของปรากฏการณ์จันทรุปราคาศูนย์กลาง นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปัจจัยในการเกิดจันทรุปราคา

จันทรุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เนื่องจากระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกทำมุมกัน 5 องศา ในการเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์จะต้องอยู่บริเวณจุดตัดของระนาบวงโคจรทั้งสอง และต้องอยู่ใกล้จุดตัดนั้นมาก จึงจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงหรือจันทรุปราคาบางส่วนได้

ระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์มีผลต่อความเข้มของจันทรุปราคาด้วย นอกจากนี้ หากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากโลกมากที่สุด (apogee) จะทำให้ระยะเวลาในการเกิดจันทรุปราคานานขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1 ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ช้าที่สุดตลอดการโคจรรอบโลก
2 ดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลกจะมีขนาดเล็ก จะเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกไปทีละน้อย ทำให้อยู่ในเงามืดนานขึ้น

ในทุก ๆ ปีจะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากเก็บสถิติการเกิดจันทรุปราคาแล้ว จะสามารถทำนายวันเวลาในการเกิดจันทรุปราคาครั้งต่อไปได้

การสังเกตจันทรุปราคาแตกต่างจากสุริยุปราคา จันทรุปราคาส่วนใหญ่จะสามารถสังเกตได้จากบริเวณใด ๆ บนโลกที่อยู่ในช่วงเวลากลางคืนขณะนั้น ขณะที่สุริยุปราคาจะสามารถสังเกตได้เพียงบริเวณเล็ก ๆ เท่านั้น

หากขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์ขณะที่เกิดจันทรุปราคาบนโลก ก็จะสามารถเห็นการเกิดสุริยุปราคาบนดวงจันทร์ได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการที่โลกกำลังบังดวงอาทิตย์อยู่ในเวลานั้น

การเกิด

ทุกปีมีจันทรุปราคาอย่างน้อยสองครั้งและมีได้มากถึงห้าครั้ง แม้จันทรุปราคาเต็มดวงจะมีน้อยมาก หากทราบวันที่และเวลาของอุปราคาหนึ่งแล้ว สามารถพยากรณ์การเกิดอุปราคาอีกครั้งหนึ่งโดยใช้วงรอบอุปราคาอย่างซารอส

อุปราคาเกิดเฉพาะในฤดูอุปราคา เมื่อดวงอาทิตย์เข้าใกล้ปมขึ้นหรือลงของดวงจันทร์

การจำลองลักษณะปรากฏของดวงจันทร์ก่อน ระหว่างและหลังจันทรุปราคาเต็มดวง (ตัวอย่างเมื่อ 8 ตุลาคม 2557)

อ้างอิง

  1. Nuttapong. "หลังเที่ยงคืนวันที่ 5 มิถุนายน เตรียมตัวมาส่องปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวครั้งที่ 2 ของปี". สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2023.
  2. Paul Deans and Alan M. MacRobert. "Observing and Photographing Lunar Eclipses". Sky and Telescope. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤษภาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น


Kembali kehalaman sebelumnya