Share to:

 

จากัวรันดี

จากัวรันดี[1]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
สกุล: Herpailurus
Severtzov, 1858
สปีชีส์: H.  yagouaroundi
ชื่อทวินาม
Herpailurus yagouaroundi
(Geoffroy Saint-Hilaire, 1803)[3]
การกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
ชื่อพ้อง
  • Felis yagouaroundi
    Geoffroy, 1803
  • Felis unicolor
    Thraill, 1819
  • Felis eyra
    Fischer, 1814
  • Felis cacomitli
    Berlandier, 1859
  • Felis apache
    Mearns, 1901
  • Felis fossata
    Mearns, 1901
  • Felis panamensis
    Allen, 1904

จากัวรันดี (อังกฤษ: Jaguarundi) เป็นแมวป่าขนาดเล็ก มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ ลำตัวผอมเพรียว หัวเล็กแบน หางยาว ปลายหางเรียว ตัวเตี้ย ขาสั้นเล็ก ขนสั้นเกรียนและเรียบไม่มีลวดลาย สีมีสามแบบ คือดำ เทาอมน้ำตาล และน้ำตาลแดง หูสั้นกลมและอยู่ห่างกันมาก ตาเล็กอยู่ชิดกัน ม่านตาสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาล

ลักษณะทั่วไป

แมวจากัวรันดีเป็นแมวที่มีลักษณะแปลกตาที่สุดชนิดหนึ่ง ลำตัวผอมเพรียว ยาว 55-77 เซนติเมตร หนัก 2-9 กิโลกรัม ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 5.9 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ย 4.4 กิโลกรัม หัวเล็กแบน หางยาว 50 เซนติเมตร ปลายหางเรียว ตัวเตี้ย ขาสั้นเล็ก ดูเผิน ๆ คล้ายตัวนากหรือเพียงพอนมากกว่าแมว จึงมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษอีกชื่อว่า otter cat (แมวนาก) ขนสั้นเกรียนและเรียบไม่มีลวดลาย สีมีสามแบบ คือดำ เทาอมน้ำตาล และน้ำตาลแดง พวกที่มีสีเข้มมักพบในป่าทึบ หูสั้นกลมและอยู่ห่างกันมาก ตาเล็กอยู่ชิดกัน ม่านตาสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาล เปล่งเสียงได้มากถึง 13 แบบ

ชนิดย่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ เขตกระจายพันธุ์
H.y.armeghinoi อาร์เจนตินาตะวันตก
H.y.carcomitli เท็กซัสตอนใต้ เมกซิโก
H.y.eyra บราซิล ปารากวัย อาร์เจนตินา
H.y.fossata เม็กซิโก ฮอนดุรัส
H.y.melantho เปรู บราซิล
H.y.panamensis นิคารากัวร์จนถึงเอกวาดอร์
H.y.tolteca แอริโซนา เม็กซิโก
H.y.yagouaroundi กายานา อเมซอน

ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์

แมวจากัวรันดีมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนบนและตอนกลางลงมาถึงอาร์เจนตินา เขตบนสุดไปถึงรัฐเท็กซัสและนิวเม็กซิโก นอกจากนี้ในพบในรัฐฟลอริดาด้วย แต่ประชากรในส่วนนี้เกิดจากการนำเข้าไปปล่อยตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1940

ชอบอยู่ในพื้นที่ต่ำ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงที่สุดไม่เกิน 3,200 เมตร พื้นที่หากินกว้างขวาง อาศัยอยู่ได้ทั้งป่าเปิด ป่าไม้พุ่ม บึง ป่าไม้แบบซะวันนาจนถึงป่าดิบ ชอบอาศัยอยู่ชายป่าหรือหรือป่าชั้นสอง และใกล้แหล่งน้ำที่ไม่นิ่งขัง ในป่าฝนพบไม่มากนัก

อุปนิสัย

แมวชนิดนี้หากินตอนกลางวันตั้งแต่ช่วงรุ่งสางจนถึงพลบค่ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแมวที่มีการสำรวจศึกษามากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ จากการติดตามด้วยวิทยุในเบลีซ พบว่ามีการดำเนินกิจกรรมมากที่สุดในช่วงบ่ายสองโมงถึงบ่ายสี่โมง หลังตะวันลับขอบฟ้าไปแล้วไม่ค่อยทำอะไรมากนัก มักพบว่าเดินทางและหากินเป็นคู่

แมวจากัวรันดีมีอาณาเขตหากินกว้างขวางมาก ตัวผู้มีพื้นที่หากินตั้งแต่ 88-100 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียมีพื้นที่หากินราว 13-20 ตารางกิโลเมตร เทียบกับเสือจากัวร์ที่ตัวใหญ่กว่ามากและอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันยังมีพื้นที่หากินราว 28-40 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่หากินของตัวผู้ซ้อนทับกันไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ การใช้พื้นที่ในอาณาเขตของตัวเองต่างจากแมวทั่วไป ทั้งตัวผู้และตัวเมียใช้พื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ของอาณาเขตห่างกัน แทนที่จะเดินลาดตระเวณตามชายขอบของอาณาเขต

แม้จะเคยมีการพบว่าจากัวรันดีนอนพักบนต้นไม้และปีนป่ายได้คล่องแคล่ว แต่การหากินจะทำบนพื้นดินมากกว่า อาหารที่กินมีหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก กระต่าย อาร์มาดิลโล โอพอสซัม สัตว์เลื้อยคลาน กบ ปลา นก สามารถกระโดดขึ้นไปตะปบนกที่อยู่สูงถึง 2 เมตรได้ บางครั้งอาจกินใบไม้และผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินด้วยซึ่งอาจเป็นการกินเพื่อต้องการน้ำจากภายในเท่านั้น

แมวชนิดนี้เลี้ยงให้เชื่องได้ค่อนข้างง่าย กล่าวกันว่าในยุคก่อนที่สเปนจะรุกรานเข้ามาในอเมริกากลาง ชาวพื้นเมืองเคยเลี้ยงแมวจากัวรันดีเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อควบคุมหนูที่คอยมารบกวนหมู่บ้านและทำลายพืชผล

ชีววิทยา

ตัวเมียในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสัดปีละหลายครั้ง พวกที่อยู่ทางเหนือมักผสมพันธุ์ในปลายฤดูใบไม้ร่วง แมวในแหล่งเพาะเลี้ยงมีระยะเวลาเป็นสัด 3.17 วัน และมีคาบการเป็นสัด 53.63 วัน ทำรังในพุ่มไม้ที่หนาแน่น หรือใต้ไม้ล้มที่รกทึบ ตั้งท้องนาน 70 วัน ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว ส่วนใหญ่ 2 ตัว ลูกแมวแรกเกิดมีลายจุด พออายุได้ 3-4 เดือนจุดก็จางหายไป พออายุได้ 6 สัปดาห์ก็เริ่มกินอาหารแข็งได้ ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 24-36 เดือน ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุขัยได้ถึง 15 ปี

ภัยคุกคาม

การที่ขนแมวจากัวรันดีมีสีดำไม่สวยอย่างแมวชนิดอื่น จึงไม่มีใครอยากล่าไปทำเสื้อผ้าหรือกระเป๋า แต่จากัวรันดีก็ยังต้องถูกล่าอยู่เสมอเนื่องจากนิสัยที่ชอบไปจับสัตว์เลี้ยงของชาวไร่กิน และภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดสำหรับจากัวรันดีก็คือการเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

สถานภาพ

แมวจากัวรันดีพบได้ค่อนข้างบ่อยตลอดเขตกระจายพันธุ์ แต่ในเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และอเมริกากลางจะพบได้ค่อนข้างยาก ส่วนในอุรุกวัยนั้นคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แม้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง แต่ไอยูซีเอ็นยังประเมินสถานภาพว่าอยู่ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (2551) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ส่วนพันธุ์ที่อยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาเหนืออยู่ในบัญชีหมายเลข 1

ประเทศที่ห้ามล่า

อาร์เจนตินา เบลีซ โบลิเวีย โคลอมเบีย คอสตาริกา เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา ฮอนดุรัส เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลา

ประเทศที่ควบคุมการล่า

เปรู

ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครอง

บราซิล นิคารากัว เอกวาดอร์ เอลซาลวาดอร์ กายานา

อ้างอิง

  • Sunquist, Mel and Sunquist, Fiona, Wild Cats of the World, China: The University of Chicago Press, 2002
  • http://www.canuck.com/iseccan/jagundi.html
  • Garman, A., Jaguarundi. Retrieved from http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/jundi.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/yaguar01.htm
  1. Wozencraft, W. Christopher (16 November 2005). "Order Carnivora (pp. 532-628)" เก็บถาวร 2012-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. In Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). p. 545. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494
  2. Caso, A., Lopez-Gonzalez, C., Payan, E., Eizirik, E., de Oliveira, T., Leite-Pitman, R., Kelly, M., Valderrama, C. (2008). "Puma yagouaroundi". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2. International Union for Conservation of Nature.
  3. "Puma yagouaroundi". Integrated Taxonomic Information System. Retrieved May 17, 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Puma yagouaroundi ที่วิกิสปีชีส์

Kembali kehalaman sebelumnya