จิงโจ้ต้นไม้
จิงโจ้ต้นไม้ (อังกฤษ: Tree-kangaroo) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องจำพวกแมคโครพอด ในวงศ์แมคโครโพดิดี (Macropodidae) เช่นเดียวกับจิงโจ้[1] จิงโจ้ต้นไม้วิวัฒนาการมาจากไซโนเดลฟิส สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรูปร่างคล้ายหนู พบซากฟอสซิลที่จีน อายุราว 125 ล้านปีก่อน เช่นเดียวกับจิงโจ้หรือสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องอื่น ๆ แต่แทนที่จะมาใช้ชีวิตอยู่บนพื้นดิน แต่จิงโจ้ต้นไม้กลับขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้ เหมือนกับไซโนเดลฟิส และวิวัฒนาการร่างกายให้เข้ากับการใช้ชีวิตบนต้นไม้ เชื่อกันว่าจิงโจ้ที่หากินบนพื้นดินหรือวอลลาบี ก็วิวัฒนาการมาจากจิงโจ้ต้นไม้อีกที[2] จิงโจ้ต้นไม้ มีรูปร่างคล้ายกับลิงโลกใหม่หรือลีเมอร์มากกว่าจะเหมือนจิงโจ้หรือสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องทั่วไป มีหางยาวเอาไว้ถ่วงน้ำหนักขณะทรงตัวบนต้นไม้ มีอุ้งตีนที่อ่อนนุ่มและเล็บตีนหน้าแหลมยาวแข็งแรงใช้ในการเกาะเกี่ยวต้นไม้ จิงโจ้ต้นไม้สามารถกระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่ว ได้ไกลถึง 30 ฟุต และสามารถกระโดดขึ้นต้นไม้ที่สูงกว่าถึง 60 ฟุตได้อย่างสบาย ๆ รวมถึงการกระโดดลงมาในแนวดิ่งด้วย แต่ในพื้นราบจะไม่คล่องแคล่วเท่า จิงโจ้ต้นไม้กินใบไม้, เปลือกไม้ และแมลงเล็ก ๆ เป็นอาหาร แพร่ขยายพันธุ์ด้วยการออกลูกครั้งละตัว ลูกอ่อนอาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่จนอายุ 10 เดือน จึงออกมาหากินข้างนอก[3] จิงโจ้ต้นไม้ พบกระจายพันธุ์ในป่าทึบของนิวกินี และออสเตรเลียทิศตะวันออกเฉียงเหนือแถบรัฐควีนส์แลนด์ และยังพบได้ในเกาะต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน เช่น เกาะซูลาเวซี มีขนาดประมาณ 14–77 เซนติเมตร (16–30 นิ้ว) ความยาวหาง 40–87 เซนติเมตร (16–34 นิ้ว) น้ำหนักมากกว่า 14.5 กิโลกรัม (32 ปอนด์) ขึ้นไป ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย จิงโจ้ต้นไม้ที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก มีชื่อว่า "แพ็ตตี" อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ไมอามี ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 มีอายุถึง 27 ปี 2 เดือน 12 วัน โดยให้ลูกมาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น[4] การจำแนกจิงโจ้ต้นไม้ถูกจัดอยู่ในสกุล Dendrolagus แบ่งออกได้เป็น 12 ชนิด[5] บางชนิดเป็นสัตว์ที่หายากและเพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้[6]
อ้างอิง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Dendrolagus แหล่งข้อมูลอื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Dendrolagus ที่วิกิสปีชีส์ |