ชมพูสิริน
ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan) เป็นพรรณไม้ในวงศ์เทียนดอกที่ค้นพบเป็นชนิดใหม่ของโลกในปี พ.ศ. 2552 เป็นพืชถิ่นเดียวพบในประเทศไทย[2] พบเฉพาะทางภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามหน้าผาหินปูน ระดับความสูง 20–150 เมตร ค้นพบโดย ปราโมทย์ ไตรบุญ ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย[3] ประวัติชมพูสิริน สำรวจพบโดย ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการจากกรมวิชาการเกษตร และปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเป็นพรรณไม้ในพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 55 พรรษา 2 เมษายน พ.ศ. 2553[4] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ชมพูสิริน”[5][6]ตามสีชมพูของดอกไม้[7] ได้ลงพิมพ์เป็นบทความในวารสารวิชาการ Garden's Bullitin Singapore[8] เป็นการยืนยันว่าเป็นพืชพันธุ์ใหม่ของโลก ข้อมูลที่ศึกษาและตัวอย่างอ้างอิงได้นำไปเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช เพื่อการศึกษาด้านอนุกรมวิธานต่อไป และการค้นพบยังมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืชวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) กับสวนพฤกษศาสตร์หลวงเอดินบะระในสกอตแลนด์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง มีนวล ที่มีความสูงได้ถึง 50 เซนติเมตร ลำต้นมักห้อยลงจากการเกาะที่เขาหินปูน[9][10] ลักษณะของใบ ใบเรียงเวียนหนาแน่นตามปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 3–4 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนใบรูปลิ่มกว้าง กลม หรือคล้ายรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบจักห่าง ๆ ปลายจักมีติ่ง มีต่อมใกล้โคนเหนือก้านใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบ 3–6 เส้นในแต่ละข้าง เส้นแขนงใบย่อยไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 2–7.5 เซนติเมตร รูปแบบการออกดอก การออกดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 3–6.5 เซนติเมตร ใบประดับขนาดเล็กติดใกล้โคนก้านดอก กลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อน กลีบข้างมี 4 กลีบ คู่นอกเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 6–7 มิลลิเมตร คู่ในแบบกลม ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบปากเป็นถุงลึก ที่โค้งเรียวยาว เว้าเป็นเดือย มีความยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ดอกมีสีชมพูอมม่วงอ่อน แผ่ออก กลีบปากเป็นรูปไข่กลับกว้าง มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนมีเขา 1 คู่ ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบข้างคู่นอกติดกัน แฉกลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วน คล้ายรูปหัวใจ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร กลีบคู่ในรูปไข่กลับ มีความยาวเท่า ๆ กับกลีบคู่นอก แคปซูลเต่งกลาง รูปขอบขนานและเกลี้ยง แหล่งที่พบชมพูสิรินหรือเทียนสิรินธร เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย สามารถพบได้ที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี โดยจะขึ้นตามหน้าผาเขาหินปูน ที่ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร[10] ดูเพิ่มบรรณานุกรม
อ้างอิง
|