Share to:

 

ซังกุง

ซังกุง
ฮันกึล
상궁
ฮันจา
อาร์อาร์sanggung
เอ็มอาร์sanggung

ซังกุง (เกาหลี상궁; ฮันจา尙宮; อาร์อาร์sanggung; เอ็มอาร์sangkung) เป็นตำแหน่งขั้น 5 ชั้นเอก ในแนมย็องบู (ฝ่ายใน) เป็นตำแหน่งสูงสุดเท่าที่นางรับใช้ในวังจะมีได้ หากจะขึ้นสูงกว่านี้ จะต้องถวายตัวเป็นพระสนม สัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของซังกุงคือ ชุดสีเขียว และผมปลอมขนาดใหญ่[1]

การปกครองของฝ่ายใน

การปกครองสตรีในราชสำนักของราชวงศ์โชซอนเกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1397 ในสมัยพระเจ้าแทโจ โดยแบ่งนางในเป็นฮย็อนอึยสองตำแหน่ง ซึกอึยสองตำแหน่ง จันดอกสามตำแหน่ง ซุนซองสามตำแหน่ง ซังกุงสามตำแหน่ง คารยองสี่ตำแหน่ง ซากุปสี่ตำแหน่ง และซาชิกสี่ตำแหน่ง ประกอบด้วยนางในหลายชั้น ตั้งแต่จอง 1 พุม จนถึงจอง 9 พุม

ในสมัยพระเจ้าเซจงมหาราช เริ่มมีการแต่งตั้งนางในเฉพาะหน้าที่ต่าง ๆ และในสมัยพระเจ้าซองจง ได้บัญญัติตำแหน่งต่าง ๆ ของนางในลงไปในเคียงกุงแดจอน (กฎหมายราชวงศ์โชซอน) มีซังกุงอยู่ที่ตำแหน่งจอง 5 พุม แต่นั้นเป็นต้นมา

นางกำนัลในราชสำนัก

นางกำนัลในราชสำนักนั้นถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง และยังเป็นกลไกหลักในการรับผิดชอบห้องเครื่อง (ซูรากัน หรือ โซจูบัง) และเครื่องเสวยสำหรับกษัตริย์ (ซูราซัง) และเชื้อพระวงศ์ เครื่องเสวยที่มีคุณประโยชน์ต่อพระวรกายคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกดังนั้นนางกำนัลทั้งหลายที่มีหน้าที่ในการปรุงอาหารจะต้องพิถีพิถัน และมีความชำนาญในการประกอบอาหารเป็นอย่างดี

รวมทั้งยังมีนางในห้องเย็บปัก (จาซูดัง) ที่ต้องผ่านการฝึกฝนในการเย็บเสื้อผ้าและปักลวดลายบนอาภรณ์ของพระราชวงศ์และผ้าม่านต่าง ๆ ในวัง

ตำแหน่งของนางกำนัล

นางกำนัลที่เข้าสู่วังหลวงในช่วงแรก อายุ 4 ถึง 6 ปี เรียกว่านางกำนัลฝึกหัดจะต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะ และกฎระเบียบต่าง ๆ ของราชสำนักอย่างเคร่งครัด เมื่ออายุครบ 15 ปี ก็จะได้เลื่อนขั้นเป็นนางกำนัลฝ่ายใน ส่วนการเลื่อนขั้นในแต่ละครั้งจะมีการทดสอบและแข่งขันกัน ฉะนั้นนางกำนัลทุกคนต้องสั่งสมบารมี และรวบรวมพวกพ้องให้มีเสียงข้างมากที่สุดเพื่อจะได้มีอำนาจเหนือบรรดานางกำนัลในลำดับชั้นเดียวกันเอง นางกำนัล ยังไม่มียศ จะต้องผ่านการทดสอบ ออชองเคียงยอน เพื่อจะเป็นนางใน จอง 9 พุม ถ้าไม่ผ่านก็จะถูกขับออกจากวัง

ลำดับชั้นของนางกำนัล

นางกำนัลของเกาหลีมีแบ่งหลายระดับ ระดับสูงสุดคือ "ซังกุงปกครอง" มีหน้าที่ดูแลตรวจตราทุกอย่าง ในวังหลวง ถัดมาก็คือ "รองซังกุงปกครอง" "ซังกุงรับบัญชา" "ซังกุงพี่เลี้ยง" "ซังกุงสาวใช้" และ ทุกแผนกก็จะมีหัวหน้าซังกุงอีกคนคอยกำกับดูแล เรียกว่าซังกุงสูงสุด ในวังของเกาหลีมีนางกำนัลประมาณ 600 คน

การจะเป็นซังกุงได้นั้น นอกจากมีประสบการณ์และผลงานโดดเด่นแล้ว ยังต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เพราะพวกเธอมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่พระราชา ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องออกจากวัง ให้คนอื่นมาเป็นแทน ผู้ที่เป็นซังกุงในระดับสูง แม้ป่วยก็บอกใครไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องให้คนสนิท หรือญาติพี่น้องมาทำงานแทน เพื่อรักษาอำนาจของตนให้คงอยู่

การแต่งกายของนางกำนัล

นางกำนัลปกติจะใส่สีเขียว และเมื่อทำงานตามที่ต่าง ๆ เช่น ห้องเครื่อง จะใส่สีม่วงทับ (สีม่วงแบบเกาหลีคือสีม่วงอมแดง) และนางกำนัลยังมีชุดทางการในวัง เรียกว่า ฮวาลยอ (ชุดที่เอามือซุกเข้าไปได้ เพราะสตรีในวังจะต้องปกปิดมือและเท้า) ของนางกำนัลเป็นสีคราม

ส่วนของซังกุงนั้น ฮวาลยอสีเขียว ถ้าเป็นซังกุงตำแหน่งสูง ฮวาลยอสีจะเขียวเข้ม ซังกุงยังมีชุดพิธีการที่สูงขึ้นไปอีก เรียกว่า วอนซัม เป็นชุดผ่าจนถึงรักแร้ และมีชายแขนเสื้อที่ยาวจรดพื้น ดังรูปฮันซังกุงด้านบน

ส่วนนางกำนัลที่ได้รับเลื่อนขั้นให้เป็นซังกุงแล้วต้องสวมที่ครอบผมซึ่งทำจากผมปลอม (คาเช) ถ้าที่ครอบผมมีขนาดใหญ่อลังการ และสวยงามเท่าใด ก็จะแสดงได้ถึงยศลำดับชั้นสูง นอกจากนี้ซังกุงชั้นสูงจำเป็นต้องประดับคังโดซึ่งเป็นผ้าสีสด เพื่อบ่งบอกลำดับขั้นของตัวเองไว้ที่ครอบผมด้วย แต่การใส่ผมปลอมอลังการได้ยกเลิกไปในการปฏิรูปของพระเจ้ายองโจ เปลี่ยนไปม้วนผมไว้ด้านหลังและเสียบปิ่นปักผมแทน และปิ่นแต่ละคนก็บ่งบอกถึงฐานะ คาเชจึงใส่เฉพาะในพิธีสำคัญเท่านั้น

นางกำนัลชั้นสูงนั้นแม้จะมีห้องพักรับรอง และมีบริวารคอยรับใช้อย่างสุขสบายก็จริง แต่ยามใดที่เจ็บไข้ถึงขั้นรุนแรงนางกำนัลเหล่านั้นก็จะถูกส่งตัวออกจากวังหลวงโดยทันที เพราะนอกจากกษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักแล้ว ผู้อื่นไม่สามารถตายในวังได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาช้านาน กฎเหล็กดังกล่าวจึงสร้างความเศร้าโศก และสะเทือนจิตใจในช่วงบั้นปลายชีวิตของบรรดานางกำนัลเป็นที่สุด ในการปกครองนั้น จะมีซังกุงปกครองเป็นผู้ปกครองนางกำนัลในทั้งหมด แม้กระทั่งซังกุงสูงสุดของฝ่ายงานต่าง ๆ ก็ต้องขึ้นตรงต่อซังกุงปกครอง

ตำแหน่งสูงสุดของซังกุง

เนื่องจากซังกุงคือผู้ถวายการรับใช้แก่พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระสนม พระโอรส พระธิดา รวมถึงเชื้อพระวงศ์องค์อื่น ๆ ดังนั้นตำแหน่งของซังกุงจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

  1. ซังกุงทั่วไป คือนางกำนัลที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพระราชวัง รวมไปถึงการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเชื้อพระวงศ์ โดยมีตำแหน่งซังกุงปกครองทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด มีอำนาจสามารถปลดนางกำนัลคนใดก็ได้ และคอยสนองพระราชโองการของพระมหากษัตริย์
  2. ซังกุงที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระสนม ถือได้ว่าบุคคลเหล่านี้จัดเป็นสนมทั้งหมด สนมของเกาหลีแบ่งออกเป็น 8 ชั้นคือ
  • 1. พระสนมขั้นหนึ่ง ชั้นพระสนมบิน (빈,嬪) ชอง 1 พุม (เป็นการเรียงลำดับของระบบข้าราชการของโชซอน เท่ากับ ระดับ 1) มีพระนามแตกต่างกันออกไป เช่น ฮีบิน คยองบิน ซุกบิน ชางบิน มยองบิน อันบิน เป็นต้น เช่นพระสนมคยองบิน ตระกูลปาร์ค ในพระเจ้าจุงจง
  • 2. พระสนมขั้นสอง ชั้นพระสนมควีอิน (귀인, 貴人 ) ชง 1 พุม เช่น พระสนมขั้นสองควีอิน ตระกูลปาร์ค ในพระเจ้าเซจงมหาราช
  • 3. พระสนมขั้นสาม ชั้นพระสนมโซอึย (소의, 昭儀 ) ชอง 2 พุม เช่น พระสนมขั้นสามโซอึย ตระกูลยู ในพระเจ้าซุกจง
  • 4. พระสนมขั้นสี่ ชั้นพระสนมซุกอึย (숙의,淑儀) ชง 2 พุม เช่น พระสนมขั้นสี่ซุกอึย ตระกูลคิม ในพระเจ้าทันจง
  • 5. พระสนมขั้นห้า ชั้นพระสนมโซยง (소용,昭容) ชอง 3 พุม เช่น พระสนมขั้นห้าโซยง ตระกูลฮง ในพระเจ้าเซจงมหาราช
  • 6. พระสนมขั้นหก ชั้นพระสนมซุกยง (숙용,淑容) ชง 3 พุม เช่น พระสนมขั้นหกซุกยง ตระกูลควอน ในพระเจ้าซองจง
  • 7. พระสนมขั้นเจ็ด ชั้นพระสนมโซวอน (소원,昭媛) ชอง 4 พุม เช่น พระสนมขั้นเจ็ดโซวอน ตระกูลซิน ในองค์ชายควางแฮ
  • 8. พระสนมขั้นแปด ชั้นพระสนมซุกวอน (숙원,淑媛) ชง 4 พุม เช่น พระสนมขั้นแปดซุกวอน ตระกูลลี ในพระเจ้าเซจงมหาราช

อ้างอิง

  1. Hyegyŏnggung Hong Ssi (1996). The Memoirs of Lady Hyegyŏng: The Autobiographical Writings of a Crown Princess of Eighteenth-century Korea. แปลโดย JaHyun Kim Haboush. University of California Press. p. 62. ISBN 0-520-20055-1.

แหล่งข้อมูลอื่น

SEON IN - JOO (20-04-2016).เจาะลึก “นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน ( ตอนที่ 2  ตอนจบ). http://asiancastle.net/?p=3288%0ACopyright+©2016+WWW.ASIANCASTLE.NET เก็บถาวร 2018-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

Kembali kehalaman sebelumnya