Share to:

 

ซัลวาตอร์มุนดี (เลโอนาร์โด)

ซัลวาตอร์มุนดี
ศิลปินเลโอนาร์โด ดา วินชี
ปีป. 1500
ประเภทสีน้ำมันบนแผ่นไม้วอลนัต
มิติ45.4 cm × 65.6 cm (25.8 in × 19.2 in)
สภาพได้รับการบูรณะ
เจ้าของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอาบูดาบี สำหรับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์อาบูดาบี, ปัจจุบันครอบครองโดยมุฮัมมัด บิน ซัลมาน[1]

ซัลวาตอร์มุนดี (ละติน: Salvator Mundi) หรือ พระผู้ช่วยให้รอด (Savior of the World) เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้วอลนัตที่วาดโดยเลโอนาร์โด ดา วินชี ศิลปินชาวอิตาลี ประมาณ ค.ศ. 1500[2] เป็นภาพพระเยซูทรงเครื่องแต่งกายสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา พระหัตถ์ขวาทำเครื่องหมายกางเขน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือดวงแก้วเป็นสัญลักษณ์แทนสวรรค์[3] มีภาพลักษณะคล้ายกันกับภาพนี้มากกว่า 20 ภาพที่วาดโดยผู้ช่วยและจิตรกรคนอื่น ๆ ที่ชื่นชมวิธีวาดของเลโอนาร์โด

มีการสันนิษฐานว่าภาพ ซัลวาตอร์มุนดี ถูกวาดเพื่อถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส และอานแห่งเบรอตาญ พระมเหสี[4] ประมาณปี ค.ศ. 1500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานหลังพระเจ้าหลุยส์พิชิตดัชชีมีลาโนและยึดครองเจนัวในสงครามอิตาลีครั้งที่สอง เชื่อว่าระหว่าง ค.ศ. 1638–1641 ซัลวาตอร์มุนดี อยู่ในการครอบครองของเจมส์ แฮมิลตัน ดยุกที่ 1 แห่งแฮมิลตันที่คฤหาสน์เชลซี แต่หลังจากเจมส์ แฮมิลตันถูกประหารชีวิตในสงครามกลางเมืองอังกฤษ ทรัพย์สมบัติของแฮมิลตันบางส่วนถูกนำออกขาย[5] เมื่อมีการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ ภาพนี้อยู่ในครอบครองของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ก่อนจะตกทอดมาถึงจอห์น เชฟฟิลด์ ดยุกที่ 1 แห่งบักกิงแฮมและนอร์ม็องดี ผ่านทางธิดานอกสมรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2[6] ในปี ค.ศ. 1900 ซัลวาตอร์มุนดี ถูกซื้อไปโดยฟรานซิส คุก ไวเคานต์แห่งมงแซราตึ นักสะสมงานศิลปะ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 2017 ดมีตรี รืยโบลอฟเลฟ นักธุรกิจชาวรัสเซียนำภาพนี้ออกประมูลที่งานประมูลของบริษัทคริสตีส์ในนครนิวยอร์ก และเจ้าชายบัดร์ บิน อับดุลลอฮ์ ในนามของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอาบูดาบีประมูลไปด้วยราคา 450.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] ทำให้ ซัลวาตอร์มุนดี เป็นภาพวาดที่มีราคาสูงที่สุดที่เคยมีการประมูล[8] ในปี ค.ศ. 2017 มีการประกาศว่าภาพนี้จะได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์อาบูดาบี แต่ภายหลังถูกประกาศยกเลิก[9] ปัจจุบันยังไม่มีการระบุว่า ซัลวาตอร์มุนดี ถูกเก็บรักษาไว้ที่ไหน[10]

นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าภาพ ซัลวาตอร์มุนดี เป็นผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี[11] มาร์ติน เคมป์ ผู้เชี่ยวชาญผลงานของเลโอนาร์โดกล่าวว่าเกลียวผมที่ปรากฏในภาพทำได้อย่าง "ลื่นไหลเหมือนเกลียวคลื่น"[12] และกล่าวเพิ่มว่า อาจมีจิตรกรที่วาดได้เหมือนเลโอนาร์โด แต่ไม่มีใครที่วาดรายละเอียดที่ "น่าตื่นตา" เหล่านี้ได้เทียบเท่า[13] ด้านไดแอน ดไวเยอร์ โมเดสตินี นักอนุรักษ์งานศิลป์สรุปหลังจากศึกษาภาพนี้เทียบกับภาพ โมนาลิซา ว่าเป็นงานของเลโอนาร์โด เธอชี้แจ้งว่าการใช้สีบริเวณริมฝีปากทำได้อย่าง "สมบูรณ์แบบอย่างที่ไม่มีศิลปินคนไหนทำได้"[14] อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่สงสัยว่าเลโอนาร์โดวาดเองทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน ฌัก ฟร็องก์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า "องค์ประกอบของภาพไม่ได้มาจากเลโอนาร์โด เขานิยมวาดภาพด้านข้างมากกว่า" ฟร็องก์กล่าวเพิ่มว่า ซัลวาตอร์มุนดี เป็นภาพที่ดีแต่มันมีเทคนิคจากเลโอนาร์โดแค่เล็กน้อย[15] ในขณะที่ฟรังค์ เซิลเนอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวเยอรมันกล่าวว่าความยากของการระบุตัวตนจิตรกรของภาพนี้มีอยู่สองประการคือ แต่เดิม ซัลวาตอร์มุนดี เสียหายก่อนจะได้รับการบูรณะอย่างมากจนการตรวจหาคุณภาพเดิมทำได้ยาก และเทคนิคสฟูมาโตในภาพทำให้ชี้ชัดได้ยากว่าเป็นฝีมือของเลโอนาร์โดเองหรือผู้ช่วยของเขา[16]

อ้างอิง

  1. Kazakina, Katya (11 June 2019). "Da Vinci's $450 Million Masterpiece Is Kept on Saudi Prince's Yacht: Artnet". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 11 June 2019.
  2. Kinsella, Eileen (12 June 2019). "'Debunking This Picture Became Fashionable': Leonardo da Vinci Scholar Martin Kemp on What the Public Doesn't Get About 'Salvator Mundi'". artnet news.
  3. Martin Kemp, Christ to Coke: How Image Becomes Icon, Oxford University Press (OPU), 2012, p. 37, ISBN 0199581118
  4. "Salvator Mundi". Christie's. สืบค้นเมื่อ 27 November 2017.
  5. Cole, Alison (30 August 2018). "Leonardo's Salvator Mundi: expert uncovers 'exciting' new evidence". The Art Newspaper. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-25. สืบค้นเมื่อ 27 May 2019.
  6. Daley, Michael (18 September 2018). "How the Louvre Abu Dhabi Salvator Mundi became a Leonardo-from-nowhere". Artwatch. สืบค้นเมื่อ 27 May 2019.
  7. "How a long-lost Leonardo da Vinci painting got dragged into a Trump-Russia conspiracy theory". Vox. 22 January 2019. สืบค้นเมื่อ 17 August 2019.
  8. David D. Kirkpatrick (6 December 2017). "Mystery Buyer of $450 Million 'Salvator Mundi' Was a Saudi Prince". New York Times. สืบค้นเมื่อ 12 December 2017.
  9. "Postponement of the unveiling of Salvator Mundi". Abu Dhabi Department of Culture and Tourism on Twitter. 2 September 2018. สืบค้นเมื่อ 2 April 2019.
  10. Kirkpatrick, David D. (30 March 2019). "A Leonardo Made a $450 Million Splash. Now There's No Sign of It". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 31 March 2019.
  11. Hartley-Parkinson, Richard (16 November 2017). "Leonardo Da Vinci portrait of Jesus Christ 'Salvator Mundi' sells for $450,000,000". Metro.
  12. Goldstein, Andrew M. (17 November 2011). "The Male "Mona Lisa"?: Art Historian Martin Kemp on Leonardo da Vinci's Mysterious "Salvator Mundi"". Blouin Artinfo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-13. สืบค้นเมื่อ 2019-08-17.
  13. Martin Kemp, Art history: Sight and salvation, Martin Kemp sifts the evidence that Leonardo da Vinci painted the newly emerged work Salvator Mundi, Nature, International Journal of Science, 479, 174–175, 10 November 2011. doi:10.1038/479174a, www.nature.com
  14. Shaer 2019.
  15. Pogrebin, Robin; Reyburn, Scott (15 November 2017). "Leonardo da Vinci Painting Sells for $450.3 Million, Shattering Auction Highs". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 16 November 2017.
  16. Zöllner, Frank (2017). "Catalogue Raisonné of the Paintings, No. XXXIII, Salvator Mundi" (PDF). Leonardo da Vinci. The Complete Paintings and Drawings, Köln 2017: 440–445. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-06-04. สืบค้นเมื่อ 2019-08-17.


Kembali kehalaman sebelumnya