ซีเซียม-137
ซีเซียม-137 (อังกฤษ: Caesium-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม มีลักษณะเป็นโลหะอ่อน สีทองเงิน[3] แผ่อนุภาคบีตาและรังสีแกมมา เมื่อสัมผัสจะทำลายหรือสร้างความเสียหายแก่ดีเอ็นเอของเซลล์ ส่งผลทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไทรอยด์ตามมา ในธรรมชาติอาจใช้เวลาสลายตัวของซีเซียม-137 มากกว่า 100 ปี[4] ครึ่งชีวิตของซีเซียมอยู่ที่ประมาณ 30 ปี เมื่อซีเซียมสลายตัว จะแผ่รังสีบีตาแล้วจะแปรสภาพกลายเป็นแบเรียม-137m (137mBa) [5] ประโยชน์การใช้งานของสารซีเซียม-137 มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง และใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม ถ้ามีปริมาณน้อยจะใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสีหรือใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่นำมาใช้ในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน [5] อันตรายในระยะสั้นหากได้รับหรือสัมผัสจะไม่ส่งผลอันตรายให้เห็นผลชัดเจน แต่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ถ้าได้รับเข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล ผ่านการหายใจ หรือรับประทานเข้าไป ซีเซียม-137 จะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนของอวัยวะต่าง ๆ และจะแผ่รังสีผ่านสู่อวัยวะเหล่านั้น เป็นผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น [5] หากได้รับปริมาณรังสีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผิวหนังมีอาการแสบร้อนคล้ายโดนไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก และจะมีอาการคลื่นไส้ถ้าได้รับปริมาณรังสีสูงมากพอ [5] เหตุการณ์อุบัติเหตุในไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2566เกิดการสูญหายของ ซีเซียม-137 จากโรงงานไฟฟ้าที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งต่อมาพบว่าถูกหลอมพร้อมกับเหล็ก [6] แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติเชียร์โนบีลแล้ว อุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าสร้างความเสียหายที่เล็กกว่ามาก[7] แต่อย่างไรก็ตามบุคคลที่ใกล้ชิดหรือพักอาศัยใกล้กับพื้นที่ใกล้เคียงจุดเกิดเหตุก็ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency)[8] ค่ารังสีส่วนเกินจากธรรมชาติที่คนทั่วไปควรได้รับไม่ควรจะเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ต/ปี โดยในเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้ได้รับรังสีเกินกว่าที่คนทั่วไปควรได้รับ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบใกล้เคียงการอยู่ในพื้นที่ที่มีรังสีต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี อ้างอิง
|