ดาร์จีลิง
ดาร์จีลิง (เนปาล: दार्जीलिङ्ग; เบงกอล: দার্জিলিং; ทิเบต: རྡོ་རྗེ་གླིང༌།) เป็นเมืองและเทศบาลแห่งหนึ่งในรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยน้อยบนความสูง 6,700 ฟุต (2,042.2 เมตร) มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมผลิตชา จากตัวเมืองสามารถมองเห็นยอดเขากันเจนชุงคาซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับที่สามของโลก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของทางรถไฟสายดาร์จีลิงหิมาลัยซึ่งได้รับการจดบันทึกให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ถือเป็นรถจักรไอน้ำเพียงไม่กี่สายที่ยังให้บริการในประเทศอินเดีย ชื่อเมืองมาจากคำทิเบตสองคำคือ "ดอร์เจ" แปลว่า "วัชระ – อาวุธของพระอินทร์" กับคำว่า "ลิง" แปลว่า "สถานที่หรือดินแดน"[4] เมืองถูกก่อตั้งช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในยุคอาณานิคมบริติชราช มีการตั้งสถานพักฟื้นผู้ป่วยและค่ายทหารในพื้นที่ ต่อมาได้พัฒนาพื้นที่สำหรับปลูกชา โดยเกษตรกรได้พัฒนาชาแดงลูกผสมและใช้เทคนิคการบ่มชาแบบใหม่ จนชาแดงดาร์จีลิงกลายเป็นชาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นหนึ่งในชาแดงที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก[5] นอกจากนี้ดาร์จีลิงยังมีชื่อเสียงจากการเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแบบอังกฤษหลายแห่ง ซึ่งดึงดูดนักเรียนทั้งจากในและต่างประเทศเข้าไปร่ำเรียน และเมืองนี้เป็นสังคมพหุลักษณ์มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันได้แก่ เลปชา คามปา กุรข่า เนวาร เศรปา ภูเตีย และเบงกอล[6] ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมภูมิอากาศดาร์จีลิงมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร (การแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน: Cwb)[7] ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีในดาร์จีลิงอยู่ที่ประมาณ 3,100 มม. (120 นิ้ว)[a] ร้อยละแปดสิบของปริมาณน้ำฝนประจำปีเกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนและกันยายน เนื่องจากลมมรสุมของเอเชียใต้[9] "อัตราส่วนเดือนมิถุนายน–พฤษภาคม" หรืออัตราที่ฝนจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนคือ 2.6 หรือ 260%[9] ในทางตรงกันข้าม ปริมาณน้ำฝนประจำปีเกิดขึ้นเพียง 3% ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม[9] ระดับความสูงของดาร์จีลิ่ง มีความสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของเทือกเขาหิมาลัยตะวันออกเช่น เทือกเขาอัสสัม ที่อยู่ในเขตละติจูดเดียวกัน (27° เหนือ) อากาศที่เบาบางทำให้มีระดับรังสีอัลตราไวโอเลตที่สูงกว่า ค่ารังสีอัลตราไวโอเลตอยู่ที่ประมาณ 4,500 ไมโครวัตต์/ตารางซม./วัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุด ค่ารังสีสูงกว่าที่วัดได้บริเวณเทือกเขาอัสสัมทางทิศตะวันออกซึ่งมีความสูง 170 เมตร (560 ฟุต) กว่า 50%[10]
เชิงอรรถอ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ดาร์จีลิง วิกิท่องเที่ยว มีคำแนะนำการท่องเที่ยวสำหรับ ดาร์จีลิง
|