ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ออกแบบโดย นายนิรันดร์ ไกรสรรัตน์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานตราสัญลักษณ์ดังกล่าว (ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดตราสัญลักษณ์ฯ โดยกรมศิลปากร) สำหรับใช้ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จากการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแบบโดยรัฐบาล เพื่อทรงเลือกแบบที่เหมาะสม ดังที่ปรากฏนี้ ความหมายของตราสัญลักษณ์ฯตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ อยู่ตรงกลาง ประดิษฐานอยู่เหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นการแสดงความหมายว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยว และเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงสุดของประชาชน สีเหลืองของอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ อยู่บนพื้นวงกลมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ ล้อมรอบด้วย ตราพระแสงจักร และมีเลข 9 บนอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ซึ่งหมายถึง ทรงเป็น พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีสัปตปฎลเศวตฉัตร ประกอบอยู่ 2 ข้าง ซ้ายและขวา และมีนพปฎลมหาเศวตฉัตร ประดิษฐานอยู่เบื้องบนสุด เส้นกรอบรอบนอก ที่ออกแบบให้มีลักษณะ เป็น 4 แฉก หรือ 4 ส่วน แทนประชาชนชาวไทย ทั่วทุกภาคของประเทศ ที่อยู่ภายใต้ พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข สีพื้นจึงเป็นสีเขียว อันแสดงถึงความสงบร่มเย็น และอุดมสมบูรณ์ มีดอกบัว 4 ดอก แทรกตรงกลางระหว่างแฉกทั้ง 4 แสดงความหมายเป็นการเทิดทูนบูชา ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ รัศมีสีทองโดยรอบ เปรียบได้ดังพระบุญญาบารมี พระมหากรุณาธิคุณ และ น้ำพระราชหฤทัย ที่แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ยังความปลาบปลื้ม มาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เบื้องล่าง ออกแบบเป็นแพรแถบสีน้ำเงิน แสดงข้อความ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒” ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น |