ตะพาบดำ
ตะพาบดำ หรือ ตะพาบบิซฏามี (อังกฤษ: Black softshell turtle, Bostami turtle; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nilssonia nigricans) โดยก่อนหน้านี้จัดอยู่ในสกุล Aspideretes เป็นสปีชีส์ของตะพาบน้ำจืดที่ ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศอินเดีย ในรัฐอัสสัมและรัฐตริปุระ และประเทศบังกลาเทศ ในจิตตะกองและสิเลฏ โดยถูกเชื่อกันมานานว่ามีเชื้อสายเดียวกันกับตะพาบคงคา (N. gangeticus) หรือตะพาบนกยูงอินเดีย (N. hurum) แต่แม้ว่าจะเป็นญาติที่ใกล้กัน แต่ก็เป็นสปีชีส์ที่ต่างกัน[5] ในช่วงปีคริสตร์ศตวรรษที่ 18 สันนิษฐานว่าตะพาบเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากอิหร่านมายังสระน้ำศาลเจ้าจิตตะกองโดย บายอซีด บิซฏามี (Hazrat Bayezid Bostami) ตะพาบที่เขานำเข้ามาไว้ที่สระน้ำแห่งนี้ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และได้รับความเคารพบูชาจากประชาชน[6] ก่อนหน้านี้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประกาศว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ในปี ค.ศ. 2002 แต่ตะพาบเหล่านี้ยังคงพบอยู่ในสระน้ำของวัดที่เรียกว่าวัดฮายะกรีวะ มาธวะ (Hayagriva Madhava Temple) ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอัสสัม และในทะเลสาบกันลยาณสาคาร์ (Kalyan Sagar lake) ในวัดตริปุระสุนทรี (Tripura Sundari Temple) ในอุทัยปุระ รัฐตริปุระ ประเทศอินเดีย[7] ด้วยวิธีการอนุรักษ์และปกป้องตะพาบชนิดนี้ ทำให้ปัจจุบันสามารถพบตะพาบชนิดนี้ได้ในป่า และนักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาสิ่งแวดล้อมยังคงทำงานเพื่ออนุรักษ์ชนิดตะพาบที่ใกล้สูญพันธุ์และแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย (mitogenome) ของตะพาบดำแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับอีกสปีชีส์อื่น 19 สปีชีส์ของเต่า เมื่อพิจารณาจากแผนภูมิต้นไม้วิวัฒนาการชาติพันธุ์ (phylogenetic tree) จะเห็นว่าตะพาบดำ (N. nigricans) เป็นญาติที่ใกล้ชิด (sister group) กับตะพาบนกยูงพม่า (N. formosa)[8] ที่อยู่อาศัยมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่บริเวณแม่น้ำพรหมบุตรตอนล่าง โดยประชากรตะพาบกลุ่มเดียวที่เคยทราบแน่ชัดประกอบด้วยตะพาบชนิดนี้จำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสระน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาลเจ้าบายอซิด บิซฏามี (Bayazid Bostami shrine) ที่จิตตะกอง ซึ่งตะพาบเหล่านี้พึ่งพามนุษย์มาให้อาหารเพื่อความอยู่รอด สำหรับคนในท้องถิ่นและผู้ที่เคารพศรัทธา จะเรียกตะพาบดำนี้ว่า มาซาริ ซึ่งความหมายว่า พสกชาวมาซาร์ (Mazar inhabitant) ตัวอย่างตะพาบดำจากศาลเจ้าแห่งนี้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายลักษณะทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรก[5][9] จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2014 โดย Poribesh Banchao Andolon ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของบังคลาเทศ พบว่าปริมาณออกซิเจนซึ่งละลายอยู่ในน้ำ (oxygen dissolved) ในสระอยู่ที่ 2.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งระดับที่เหมาะสมคือ 5 มิลลิกรัมต่อลิตร[10] ในปี ค.ศ. 2012 นักชีววิทยาสัตว์ป่าจากศูนย์วิจัยและการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ (the Center for Advanced Research in Natural Resources and Management) พบประชากรตะพาบดำจำนวนเล็กน้อยในป่าของเมืองสิเลฏ[10] มีการพบประชากรขนาดเล็กสองกลุ่มในอุทยานแห่งชาติกาซีรังคาของรัฐอัสสัม และในแม่น้ำเชียโภโรลี (Jia Bhoroli River) ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาทางตอนเหนือของแม่น้ำพรหมบุตร นอกจากนี้ ยังพบประชากรตะพาบเหล่านี้ในวัดอีกแห่งหนึ่งในสระกาโสปูขูรี (Kasopukhuri pond) บนเนินเขานิลลาจล (อ่านว่า นิน-ลา-จะ-ละ) (Nilachal Hill) ถัดจากกามาขยามนเทียรที่เมืองคุวาหาฏีในรัฐอัสสัม[11] พบวัดอีกแห่งหนึ่งในทะเลสาบกันลยาณสาคาร์ วัดตริปุระสุนทรี (Tripureshwari temple) เมืองอุทัยปุระ (Udaipur) รัฐตริปุระ ตะพาบเหล่านี้ยังพบได้ในสระในวัดพาเณศวร-ศิวะ (Baneswar Shiva temple) ซึ่งเป็นเทวสถานพระศิวะ (shiva temple) ในพาเณศวร (Baneswar) ในกุจเพหาร์ II (Cooch Behar II) ซึ่งเป็นหมู่บ้าน (CD block) ในเขตกุจเพหาร์สาดารา (Cooch Behar Sadar subdivision) เมืองกุจเพหาร์ (Cooch Behar district) ในรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ทางชีววิทยารูปร่างและลักษณะตะพาบดำมีลักษณะที่สังเกตได้ว่าแตกต่างไปจากตะพาบทั่วไป ตะพาบชนิดนี้มีกระดองแบบยืดหยุ่นได้คล้ายหนังเช่นเดียวกับตะพาบทั่ว ๆ ไป และไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหวมากเท่ากับตะพาบทั่ว ๆ ไป ตะพาบดำมีจมูกและใบหน้าที่โดดเด่นมาก โดยมีโครงสร้างคล้ายท่อยื่นออกมาจากจมูกซึ่งทำหน้าที่และคล้ายกับท่อหายใจ (snorkel) เอ็นยึดของตะพาบชนิดนี้มีความแตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับเอ็นยึดของเต่าทะเลหรือเต่าบกทั่วไป เนื่องจากมีโครงสร้างคล้ายมือที่มีพังผืด ซึ่งแตกต่างจากเต่าชนิดอื่น ๆ เช่น เต่าทะเล[12] กระดองของตะพาบไม่ยื่นออกมาจากลำตัวมากนัก และโดยทั่วไปจะมีลักษณะค่อนข้างแข็งและมีสีสันและลวดลายน้อย[7] ผิวหนังของตะพาบดำมักเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม แต่ก็อาจมีจุดสีขาวถึงเหลืองอยู่บนหัวและเอ็นของตะพาบได้[13]กระดองของตะพาบชนิดนี้ในวัยเด็ก จะมีวงจุดสีดำ 4 วง ตะพาบดำเมื่อโตขึ้นวงจุดอาจมองเห็นได้ไม่ชัด ขนาดและน้ำหนักตัวขนาดเฉลี่ยของตะพาบดำ เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะมีความกว้างตั้งแต่ 40-80 เซนติเมตร (15-31 นิ้ว) และมีความยาวตั้งแต่ 35-70 เซนติเมตร (13-28 นิ้ว) พื้นที่กระดองเฉลี่ยของตะพาบชนิดนี้สามารถอยู่ตั้งแต่พื้นที่ที่น้อยที่สุดที่ 0.126 ตารางเมตร (195 ตารางนิ้ว) ถึงพื้นที่ที่มากที่สุดที่ 0.56 ตารางเมตร (868 ตารางนิ้ว) อย่างไรก็ตามขนาดที่ใหญ่ที่สุดที่ได้บันทึกไว้สำหรับตะพาบชนิดนี้มีความยาวที่ 89 เซนติเมตร (35 นิ้ว)[12] น้ำหนักของตัวเมียโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 55 กิโลกรัม (120 ปอนด์) ขณะที่น้ำหนักของตัวผู้ยังไม่ได้รับการบันทึก อย่างไรก็ตาม ตัวผู้เหล่านี้มีขนาดที่ใหญ่กว่า ซึ่งบ่งชี้ว่าจะมีน้ำหนักที่มากกว่า[14] อายุขัยและอัตราการเสียชีวิตอายุขัยที่สูงที่สุดของตะพาบดำได้รับการบันทึกไว้โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยตรง ซึ่งอ้างว่าตะพาบดำที่มีอายุมากที่สุดในปัจจุบันมีอายุประมาณ 150 ปี[15] อย่างไรก็ตาม ตะพาบชนิดนี้มีอัตราการตายสูงในช่วงเริ่มต้นของชีวิต โดยมีไข่ถึงร้อยละ 94 ที่ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้หรือมีไข่เพียงร้อยละ 6 ที่ฟักเป็นตัวสำเร็จ โดยจำนวนไข่ที่ตะพาบฟักออกมาภายในครั้งหนึ่ง ๆ โดยเฉลี่ยทีละ 20 ฟอง จะทำให้สามารถอยู่รอดได้เพียงไข่ 1 ฟองต่อตะพาบที่ผสมพันธุ์ 2 ตัว[14] อาหารเนื่องจากตะพาบชนิดนี้มีอยู่ในพื้นที่จำกัดซึ่งมีการสัญจรของผู้คนไปมามาก ตะพาบเหล่านี้จึงต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในการหาอาหาร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะให้อาหารผสมระหว่างธัญพืช ผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ [15] การมีปฏิสัมพันธ์และการให้อาหารโดยตรงกับตะพาบเหล่านี้ ทำให้ตะพาบเหล่านี้ต้องพึ่งพามนุษย์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องล่าเหยื่ออีกต่อไป สิ่งนี้ทำให้ยากต่อการระบุอาหารตามธรรมชาติของตะพาบชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถในการกินอาหารที่ผู้คนนำไปให้ อาหารของพวกมันจึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน ตะพาบชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตกินทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่ พืชและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ปลาและหนอน[12] การสืบพันธุ์ตะพาบดำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สืบพันธุ์ด้วยการวางไข่ เพื่อฟักออกมา[16] ตะพาบสกุลนี้จะเติบโตอย่างช้า ๆ โดยตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ 4 ปี ประชากรตะพาบเพศเมียอาจใช้เวลา 7-9 ปี จึงจะโตเต็มที่[17] ไข่ที่ตะพาบฟักออกมาครั้งหนึ่ง ๆ จะเรียกว่าครอก โดยตะพาบดำตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 10 ถึง 38 ฟองในครอกของมัน ลูกตะพาบจะเจริญเติบโตในไข่เป็นเวลา 92–108 วันก่อนที่จะฟักเป็นตัว[12] เมื่อไม่นานมานี้ อัตราการฟักไข่ของตะพาบชนิดนี้ลดลงเนื่องจากตะพาบชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์ พฤติกรรมการจำศีลการจำศีลจะเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูใบไม้ผลิสำหรับตะพาบในสกุลนี้ พวกมันฝังตัวอยู่ก้นแม่น้ำหรือทะเลสาบในโคลน อาหารไม่จำเป็นเท่ากับออกซิเจนระหว่างในช่วงนี้ ความต้องการออกซิเจนในร่างกายอยู่ในอัตราที่ลดลงกว่าปกติ เนื่องจากตะพาบจะฝึกเทคนิคที่เรียกว่า "การหายใจโดยใช้คอหอย" (pharyngeal breathing)[17] ซึ่งหมายความว่าพวกมันจากสูบน้ำเข้าและออกจากลำคอ (คอหอย) ที่มีส่วนยื่นของไมโครวิลลัสของหลอดเลือดขนาดเล็ก โครงสร้างนี้ทำให้มีพื้นที่ผิวที่มากขึ้นเพื่อทำให้ดูดซับออกซิเจนได้มากขึ้น[18] การใกล้สูญพันธุ์ไปจากป่าในปี ค.ศ. 2002 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้จัดให้ตะพาบชนิดนี้อยู่ในประเภทสูญพันธุ์จากธรรมชาติ (Extinct in the Wild) ในปี ค.ศ. 2004 พบตะพาบดำจำนวน 408 ตัวในสระน้ำของศาลเจ้าบายอซิด บิซฏามี (Bayazid Bostami shrine) ตามรายงานของคณะกรรมการศาลเจ้า พบว่าในปี ค.ศ. 2007 มีตะพาบดำฟักไข่ในสระเพิ่มขึ้นอีก 90 ตัว ในปี ค.ศ. 2008 มี 74 ตัว, ในปี ค.ศ. 2009 มี 96 ตัว, ในปี ค.ศ. 2010 มี 28 ตัว, ในปี ค.ศ. 2012 มี 45 ตัว และในปี ค.ศ. 2014 มี 40 ตัว[10] ในปี ค.ศ. 2017 พบตะพาบป่าตัวหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำของหมู่บ้าน Old Akuk ในเขตโวขา (Wokha District) รัฐนาคาแลนด์ ดีเอ็นเอจากตัวอย่างที่ส่งไปยังบังกลาเทศได้รับการทดสอบและในที่สุดก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นสมาชิกของชนิดตะพาบดำ[19] การสูญพันธุ์ครั้งนี้เกิดจากการมนุษย์เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการเข้ามาของผู้คนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันและการปนเปื้อนของน้ำและดินอันเป็นผลจากการเข้ามานี้[20] พื้นที่ในประเทศบังกลาเทศที่ตะพาบดำสามารถอาศัยอยู่ได้ในปัจจุบันได้รับการตรวจสอบในเรื่องการดำรงชีวิตและการผสมพันธุ์ อัตราการรอดชีวิตของตะพาบดำในวัยอ่อนค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีอัตราการตายจากการฟักไข่และการรอดชีวิตของตัวอ่อนหลังการฟักไข่สูง[21] การที่มนุษย์จับตะพาบดำเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาดูเหมือนว่าจะทั้งส่งผลดีและเป็นอันตรายต่อประชากรของตะพาบ ศาลเจ้าจะเลี้ยงตะพาบเหล่านี้ไว้ในพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องจากผู้ล่าจากภายนอก แต่สระน้ำเหล่านี้เห็นพ้องกันว่าไม่เหมาะสำหรับการเพาะพันธุ์จำนวนตะพาบ ในศาสนาฮินดู ตะพาบดำเป็นตัวแทนของอวตารของเทพเจ้ากูรมะ มีผู้มาสักการะและนำอาหารคน เช่น บิสกิต มาเลี้ยงตะพาบในสระน้ำ อาหารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อตะพาบ เนื่องจากจะส่งผลให้ตะพาบขาดสารอาหาร[22] การเข้ามาของมนุษย์ทำให้เป็นการผลักดันให้เกิดการสูญพันธุ์ ในปี ค.ศ. 2006 มีการวางยาพิษตะพาบเป็นจำนวนมากในสระน้ำของศาลเจ้าบิซฏามี โดยพรานล่าสัตว์ในพื้นที่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาการวิจัย ตะพาบเหล่านี้อยู่ภายใต้การสังเกตการณ์อย่างเข้มงวดและได้รับการปกป้องจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้วิธีการนี้ ในกรณีนี้มีปลาจำนวนมากที่ตะพาบดำใช้เป็นอาหารได้รับพิษ ทำให้ตะพาบไม่สามารถได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การวางยาพิษแบบเดียวกันนี้ยังส่งผลต่อระดับออกซิเจนในน้ำเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้ตะพาบไม่สามารถอยู่ได้ ระยะเวลาการวิจัยได้ผ่านไปแล้วเพื่อให้แน่ใจว่าระดับออกซิเจนในน้ำอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน จึงจะให้สามารถปล่อยตะพาบชนิดนี้ออกมาได้[21] ความพยายามในการอนุรักษ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 TSA India ได้ทำงานอย่างเต็มที่ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสระน้ำของวัดบางแห่งในรัฐอัสสัม ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบตะพาบเหล่านี้ สระหลายแห่งมีมลภาวะจากธาตุอาหารพืช (eutrophic) เนื่องจากมีการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชและสาหร่าย และอยู่กันอย่างแออัด และบ่อยครั้งที่ตะพาบเหล่านี้จะได้รับอาหารจากมนุษย์เหมือนกับเครื่องบูชาทางศาสนา ตะพาบเหล่านี้แสดงอาการว่าได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอและไม่มีพื้นที่ทำรังที่เหมาะสม ส่งผลให้ไข่ถูกวางในพื้นที่ที่มีโอกาสฟักออกได้น้อย เป้าหมายของโครงการนี้คือ การเลี้ยงดูและปล่อยลูกสัตว์จากที่ถูกให้ใช้ชีวิตในพื้นที่ปิดเพื่อเสริมประชากรของตะพาบในป่าที่ลดจำนวนลง ในฐานะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มดังกล่าว ทีม TSA India ได้ตั้งแคมป์ที่วัดนาคศังกร (Nagshankar temple) ในเดือนเมษายนเพื่อสังเกตการทำรังของตะพาบเพศเมียที่โตเต็มวัยจำนวน 40-45 ตัว ในวัดนั้น ในเวลานั้น ทีมงานได้ย้ายรังจำนวน 10 รังไปที่ฟาร์มสำหรับฟักไข่ และปกป้องรังจำนวน 4 รังที่วัดนั้น ด้วยความพยายามของ TSA ทำให้ในตอนนี้ตะพาบสามารถฟักออกมาแล้ว 44 ตัว ขณะนี้ทีมงานกำลังขยายสถานที่อนุบาลสัตว์ (headstarting) ที่วัดนาคศังกร เพื่อรองรับลูกตะพาบที่เพิ่งฟักออกมาในปี ค.ศ. 2016 ไม่สามารถปล่อยตะพาบแรกเกิดและตะพาบที่อายุยังน้อยกลับลงในสระน้ำของวัดได้ เนื่องจากจะถูกเต่าขนาดใหญ่และปลาที่ไม่ใช่ปลาในพื้นที่ เข้ามาล่า ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงได้จัดหาบ่อดินในหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับลูกตะพาบที่เติบโตเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเอาชีวิตรอดของตะพาบชนิดที่หายากชนิดนี้ ในปี ค.ศ. 2018 Das et al. ได้รวบรวมขนาดประชากรของ N. nigricans ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ถึงปี ค.ศ. 2012 ขนาดประชากรแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ซึ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่ที่คำนวณได้ต่อตะพาบหนึ่งตัวลดลงตามไปด้วย ชี้ให้เห็นว่าหากไม่เพิ่มขนาดถิ่นที่อยู่อาศัย ความสามารถในการรองรับสายพันธุ์ต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นมากขึ้น สิ่งนี้ลดการเติบโตโดยรวมของสายพันธุ์และไม่อนุญาตให้เติบโตเกินสถานะการอนุรักษ์ปัจจุบันได้[21] ในปี ค.ศ. 2011 ดร. Jayaditya จากองค์กรนอกภาครัฐ Help Earth พบตะพาบดำจำนวนหนึ่งอยู่ในสระน้ำของวัดในเมืองหาโช ในรัฐอัสสัม เขาได้ฟื้นคืนการมีส่วนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูสายพันธุ์อีกครั้ง เขาและทีมงานได้สร้างคันดินกั้นขอบสระบริเวณวัดและปรับปรุงให้จำลองระบบแม่น้ำธรรมชาติและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของตะพาบมากขึ้น จากนั้นจึงสังเกตพบอัตราการเกิดไข่มากขึ้นรอบบริเวณวัด สวนสัตว์แห่งรัฐอัสสัมมีบทบาทสำคัญในโครงการอนุรักษ์นี้ โดยเป็นสถานที่เลี้ยงตัวอ่อนตะพาบเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมและมีสุขภาพแข็งแรง และสามารถมีชีวิตรอดได้ ตะพาบจะถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ในปี ค.ศ. 2016 สวนสัตว์แห่งรัฐอัสสัมได้ปล่อยตะพาบกลับสู่ธรรมชาติไปแล้วกว่า 300 ตัว ปัจจุบันวัด 16 แห่งในอัสสัมกำลังให้ความช่วยเหลือโครงการที่สำคัญนี้ ความพยายามในการอนุรักษ์ที่คล้ายคลึงกันได้ถูกดำเนินการในเมืองตริปุระ ในวัดตริปุระสุนทรี, มาตาพาริ (matabari), อุทัยปุระ, ตริปุระ เพื่อปกป้องประชากรตะพาบดำพื้นเมือง เชิงอรรถและรายการอ้างอิง
บรรณานุกรม
ดูเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูลอื่น |