ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ
ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอคือภาวะที่ต่อมหมวกไตส่วนนอกไม่สามารถผลิตฮอร์โมนสเตียรอยด์ โดยเฉพาะคอร์ติซอล ออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทั้งนี้อาจนับรวมถึงการที่ต่อมหมวกไตส่วนในไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (มิเนอราโลคอร์ติคอยด์) ออกมาได้เพียงพอด้วย ซึ่งอัลโดสเตอโรนมีหน้าที่ควบคุมปริมาณเกลือแร่โซเดียม โพแทสเซียม และสารน้ำ ในร่างกาย[1][2] อาการอยากกินเกลือหรืออาหารรสเค็มเนื่องจากเสียโซเดียมไปกับปัสสาวะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่ง[3] ภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพออาจมีสาเหตุจากโรคได้หลายโรค เช่น โรคแอ็ดดิสัน และภาวะต่อมหมวกไตเจริญมากเกินแต่กำเนิด หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรงมาก อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ความดันเลือดต่ำ น้ำหนักลด ไตวาย พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง และอาจช็อกได้ โดยมักเรียกว่าภาวะวิกฤติต่อมหมวกไต (adrenal crisis)[4] ซึ่งมักเกิดเมื่อร่างกายของผู้ป่วยต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอต้องเจอกับภาวะเครียด เช่น บาดเจ็บ รับการผ่าตัด ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว[4] นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้วภาวะนี้ยังอาจเกิดจากการที่ไฮโปทาลามัสหรือต่อมพิทูอิทารีไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไตได้เพียงพอ[1][5][6] ภาวะนี้เรียกว่าต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอแบบทุติยภูมิ (secondary adrenal insufficiency) ซึ่งอาจเกิดการที่ต่อมพิทูอิทารีสร้าง ACTH ได้ไม่เพียงพอ หรือไฮโปทาลามัสสร้าง CRH ได้ไม่เพียงพอ[7] อ้างอิง
|