ถนนอรุณอมรินทร์ถนนอรุณอมรินทร์ [อะ-รุน-อำ-มะ-ริน] (อักษรโรมัน: Thanon Arun Ammarin) เป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งในฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ประวัติถนนอรุณอมรินทร์เป็น "ถนนสายที่ 2" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดแนวเส้นทางไว้ตั้งแต่วัดอมรินทราราม มาทางถนนบ้านขมิ้น ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ผ่านถนนสายที่ 1 (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปก) แล้วตรงไปตามแนวถนนคลองสานซึ่งมีอยู่แล้ว ไปบรรจบกับถนนสายที่ 4 (ปัจจุบันคือถนนลาดหญ้า) ที่ปากคลองสาน ยาวประมาณ 4,900 เมตร กว้าง 23 เมตร ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร[1] ถนนสายที่ 2 สร้างและขยายใหม่ตามแนวถนนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างไว้ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งจวน (บ้าน) ของสมเด็จเจ้าพระยาถึง 4 ท่านอีกด้วย ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถนนสมเด็จเจ้าพระยา[2] อย่างไรก็ตาม ถนนสายนี้ตัดสำเร็จเฉพาะส่วนปลาย โดยแยกออกเป็นสองด้านและมีเส้นทางไม่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ ส่วนปลายด้านหนึ่งจากวัดพิชยญาติการามถึงปากคลองสานซึ่งยังคงใช้ชื่อว่าถนนสมเด็จเจ้าพระยามาจนถึงปัจจุบัน และส่วนปลายอีกด้านมีระยะทางเริ่มต้นจากวัดอรุณราชวรารามขึ้นไปจนถึงวัดอมรินทราราม ในเวลาต่อมาทางการจึงเปลี่ยนชื่อถนนส่วนนี้เป็น ถนนอรุณอมรินทร์[2] ต่อมาจึงมีการตัดถนนอรุณอมรินทร์ขึ้นไปทางเหนือ โดยข้ามคลองบางกอกน้อยบริเวณใกล้วัดอมรินทรารามและอู่เรือหลวง ไปตัดกับถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าและบรรจบซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 (อัศวมิตร) โดยเป็นหนึ่งในโครงการตัดถนนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางยี่ขันและตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี พ.ศ. 2509 เพื่อตัดถนนให้รับกับคอสะพานที่จะสร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) และสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันคือสะพานอรุณอมรินทร์)[3] ส่วนถนนตอนกลางที่เชื่อมระหว่างสองส่วนดังกล่าวเพิ่งสร้างสำเร็จตลอดสายเมื่อไม่นานมานี้ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายอรุณอมรินทร์ ตอนแยกถนนวังเดิม-บรรจบถนนประชาธิปก พ.ศ. 2536 โดยแนวถนนบางช่วงเปลี่ยนแปลงไปจากแนวเวนคืนที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2473 เนื่องจากผ่านมัสยิดต้นสนและโรงเรียนศึกษานารี ปัจจุบันถนนตัดใหม่สายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของถนนอรุณอมรินทร์ บางครั้งเรียกว่า "ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่" ส่วนถนนอรุณอมรินทร์สายเดิมจากวัดเครือวัลย์วรวิหาร (ผ่านวัดอรุณราชวราราม) ถึงกองทัพเรือนั้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนวังเดิม ในปี พ.ศ. 2541 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนวิสุทธิกษัตริย์กับถนนอรุณอมรินทร์ เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรขนส่ง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ถนนอรุณอมรินทร์ตอนเหนือจึงมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก โดยต่อจากถนนเดิมที่บรรจบกับซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 (ปัจจุบันคือซอยอรุณอมรินทร์ 30 และซอยอรุณอมรินทร์ 49) แล้วโค้งไปทางทิศตะวันออก ซ้อนกับแนวซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ก่อนจะตรงไปรับกับตัวสะพานพระราม 8[4] ลักษณะถนนอรุณอมรินทร์มีเส้นทางเริ่มต้นจากถนนประชาธิปกใกล้กับโรงเรียนศึกษานารีและวงเวียนเล็กเดิม ในพื้นที่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี ไปทางทิศตะวันตกและวกไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามสะพานอนุทินสวัสดิ์ (คลองบางกอกใหญ่) เข้าพื้นที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ ตัดกับถนนวังเดิมที่ทางแยกวังเดิม ข้ามคลองมอญเข้าพื้นที่แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จากนั้นเลียบคลองบ้านขมิ้นไปและตัดกับซอยอิสรภาพ 44 ที่ทางแยกบ้านขมิ้น และเริ่มตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนวังหลังที่ทางแยกศิริราช ข้ามสะพานอรุณอมรินทร์ (คลองบางกอกน้อย) เข้าพื้นที่แขวงอรุณอมรินทร์ โค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่ทางแยกอรุณอมรินทร์ เข้าพื้นที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แล้วเลียบใต้ถนนคู่ขนานลอยฟ้าพระบรมราชชนนี ข้ามสะพานบางยี่ขัน (คลองบางยี่ขัน) แล้วโค้งไปทางทิศตะวันออกเมื่อผ่านวัดอมรคีรี ไปสิ้นสุดที่สะพานพระราม 8 สถานที่สำคัญ
ทางแยกสำคัญ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|