ธงชาติเฮติ
ธงชาติเฮติ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 3 ส่วน ยาว 5 ส่วน พื้นธงแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วนตามแนวนอน ครึ่งบนพื้นสีน้ำเงิน ครึ่งล่างพื้นสีแดง ที่กลางธงมีรูปตราแผ่นดินของเฮติในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีขาว ในส่วนของธงพลเรือนนั้น เป็นธงสองแถบแบ่งครึ่งตามแนวนอนสีน้าเงิน-แดง ไม่มีภาพตราแผ่นดิน แบบธงธงชาติผืนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และ ตราแผ่นดิน ออกแบบครั้งแรกโดย อาแล็กซองดร์ เปซียง[1] (Alexandre Pétion) เมื่อปี ค.ศ. 1806 ในวรรคที่ 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเฮติฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530. ตราแผ่นดินดังกล่าวนี้ใช้สำหรับบ่งบอกว่าเป็นธงชาติสำหรับทางราชการ (เริ่มใช้เป็นธรรมเนียมนับตั้งแต่ ค.ศ. 1843 เป็นต้นมา) ดวงตราดังกล่าวนั้นแสดงภาพของยุทธภัณฑ์ต่างๆ แสดงความพร้อมในการปกป้องอิสรภาพ กองรวมกันภายใต้ต้นปาล์มแห่งเอกราช ที่ยอดต้นปาล์มนั้นสวมไว้ด้วยหมวกแห่งเสรีภาพ[2] ซึ่งแสดงในรูปของหมวกฟรีเจียงสีแดง เบื้องล่างของรูปดังกล่าวมีแพรแถบสีขาวจารึกคำขวัญภาษาฝรั่งเศสว่า "L'Union Fait La Force" อันมีความหมายว่า "ความสามัคคีก่อกำเนิดซึ่งกำลัง" สำหรับธงชาติสำหรับใช้โดยพลเรือนนั้นจะไม่มีรูปตราแผ่นดิน ธงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นแบบธงที่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 ประวัติ
สีน้ำเงินและสีแดงในธงชาติเฮติมีที่มาจากธงชาติฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเดิม ในการปฏิวัติเฮติเมื่อ ค.ศ. 1803 นั้น ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศสได้ถูกฉีกออกโดยฌอง ฌาคส์ เดสซาลีนส์ (Jean-Jacques Dessalines) ผู้นำในการปฏิวัติครั้งนั้น (ต่อมาได้ตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองเฮติในฐานะปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเฮติ) จากนั้นเขาได้ให้หญิงคนหนึ่งนำเอาเฉพาะสีน้ำเงินและสีแดงของธงเดิมมาเย็บต่อกันเพื่อสร้างขึ้นเป็นธงชาติใหม่ของเฮติ โดยสีน้ำเงินหมายถึงประชากรชาวเฮติที่เคยตกเป็นทาสของฝรั่งเศส สีแดงหมายถึงประชาชนที่เป็นเชื้อชาติลูกผสมระหว่างคนผิวดำและคนพื้นเมือง ซึ่งเรียกรวมกันว่า พวกมูแลตโต (mulatto) ส่วนตราแผ่นดินในธงนั้นได้เพิ่มลงในธงเมื่อปี ค.ศ. 1806 โดยตราดังกล่าวออกแบบครั้งแรกโดย อาแล็กซองดร์ เปซียง ผู้เป็นประธานาธิบดีหลังจากที่จักรพรรดิเดสซาลีนส์ถูกลอบปลงพระชนม์ในปีนั้น ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ธงชาติเฮติ
|