ธนาคารโลก
ธนาคารโลก (อังกฤษ: World Bank) หรือเรียกว่า ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ[5] (อังกฤษ: International Bank for Reconstruction and Development; IBRD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยประเทศมหาอำนาจในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทำการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นองค์กรอยู่ในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ เงินทุนของธนาคารโลกได้มาจากการจำหน่ายพันธบัตรในตลาดการเงินสำคัญของโลก ค่าบำรุงจากประเทศสมาชิก และเงินค่าหุ้นของประเทศสมาชิก วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยให้สมาชิกกู้ยืมไปเพื่อบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาประเทศ ต่อมาได้ขยายขอบเขตของการบริการออกไปเป็นการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาและเพิ่มผลผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิก ตามลักษณะกิจการที่จะลงทุนและตามความจำเป็นและยังช่วยเหลือสมาชิกด้วยการให้บริการด้านความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนและบริหารการเงิน ประวัติการก่อตั้งจากการประชุมของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับเพื่อจัดตั้งธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยทั้งสองสถาบันมีการแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน กองทุนการเงินระหว่างประเทศจะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะสั้น เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ แก้ปัญหาดุลการชำระเงินในขณะที่ธนาคารโลกจะให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาระยะกลางและระยะยาวในรูปแบบเงินกู้ยืม โครงการพัฒนาที่เน้นเฉพาะเป็นโครงการไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปความแตกต่างนี้ก็ลดน้อยลงไปช่วงที่โลกเกิดวิกฤตการณ์การเงินในช่วงปี พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2523 ธนาคารโลกก็เริ่มปล่อยเงินกู้ระยะสั้น เพื่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างประสานกับกองทุนด้วยเช่นกัน องค์กรทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ ผ่านทางสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council-ECOSOC) ในฐานะหน่วยงานชำนาญการพิเศษ แต่การตัดสินใจในเรื่องการให้เงินกู้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของธนาคารโลกเท่านั้น ธนาคารโลกทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) ที่ตั้ง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |