ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อยธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย เป็นสาขาหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1280, 1280/1 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยธนาคารแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ยาวนาน โดยเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นในนาม "บุคคลัภย์" โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2447 เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินที่เป็นฐานรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทย และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "แบงก์สยามกัมมาจล" ในปี พ.ศ. 2449 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" ในปี พ.ศ. 2482 ดังเช่นชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน ปัจจุบัน กิจการของธนาคารก็ยังคงเปิดให้ดำเนินการอยู่ โดยที่ตัวอาคารมีความโดดเด่นที่สถาปัยกรรมตะวันตกแบบโบซาร์ผสมนีโอคลาสสิก ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี อันนิบาเล รีกอตติ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2451 และบูรณะในปี พ.ศ. 2538 ตัวอาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา สถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้ มีความคล้ายคลึงกับหลายส่วนของพระที่นั่งอนันตสมาคม เช่น ทางขึ้นข้างของอาคาร เป็นต้น ชั้นล่างเป็นที่ทำการทั่วไปแต่ยังคงรูปแบบดั้งเดิม โดยเคาน์เตอร์รับฝากถอนคล้ายกับโรงรับจำนำ มีผนังเป็นลวดลายปูนปั้น เสาทรงไอโอนิกประกอบระหว่างช่วงหน้าต่าง กระเบื้องปูพื้นนำเข้าจากเยอรมนี และเป็นที่จัดแสดงของที่เคยใช้ในกิจการในอดีต เช่น เครื่องพิมพ์ดีด, เครื่องคิดเลข, สมุดบัญชีเก่า, พระรูปขององค์ผู้ก่อตั้งตรงประตูทางเข้า และชั้นบนเคยเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่สำนักงานใหญ่ เอสซีบีพาร์กพลาซา แยกรัชโยธิน ในปัจจุบัน[1][2] ตัวอาคารของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ASA ในปี พ.ศ. 2525 ถือเป็นอาคารอนุรักษ์แห่งหนึ่ง[3] [4] และเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของเขตสัมพันธวงศ์ โดยกรมศิลปากร ซึ่งสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีความเก่าแก่และสวยงามเช่นนี้ ยังมีอีก 2 สาขา คือ สาขาถนนเพชรบุรี ถนนเพชรบุรี ใกล้กับแยกเพชรพระราม และสาขาเฉลิมนคร ถนนเจริญกรุง ใกล้กับแยกเอส. เอ. บี.[5] [2] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย 13°43′54″N 100°30′46″E / 13.7318°N 100.5129°E
|