ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ
ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ (ชื่อเล่น ธิดา) เป็นนักวิชาการ นักการศึกษา และนักการเมืองชาวไทย อดีตโฆษกและผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย[1] อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ประวัติธิดารัตน์มีมารดาเป็นชาวไทยจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนบิดาเป็นชาวพม่าเชื้อสายลาหู่[2][3] บิดาของเธออพยพข้ามพรมแดนมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อเขาอายุได้สามขวบ[2] บิดาเป็นมิชชันนารีประจำโบสถ์ของชุมชน และเผยแผ่ศาสนาในชุมชนตามชายแดน[2] ส่วนมารดาก็ทำงานร่วมกับคณะมิชชันนารี[4] ธิดารัตน์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ฯ จากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ด้วยทุนจากรัฐบาลอังกฤษและมูลนิธิอ๊อกซ์ฟอร์ด (ไทย) และปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิงหวาด้วยทุนรัฐบาลจีน[3] ระหว่างศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ธิดารัตน์เป็นนักโต้วาทีภาษาอังกฤษที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในนามมหาวิทยาลัย และได้รับรางวัลชนะเลิศหลายรายการในหลายประเทศ นอกจากนี้ ธิดารัตน์ยังได้รับเลือกให้เป็นเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม One Young World Summit 2017 ที่ประเทศโคลอมเบีย[3] นอกจากนี้ ยังได้มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างรายงาน Universal Periodic Review ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ภายใต้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[3] ธิดารัตน์ได้รับรางวัลชนะเลิศศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นในประเทศไทย ประจำปี 2021-22 (Study UK Alumni Awards 2021-22) สาขาการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม (Social Action Award) โดยบริติซ เคานซิล ในฐานะผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษาผ่านองค์กรอิสระและเวทีพรรคการเมือง[5] บทบาททางการเมืองธิดารัตน์เริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย[6] โดยดำรงตำแหน่งรองโฆษก และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562[7] ต่อมาได้ดำรงเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ชุดที่ 25 ของสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นได้ย้ายมาร่วมงานกับพรรคไทยสร้างไทย เริ่มต้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบาย และได้รับเลือกจากสมาชิกในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2565 ของพรรคไทยสร้างไทย ให้ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค[8] ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 เธอลาออกจากพรรคและพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว[9] ธิดารัตน์สนใจนโยบายการต่างประเทศ ด้านการศึกษา และสิทธิสตรี[10] เครื่องราชอิสริยาภรณ์ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่าง ๆ ดังนี้
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |