นิโกลัส มาดูโร
นิโกลัส มาดูโร โมโรส (สเปน: Nicolás Maduro Moros; 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 – ) เป็นนักการเมืองชาวเวเนซุเอลาที่ได้เป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เขาเคยเป็นรองประธานาธิบดีเวเนซุเอลาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาดูโรรักษาราชการแทนประธานาธิบดีหลังอูโก ชาเบซถึงแก่อสัญกรรม เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556 มาดูโรเป็นอดีตพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง ก่อนมาเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน และได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2543 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงหลายตำแหน่งในรัฐบาลเวเนซุเอลาภายใต้ชาเบซ จนที่สุดได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2549 เขาได้การบอกเล่าในช่วงนั้นว่า "นักปกครองและนักการเมืองผู้มีความสามารถที่สุดในวงในของชาเบซ"[2] หลังชาเบซถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556 มาดูโรสืบทอดอำนาจและความรับผิดชอบในตำแหน่งประธานาธิบดี มีการจัดการเลือกตั้งพิเศษขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน เพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมาดูโรชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 50.62 ในฐานะผู้สมัครจากสหพรรคสังคมนิยม คู่แข่งหลักของเขาในการเลือกตั้ง คือ เอนริเก กาปริเลส (Henrique Capriles) ผู้ว่าการรัฐมิรันดา ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการเถลิงอำนาจและการเลือกตั้งเขาเข้ารับตำแหน่งถูกฝ่ายค้านตั้งคำถาม[3][4] แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มาดูโรสละตำแหน่งประธานาธิบดีหลังครบวาระแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 แต่เขาก็สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ในพิธีที่ดำเนินการโดยศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งเวเนซุเอลา ส่งผลให้มีการตำหนิติเตียนอย่างกว้างขวาง ไม่กี่นาทีหลังจากมาดูโรสาบานตน สภาถาวรแห่งองค์การรัฐอเมริกาได้ผ่านมติในสมัยประชุมวิสามัญ ประกาศให้มาดูโรเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่[5] สภานิติบัญญัติแห่งชาติระบุว่าประเทศกำลังเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินและบางชาติได้ถอนคณะทูตของตนออกจากเวเนซุเอลา ด้วยความเชื่อว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม สภานิติบัญญัติอ้างว่ามาดูโรจะเปลี่ยนเวเนซุเอลาเป็นรัฐเผด็จการโดยพฤตินัยหากเขาขึ้นครองอำนาจอีกครั้ง[6][7][8][9] นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 ฮวน กวยโด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับการประกาศให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวโดยสภานั้น เขาได้รับการรับรองทันทีในฐานะประธานาธิบดีชอบด้วยกฎหมายจากชาติและองค์การต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ บราซิล และองค์การรัฐอเมริกา มาดูโรคัดค้านการอ้างเป็นประธานาธิบดีของกวยโดและประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับหลายชาติที่รับรองการอ้างดังกล่าว[10] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |