บิเซนเต ฟอกซ์
บิเซนเต ฟอกซ์ กูเอซซาดา (สเปน: Vicente Fox Quesada; 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 –) เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวเม็กซิโกซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 62 ของประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2543 จนถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เขาคือประธานาธิบดีของเม็กซิโกคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคปฏิวัติแห่งชาติเม็กซิโก (พีอาร์ไอ) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2472 โดยเขานั้นสังกัดพรรคก้าวหน้าเม็กซิโก (พีเอเอ็น) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวา[1][2][3][4] ฟอกซ์ดำเนินนโยบายแบบการเมืองฝ่ายขวาเริ่มนำระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มาใช้ในประเทศ รัฐบาลของเขามีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับสหรัฐในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช[5]ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้าในเม็กซิโกที่มีจุดยืนที่ขัดแย้งกับสหรัฐมาโดยตลอด รัฐบาลของเขาประสบความล้มเหลวในความพยายามเพิ่มภาษีเภสัชรวมถึงการสร้างสนามบินในภูมิภาคเต็กซ์โกโก[6][7] นอกจากนี้เขายังขัดแย้งกับประเทศคิวบาภายใต้การนำของฟิเดล กัสโตร อีกด้วย[8] การลอบสังหารดิกนา โอชัวซึ่งเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนใน พ.ศ. 2544 ทำให้รัฐบาลของเขาถูกตั้งคำถามในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความพยายามที่จะกำจัดมรดกของพรรคพีอาร์ไอ ก่อนที่รัฐบาลของเขาจะหมดวาระไม่นาน เขาได้มีความขัดแย้งกับอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ประธานาธิบดีเม็กซิโกคนที่ 65 ซึ่งขณะนั้นโอบราดอร์ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของเม็กซิโกซิตี โดยฟอกซ์และรัฐบาลพยายามถอดถอนโอบราดอร์ออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีและขัดขวางไม่ให้โอบราดอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศในปี พ.ศ. 2549[9][10] นอกจากนี้ รัฐบาลของฟอกซ์ยังมีปัญหาขัดแย้งทางการทูตระหว่างประเทศเวเนซุเอลาและประเทศโบลิเวียอันเนื่องมาจากการสนับสนุนให้สร้างเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกาซึ่งถูกคัดค้านโดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศ[11][12] ใน พ.ศ. 2549 พรรคพีเอเอ็นซึ่งนำโดยเฟลิเป กัลเดรอน อิโนโฆซาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งคะแนนนำโอบราดอร์เพียงเล็กน้อย โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกมองว่ามีการทุจริตจึงทำให้ประชาชนออกมาประท้วงทั้งประเทศ และในปีเดียวกันนั้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐวาฮากาซึ่งเป็นการประท้วงเพื่อขับไล่อูเอซิส รูอีซ ออร์ติสซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐวาฮากาในช่วงเวลานั้น[13] รวมถึงยังเกิดการจลาจลที่ซานซัลบาดอร์อาเนโกซึ่งทำให้รัฐบาลของเขาถูกตัดสินโดยศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในทวีปอเมริกาว่ามีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยนชจากการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงซึ่งความไม่สงบเหล่านี้ส่งผลให้ฟอกซ์เสียคะแนนความนิยมไปมาก[14] อย่างไรก็ตามเขาได้รับการยอมรับในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและลดอัตราความยากจนของประเทศเม็กซิโกลงจากร้อยละ 43.7 ในปี พ.ศ. 2543 ลดลงเหลือร้อยละ 35.6 ในปี พ.ศ. 2549[15] เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 ฟอกซ์เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลและเข้าร่วมการะประชุมเอเปคในปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ[16] ซึ่งในขณะนั้นนายกรัฐมนตรีของไทยคือทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่เขาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้กลับไปยังรัฐกัวนาฮัวโตอันเป็นบ้านเกิดของเขา เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์การศึกษา ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์บิเซนเต ฟอกซ์ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐกัวนาฮัวโต เขายังเคยดำรงตำแหน่ประธานศูนย์กลางประชาธิปไตยนานาชาติ (ซีดีไอ)[17] ซึ่งเป็นสมาคมของพรรคการเมืองฝ่ายขวากลางระดับนานาชาติ ต่อมาฟอกซ์ถูกขับออกจากพรรคพีเอเอ็นใน พ.ศ. 2556 หลังจากการรับรองการสมัครลงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคพีอาร์ไอในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2555[18] อ้างอิง
|