Share to:

 

บุษบก

บุษบกที่สนามบินสุวรรณภูมิ
บุษบกประดิษฐานพระพุทธรัตนปฏิมากร

บุษบก คืองานครุภัณฑ์ของไทยประเภทหนึ่ง นิยมสร้างทำขึ้นสำหรับประดิษฐานสิ่งที่ควรสักการะทางพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์[1] หรือใช้เป็นบุษบกธรรมาสน์ สำหรับภิกษุใช้ขึ้นสวดในวันธรรมสวนะ หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพระราชวัง ใช้เป็นที่พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหาอุปราชประทับว่าราชการ

ในงานเครื่องยอดบุษบกและมณฑป งานขนาดเล็กคือ บุษบก เป็นงานครุภัณฑ์ลักษณะเป็นเรือนโล่งทุกด้านไม่ทำฝาผนังกั้นและมีฐานสูง มีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลง (ส่วนที่คล้ายกระจัง) ประดับโดยรอบ[2] ส่วนงานขนาดใหญ่ ได้แก่ พระมณฑป ตั้งบนฐานทึบ ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับส่วนเรือน แต่หากมีมุขเรียกว่า ปราสาท ถ้าเข้าได้หลายคนเรียก มณฑป ถ้าเข้าได้คนเดียวเรียกว่า บุษบก[3]

บุษบกในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการใช้สอยเป็นบุษบกประดิษฐานที่สำคัญทางพุทธศาสนา เช่นพระพุทธรูป หรือบุษบกกิจการในสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชยาน ราชรถ เรือพระที่นั่ง พบบุษบกธรรมาสน์ มักทำเป็นเครื่องยอดขนาดย่อ เช่น ธรรมาสน์ วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ธรรมาสน์วัดครุฑธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เครื่องยอดบุษบกในสมัยรัตนโกสินทร์มีรูปแบบสืบเนื่องจากอยุธยาตอนปลายแต่เคร่งครัดกว่า รูปแบบบุษบกในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ บุษบกลอยตัว อาทิ พระที่นั่งราเชนทรยาน บุษบกประดิษฐานพระแก้วมรกต รูปแบบบุษบกท้ายเกริน อาทิ บุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระมหาพิชัยราชรถ[4]

อ้างอิง

  1. โชติ กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548). หน้า 294.
  2. "บุษบก เรือนที่ประทับแห่งฐานันดรสูง". ผู้จัดการออนไลน์. 30 พฤษภาคม 2551.
  3. กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาสน์สมเด็จ เล่ม 18. (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504) หน้า 213.
  4. กรมศิลปากร, เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ, หน้า 185.
Kembali kehalaman sebelumnya