Share to:

 

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เป็นหนังสือของ วินทร์ เลียววาริณ วางจำหน่ายใน พ.ศ. 2537 และได้รางวัลซีไรต์ใน พ.ศ. 2540[1] ฉบับภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า (Democracy, Shaken & Stirred) วางจำหน่าย พ.ศ. 2546 เป็นนิยายเชิงการเมืองไทย โดยดำเนินเรื่องตามการปฏิวัติในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน พ.ศ. 2535 ตัวละครหลักในเรื่องเป็นตัวละครสมมติ แต่มีการใช้บุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย วินทร์ได้ใช้ลักษณะการเขียนแบบเดียวกันนี้ในนิยายอีกเรื่องของเขา คือ ปีกแดง (พ.ศ. 2545) เพียงแต่เป็นเรื่องของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เกริ่น

หนังสือเรื่องนี้ เป็นการจำลองภาพในเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความสำคัญในยุคต่างๆ นับตั้งแต่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ จนถีงในช่วงหกสิบปีต่อมาที่มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแต่ละขั้น มีการถ่ายเทอำนาจจากบุคคลหนึ่งไปหาอีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง โดยถ่ายทอดผ่านการดำเนินชีวิตของบุคคลสองคน ที่แตกต่างกันในด้านการใช้ชีวิตและด้านอุดมการณ์ แต่ทั้งสองมีจุดมุ่งหมายปลายทางเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน และได้มาชึ่งการมีประชาธิปไตยที่เต็มใบ เปรียบเสมือนทางเดินเพื่อไปหาประชาธิปไตย แต่เดินเป็นแนวที่ขนานไม่สามารถจะใช้วิธีร่วมกันได้

เนื้อเรื่องโดยย่อ

ฝนเทลงมาเหมือนทะเลคลั่งในคืนหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เช้าวันรุ่งขึ้น ที่มุมหนึ่งของสวนลุมพินี ชายชราสองคนนั่งด้วยกันบนม้านั่งตัวหนึ่งชายชราคนแรกร่างสูงใหญ่ ผมขาวแชมเทาทั่งศีรษะ ริ้วรอยบนใบหน้าแสดงถึงประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน สายตาคมกริบและเปี่ยมพลังแฝงแววเฉลียวฉลาดแม้จะอยู่วัยใกล้ฝังชายชราอีกคนหนึ่ง รูปร่างไล่เลี่ยกันกับคนแรก ปีกไหล่ทั่งสองหนาบึกบึน คล้ายกันต้องแบกภาระหนักมาตลอดชีวิต สายตาผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างมากมาย

ทั้งสองนั่งอยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่เจอกันครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน

ชายคนแรกตามเนื้อเรื่อง เขาคือ เสือย้อยที่มีถิ่นอาศัยอยู่แถบเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ผู้ที่เป็นโจรแต่มีแววตาที่ฉลาด ดูมีการศึกษาที่สูงที่ไม่เหมือนกับโจรทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะชายผู้นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า หลวงกฤษดาวินิจ บุคคลที่มีการศึกษาสูง และเป็นทหารที่มีความจงรักภัคดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติที่ต้องการอำนาจของบุคคลเพียงบางกลุ่ม จนถูกบีบบังคับให้มาเป็นโจร

ชายชราอีกคนหนึ่งคือนายตำรวจที่มี ชื่อว่า ร.ต.ต ตุ้ย พันเข็ม นายตำรวจที่มีอุดมการณ์สูงรักประเทศยิ่งชีวิต ผู้มีบทบาทตั้งแต่นายตำรวจธรรมดาที่ปราบโจรที่มีชื่อต่างๆ จนเป็นที่เลืองลือจนได้รับฉายาว่า "จ่าตุ้ยปืนผี" จนถึงนายตำรวจที่มีบทบาทอย่างสูงทางการเมืองในยุค 60 ปีของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ นายตำรวจที่เป็นคนสนิทของผู้นำประเทศที่มีอำนาจมหาศาลที่สุดในยุคหนึ่งของประเทศ

ทั้งสองเป็นทั้งเพื่อนและศัตรูกันทางด้านแนวคิด

ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่กล่าวโดยย่อถึงเนื้อเรื่องที่เกิดขี้น พ.ศ. ต่าง ๆ

  • พ.ศ. 2476 ในยุคแรกเริ่มของการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ร.ต.ต ตุ้ย พันเข็ม ขณะยังมียศเป็นจ่าสิบตำรวจได้รับรู้ที่มาของเสือย้อย โจรที่ฉลาดและเป็นอดีตทหารที่เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏบวรเดช เขาได้ออกไล่ล่าเสือย้อยเพื่อจะจับกุมตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่สุดท้ายกลับได้เสือย้อยเป็นเพื่อนที่ต่างอุดมการณ์ เรื่องราวต่างๆ จึงเริ่มต้นขึ้น ณ จุดนี้
  • พ.ศ. 2482 เสือย้อยถูกจับกุมเพื่อเตรียมถูกประหารในคดีลอบสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย ร.ต.ต.ตุ้ยเป็นผู้ควบคุมการประหารด้วยตนเอง แต่ด้วยที่เสือย้อยเป็นโจรที่มีการศึกษาสูงและมีบทบาททางการเมือง จึงสามารถรอดพ้นการถูกประหารมาได้
  • พ.ศ. 2483/2488 เป็นเรื่องราวของเสือย้อยในสองช่วงเวลา โดยช่วง พ.ศ. 2483 เสือย้อยถูกส่งตัวไปที่เกาะตะรุเตา เสือย้อยพยายามแหกคุกหนีออกมาจากเกาะตะรุเตา แต่โชคร้ายที่ผู้คุมคนหนึ่งเห็นตัวเข้า เสือย้อยคิดว่าตัวเองจะถูกผู้คุมยิงตายแล้ว แต่น่าแปลกที่ผู้คุมกลับปล่อยตัวเขาไป ส่วนช่วง พ.ศ. 2488 นั้นเป็นช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เสือย้อยได้อาสาเป็นคนส่งความลับทางทหารให้กับคณะเสรีไทยแต่พลาดท่าถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ เผอิญเวลานั้นญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และทหารญี่ปุ่นกลุ่มที่จับเสือย้อยรู้จักยอมรับความพ่ายแพ้ ทำให้เสือย้อยรอดพ้นจากความตายมาได้
  • พ.ศ. 2490 เกิดรัฐประหารล้มรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เสือย้อยหลีกเร้นตัวเองขึ้นไปค้าไม้ที่ภาคเหนือ เขาได้พบกับชายชาวบ้านป่าคนนึง ที่มีความเฉลียวฉลาด เด็ดเดี่ยว กล้าหาญไม่แพ้ตัวเขา
  • พ.ศ. 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตันขึ้น มีการจับตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามไว้เป็นตัวประกันโดยกลุ่มทหารเรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ ผู้ที่ผิดหวังที่สุดในครั้งนี้คือเสือย้อยที่จะทำการปฏิวัติ แต่ช้ากว่าพวกกบฏแมนฮันตัน
  • พ.ศ. 2519 พล.ต.ท ตุ้ยได้รับคำสั่งให้มาจับเสือย้อย ที่มีความเคลื่อนไหวว่าได้ปล้นรถบรรทุกนักโทษและได้ไปเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อได้พบกันแล้วกลับพบความจริงว่า ลูกชายของเสือย้อยถูกจับ และเสือย้อยได้ฝากลูกชายไว้กับ พล.ต.ท ตุ้ยเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในเมืองต่อไป ระหว่างเดินทางกลับ ลูกชายเสือย้อยถูกยิงเสียชีวิตเนื่องจากความเข้าใจผิดของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
  • พ.ศ. 2535 ปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทั้งเสือย้อยและ พล.ต.ต ตุ้ยย่างเข้าวัยชราแล้ว แต่ยังต้องข้องเกี่ยวกับการเมืองของนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแทนคลื่นลูกเก่า ทั้งสองคนต้องพิสูจน์ถึงคุณสมบัติของเสือที่ยังไว้ลายแม้จะแก่แล้วก็ตาม

อ้างอิง

  1. เพลินพิศ ศรีบุรินทร์. วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนสองซีไรต์. Positioning Magazine ตุลาคม 2548
Kembali kehalaman sebelumnya