Share to:

 

ประโยค 1–2

ปกหนังสืออันเป็นที่คุ้นตาของนักเรียนบาลี "ธมฺมปทฏฐกถา" หนึ่งในหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทยในชั้นประโยค 1–2 จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย

ประโยค 1–2 (ชื่อย่อ ป. 1-2) เป็นระดับชั้นเริ่มต้นของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ที่ภิกษุสามเณรผู้เรียนต้องทำความเข้าใจและศึกษาไวยากรณ์บาลีและฝึกการแปลภาษามคธในระดับให้เข้าใจพอแปลภาษาบาลีเริ่มต้นได้

ในอดีตชั้นเริ่มต้นในการสอบไล่เปรียญนั้นจะเริ่มแต่ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป โดยการสอบไล่ประโยค 1–2 นี้ยังไม่ถือว่าผู้สอบได้เป็นเปรียญ และไม่สามารถเก็บประโยคชั้นที่สอบได้ เอาไว้สอบในปีต่อไปได้ แต่เมื่อเปลี่ยนการสอบไล่บาลีมาเป็นแบบข้อเขียน ก็เริ่มมีการจัดสอบเก็บประโยคนี้ขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งเนื้อหาในการเรียนการสอนให้ไม่ยากและหนักเกินไป

ในชั้นนี้ ผู้สอบได้จะยังไม่ได้เข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศทรงตั้งเป็นเปรียญ แต่ในอดีตนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขณะดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเคยรับพระราชภาระอุปถัมภ์ผู้สอบผ่านในชั้นนี้ โดยมีการถวายพัดไตรจีวรให้แก่ผู้สอบได้เป็นกำลังใจ เรียกกันในสมัยนั้นว่า "เปรียญวังหน้า" ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว[1]

ปัจจุบันผู้สอบได้ประโยค 1–2 จะได้รับใบ "วุฒิบัตร" รับรองจากสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ซึ่งต่างจากผู้สอบได้ในชั้น ป.ธ. 3 ขึ้นไปที่จะได้รับ "ประกาศนียบัตร" เพราะได้รับการตั้งเป็นเปรียญแล้ว

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีในชั้นประโยค 1–2

ในชั้นนี้ แม่กองบาลีสนามหลวงกำหนดวิชาในการศึกษาไว้ 2 วิชา คือ

วิชาแปลมคธเป็นไทย

วิชาแปลมคธเป็นไทย คือ วิชาแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ในชั้นนี้กำหนดเป็น แปลโดยพยัญชนะและอรรถ โดยให้ฝึกการแปลภาษาบาลีจากหนังสือ ธมฺมปทฏฐกถา [1]

การศึกษาวิชาแปลมคธเป็นไทย

ใช้หนังสืออรรถกถาธรรมบท 4 เล่ม[2] คือ

  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (ปฐโม ภาโค - ภาคหนึ่ง)
  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (ทุติโย ภาโค - ภาคสอง)
  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (ตติโย ภาโค - ภาคสาม)
  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (จตุตฺโถ ภาโค - ภาคสี่)

การสอบไล่วิชาแปลมคธเป็นไทย

แบ่งข้อสอบในวิชานี้ออกเป็น 2 ชั้นคือ

  • แปลโดยพยัญชนะ
  • แปลโดยอรรถะ

การตรวจข้อสอบ กำหนดจากเกณฑ์การทำข้อสอบผิด หากผิดมากกว่า 18 คะแนนขึ้นไป ถือว่าตกในวิชานี้

  • ผิดศัพท์ แปลผิดคำศัพท์ ปรับผิด 2 คะแนน
  • ผิดสัมพันธ์ ปรับผิด 3 คะแนน
  • ผิดประโยค แปลเรียงรูปประโยคผิด ประธานและกรรมไม่สอดคล้องกัน ปรับผิด 6 คะแนน (หากผิด 2 ประโยค ถือว่าตก) [3]

วิชาบาลีไวยากรณ์

ใช้หลักสูตรหนังสือบาลีไวยากรณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จำนวน 4 เล่ม คือ

นาม - อัพยยศัพท์

  • อาขยาต - กิตก์
  • สมาส - ตัทธิต
  • สมัญญาภิธาน - สนธิ

การสอบในวิชานี้จะเน้นการจำเป็นหลัก

กล่าวคือ ผู้เรียนประโยค 1–2 ต้องท่องหนังสือทั้ง 4 เล่มให้ได้จึงสามารถสอบวิชานี้ผ่านได้

หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นประโยค 1–2

พระภิกษุสามเณรที่มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นประโยค 1–2 นี้ ต้องสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรีก่อนจึงจะมีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นนี้ได้

ผู้สอบไล่ได้ประโยค 1–2

ภิกษุสามเณรผู้สอบไล่ได้ในชั้นนี้จะได้รับวุฒิบัตร รับรองจากแม่กองบาลีสนามหลวง โดยมีการจัดพิธีมอบวุฒิบัตรอย่างสมเกียรติ เพื่อเป็นการถวายกำลังใจ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยปัจจุบัน จากหอมรดกไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-15. สืบค้นเมื่อ 2007-05-07. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  2. หนังสือหมวดเปรียญธรรม ประโยค 1 ถึง 9
  3. ตัวอย่างปัญหา-เฉลยบาลีสนามหลวง ประโยค 1–2 - ป.ธ.5 ปี 2550

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya