Share to:

 

ปลาซิว

ปลาซิวข้างขวานเล็ก (Trigonostigma espei)

ปลาซิว (อังกฤษ: Minnow; ในไอร์แลนด์เรียก Pinkeens[1]) เป็นชื่อสามัญในภาษาไทยที่เรียกปลาน้ำจืดขนาดเล็กหลายชนิด ในหลายสกุล ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) อันดับปลากินพืช เช่น สกุล Rasbora ที่มีลำตัวยาว ตัวใส, สกุล Danio, สกุล Esomus ที่มีหนวดยาวเห็นชัดเจน, สกุล Laubuca ที่มีรูปร่างอ้วนป้อม โดยมากแล้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ ขนาดลำตัวไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากินบริเวณผิวน้ำ

แต่ก็ยังมีหลายสกุล หลายชนิดที่กินเนื้อหรือกินลูกปลาเล็กเป็นอาหาร และมีขนาดลำตัวใหญ่กว่านั้น เช่น ปลาซิวอ้าว (Luciosoma bleekeri) หรือ ปลาสะนาก (Raiamas guttatus) เป็นต้น

โดยปลาจำพวกปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ปลาบ้า (Leptobarbus hoevenii) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้ถึง 80 เซนติเมตร[2]

นอกจากนี้แล้ว ปลาซิว ยังอาจจะเรียกรวมถึงปลาในวงศ์อื่นหรืออันดับอื่นได้อีกด้วยที่มีรูปร่าง ลักษณะคล้ายเคียงกัน เช่น ปลาซิวแก้ว (Clupeichthys aesarnensis) ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) อันดับปลาหลังเขียว หรือ ปลานีออน (Paracheirodon innesi) ในวงศ์ปลาคาราซิน (Characidae) อันดับปลาคาราซิน เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว คำว่า ปลาซิวในนัยทางภาษาไทยใช้เปรียบเทียบกับคนขี้ขลาดหรือใจไม่สู้ ว่า "ใจปลาซิว" เพราะปลาซิวโดยมากเป็นปลาที่ตายง่ายมากเมื่อพ้นจากน้ำ นอกจากนี้แล้วยังมักถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบคู่กับปลาสร้อยว่า "ปลาซิว ปลาสร้อย" หมายถึง สิ่งที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีความสำคัญนัก เพราะปลาทั้งสองจำพวกนี้เป็นปลาขนาดเล็ก พบได้ทั่วไป[3] ซึ่งสอดคล้องกับสำนวนในภาษาอังกฤษด้วย โดยคำว่า "Minnow" นั้นก็มีความหมายว่า สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่สำคัญ หรือสิ่งหรือบุคคลที่ถูกมองข้าม เป็นต้น[4]

ตัวอย่างสกุลปลาซิว

(ที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน)

  • Amblypharyngodon (สกุลปลาซิวเจ้าฟ้า)
  • Boraras (สกุลปลาซิวแคระ)
  • Danio (สกุลปลาซิวใบไผ่)
  • Elopichthys (สกุลปลาแบมบูซ่า)
  • Esomus (สกุลปลาซิวหนวดยาว)
  • Laubuca (สกุลปลาท้องพลุ)
  • Leptobarbus (สกุลปลาบ้า)
  • Luciosoma (สกุลปลาซิวอ้าว หรือ ซิวควาย)
  • Raiamas (สกุลปลาสะนาก)
  • Rasbora (สกุลปลาซิว)
  • Sawbwa (สกุลปลาซิวซอ-บวา)
  • Trigonostigma (สกุลปลาซิวข้างขวาน)

(ที่อยู่นอกวงศ์ปลาตะเพียน)

  • Clupeichthys (สกุลปลาซิวแก้ว)
  • Paracheirodon (สกุลปลานีออน)
  • Oryzias (สกุลปลาซิวข้าวสาร)

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. cf. pinkeen and pink, Oxford English Dictionary, Second Edition.Pinkeen Merriam-Webster Dictionary. Retrieved: 2011-12-11.
  2. ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 116 หน้า. หน้า 39. ISBN 974-475-655-5 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  3. ความหมายของคำว่า "ซิว" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  4. "ยูโร 2016 ใครชนะใครแชมป์ 03 07 59". ฟ้าวันใหม่. July 3, 2016. สืบค้นเมื่อ July 4, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya