Share to:

 

ปัฏนา

ปัฏนา
นคร
สถูปในสวนพุทธสมริติ, บริเวณมิฐปุระ, พิพิธภัณฑ์ปัฏนา และ ตัขตะศรีปัฏนาสาหิบ
ปัฏนาตั้งอยู่ในรัฐพิหาร
ปัฏนา
ปัฏนา
ที่ตั้งของปัฏนาในรัฐพิหาร
พิกัด: 25°36′40″N 85°08′38″E / 25.611°N 85.144°E / 25.611; 85.144
ประเทศ อินเดีย
รัฐพิหาร
ภูมิภาคมคธี
ปรมณฑลปัฏนา
อำเภอปัฏนา
แขวง72
การปกครอง
 • ประเภทนครนิคม (เทศบาลนคร)
 • องค์กรปัฏนานครนิคม
 • นายกเทศมนตรีAfzal Imam
ความสูง53 เมตร (174 ฟุต)
ประชากร
 (2011)[1]
 • นคร1,683,200 คน
 • ความหนาแน่น1,803 คน/ตร.กม. (4,670 คน/ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล[2]2,046,652 คน
 • Metro rank18th IN
ภาษา
 • ทางการภาษาฮินดี ภาษามคธี ภาษาอังกฤษ
เขตเวลาUTC+5:30 (เวลามาตรฐานอินเดีย)
รหัสไปรษณีย์80 XXXX
รหัสโทรศัพท์+91-612
รหัส ISO 3166IN-BR-PA
ทะเบียนพาหนะBR 01
Sex ratio1.13 [1] /
อัตราไม่รู้หนังสือ84.71%
Lok Sabha constituencyPatna Parliamentary Constituency, Pataliputra Parliamentary Constituency, Patna Sahib Parliamentary Constituency
Vidhan Sabha constituencyBakhtiyarpur(180), Digha(181), Bankipur(182), Kumhrar(183), Patna Sahib(184), Fatuha(185), Danapur(186), Maner(187), Phulwari-SC(188)
Planning agencyPatna Regional Development Authority
Civic agencyPatna Municipal Corporation
ระยะทางจากเดลี1,015 กิโลเมตร (631 ไมล์) NE
ภูมิอากาศKöppen climate classification
ความชื้น1,100 มิลลิเมตร (43 นิ้ว)
อุณหภูมิเฉลี่ย26 องศาเซลเซียส (79 องศาฟาเรนไฮต์)
อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อน30 องศาเซลเซียส (86 องศาฟาเรนไฮต์)
อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูหนาว17 องศาเซลเซียส (63 องศาฟาเรนไฮต์)
เว็บไซต์www.patna.nic.in

ปัฏนา (ฮินดี: पटना; ชื่ออื่น: ปาตลีบุตร, ปาฏลีบุตร, ปัตนะ, มคธ) เป็นเมืองหลวงของรัฐพิหาร รัฐหนึ่งในประเทศอินเดีย ปัฏนาเป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังมีผู้อาศัยอยู่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเมื่อ 2,500 ปีก่อน ในสมัยพุทธกาล เมืองแห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ในแคว้นมคธ ที่ตั้งโดยพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับการเตรียมทำสงครามกับแคว้นวัชชี หลังจากพุทธกาล เมืองนี้มีความสำคัญ เพราะได้กลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธและมีพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย คือพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ทรงอุปถัมภ์การทำตติยสังคายนา ณ อโศการาม โดยให้เมืองปัฏนา (หรือปาตลีบุตร ตามที่เรียกกันในสมัยนั้น) เป็นศูนย์กลางในการส่งสมณทูตออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสุวรรณภูมิ

ปัจจุบัน เมืองแห่งนี้ยังคงเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐพิหาร (แคว้นมคธในสมัยโบราณ) มีพื้นที่เมืองประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากกว่า 1 ล้าน 8 แสนคน โดยประมาณ

ประวัติศาสตร์

เมืองปัฏนา มีชื่อเรียกหลายคำ เช่น ปาฏลีบุตร ปาตลีบุตร ปัตนะ ในพระไตรปิฏกเรียกว่า บ้านปาฏลิคาม[3] เมืองนี้สร้างโดยพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาแห่งแคว้นมคธผู้ครองกรุงราชคฤห์ในสมัยปลายพุทธกาล โดยความประสงค์จะให้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชั่วคราวเพื่อใช้เป็นหมู่บ้านหน้าด่านสำหรับตรวจความเคลื่อนไหวของแคว้นวัชชีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามยึดแคว้นวัชชี ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูได้ส่งมหาอำมาตย์ชื่อสุนีธะและวัสสการพราหมณ์มาเพื่อเป็นแม่กองในการสร้างหมู่บ้านปาฏลิคาม ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า ณ สถานที่นี้ในขณะกำลังสร้างหมู่บ้านด้วย ตามความในปาฏลิคามิยสูตรว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาและได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ข้ามฝั่งแม่น้ำเพื่อข้ามมายังหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านจึงเรียกท่าที่พระองค์เสด็จขึ้นและประตูหมู่บ้านที่พระองค์เสด็จเข้าว่า โคตมติตถะและโคตมทวาร ตามลำดับ ซึ่งหลังจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรที่ตั้งของหมู่บ้านห่างไกลแห่งนี้แล้ว ได้ทรงทำนายไว้ว่า

อานนท์ มหาอำมาตย์ในแว่นแคว้นมคธชื่อสุนีธะและวัสสการะ จะสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันเจ้าวัชชีทั้งหลาย ประหนึ่งว่าปรึกษากับเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้วสร้างเมืองฉะนั้น ... อานนท์ เมืองนี้จักเป็นเมืองเลิศแห่งที่ประชุมของเหล่ามนุษย์ผู้เป็นอริยะ และเป็นทางค้าขาย เป็นที่แก้ห่อสินค้า อันตราย 3 อย่าง (เท่านั้น) จักมีแก่เมืองปาฏลิคาม (คือ) จากไฟ จากน้ำ และจากความแตกแห่งกันและกัน

— ปาฏลิคามิยสูตร พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ

จากความดังกล่าวพระพุทธองค์ทรงทำนายว่าหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลแห่งนี้ จะมีความสำคัญในอนาคต และปรากฏว่า หลังพระพุทธปรินิพพานไม่ถึงร้อยปี หมู่บ้านสุดชายแดนแห่งนี้ก็กลายเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แห่งชมพูทวีป คือได้เป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ จากความผันผวนทางการเมืองจากเหตุการณ์ล้มราชวงศ์พิมพิสาร และการย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากการที่อำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่ แล้วพระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีมายังบ้านปาฏลิคาม ซึ่งกลายเป็นเมืองหลวง[4] และเป็นเมืองศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา โดยเมืองนี้เป็นสถานที่ๆ มีการทำตติยสังคายนาโดยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักรพรรดิผู้ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์อินเดีย และเมืองแห่งนี้ก็ได้เจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจมาจนปัจจุบัน

อโศการาม สถานที่จาริกแสวงบุญของชาวพุทธ

ปัจจุบัน หลักฐานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของเมืองแห่งนี้ได้สูญหายไปแทบหมดสิ้น เนื่องด้วยเมืองแห่งนี้มีพัฒนาการมาโดยตลอดช่วงประวัติศาสตร์ เป็นไปได้ว่าผู้คนในยุคหลังช่วงความเจริญของพระพุทธศาสนา ได้ทำลายหรือทอดทิ้งพุทธศาสนสถานไป และถูกฝังกลบจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็น เช่นเดียวกับ อโศการาม สถานที่นี้เคยเป็นที่ทำตติยสังคายนา อารามแห่งเดียวในพระพุทธศาสนาในเมืองปัฏนาที่ยังคงเหลือซากอยู่ ปัจจุบันคงเหลือเพียงเสาหินของอาคารใหญ่ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ทำตติยสังคายนาอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้ดินในสระซึ่งมีน้ำเต็มตลอดทั้งปี และโบราณสถานส่วนใหญ่ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ทางการอินเดียไม่มีความประสงค์เพื่อขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้ เพราะจะกระทบต่อบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในเมืองปัฏนาเมืองหลวงของรัฐพิหารในปัจจุบัน

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "Provisional Population Totals, Census of India 2011; Cities having population 1 lakh and above" (PDF). Office of the Registrar General & Census Commissioner, India. สืบค้นเมื่อ 26 March 2012.
  2. "Provisional Population Totals, Census of India 2011; Urban Agglomerations/Cities having population 1 lakh and above" (PDF). Office of the Registrar General & Census Commissioner, India. สืบค้นเมื่อ 26 March 2012.
  3. พระไตรปิฎก เล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ปาฏลิคามิยสูตร . พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[1]>. เข้าถึงเมื่อ 4-6-52
  4. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).พุทธสถานในอินเดีย - เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2541.

แหล่งข้อมูลอื่น


Kembali kehalaman sebelumnya