กังต็อก
กังต็อก (อังกฤษ: Gangtok; เนปาล: गान्तोक; สิกขิม: སྒང་ཐོག་) เป็นนครเทศบาล เมืองหลวง และเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย และยังเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของเขตสิกขิมตะวันออก กังต็อกตั้งอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูง 1,650 เมตร (5,410 ฟุต) กังต็อกมีประชากร 100,000 คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ชาวเนปาล ชาวเลปชา ชาวภูฏาน ฯลฯ โดยตั้งถิ่นฐานที่จุดสูงกว่ายอดเขาของหิมาลัยและใช้ชีวิตในสภาพภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิไม่หนาวจัดตลอดปี กังต็อกยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรัฐสิกขิม กังต็อกมีชื่อเสียงทางด้านการเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธหลังจากที่ได้ก่อสร้างวัดเอนเชย์ ในปี ค.ศ. 1840 และ ในปี ค.ศ. 1894 ผู้ปกครองชาวสิกขิม โชกยัล ทูต็อบ นัมกยัล (Thutob Namgyal) ได้ย้ายเมืองหลวงมายังกังต็อก และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กังต็อกกลายเป็นจุดหยุดพักเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างลาซาในทิเบตกับเมืองอื่น ๆ อย่างโกลกาตา (ขณะนั้นคือ กัลกัตตา) ในบริติชอินเดีย ต่อมาหลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1947 สิกขิมเลือกที่จะเป็นประเทศอิสระที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีกังต็อกเป็นเมืองหลวง ในปี ค.ศ. 1975 หลังจากรวมกับสหภาพอินเดีย กังต็อกเป็นเมืองหลวงของรัฐที่ 22 ของอินเดีย ความหมายที่ถูกต้องของชื่อ "กังต็อก" นั้นยังไม่ชัดเจน แม้ว่าความหมายที่เป็นที่นิยมที่สุดนั้นจะหมายถึง "ยอดเนินเขา" (hill cut) ปัจจุบันกังต็อกโดดเด่นในฐานะเมืองชุมชนที่มีผู้รู้หนังสือร้อยละ 94 ของจำนวนประชากรทั้งหมด อ้างอิง
|