Share to:

 

ผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์

ผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์ หรือ ผู้บริโภคซากอินทรีย์[1] (อังกฤษ: detrivores, detritophages, detritus feeders หรือ detritus eaters) คือ สิ่งมีชีวิตที่บริโภคของเสียจากสัตว์ หรือซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร[2] ทำให้เศษซากอินทรีย์เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น ปลวก ไส้เดือนดิน กิ้งกือ หอย ด้วง และจุลินทรีย์[3][4] ผู้บริโภคเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสลายตัวและช่วยในวัฏจักรสาร

ความสำคัญกับระบบนิเวศ

เป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยทำให้เศษซากอินทรีย์ชิ้นใหญ่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์นี้มีส่วนช่วยในการสลายตัว มีส่วนช่วยในวัฏจักรสารและเกิดธาตุอาหารในระบบนิเวศ ช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรียวัตถุได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้พืชดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยถ้าในระบบนิเวศไม่มีสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ อาจทำให้การการสลายตัวของซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นไปได้ช้าลง หากในห่วงโซ่อาหารไม่มีผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์ ก็จะทำให้ห่วงโซ่อาหารเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ อาหารของพวกผู้บริโภคเหล่านี้กินมีความผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่ ทั้งในด้านปริมาณและชนิด ซึ่งทำให้ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่ที่ผู้บริโภคเหล่านั้นอาศัยอยู่ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน

ห่วงโซ่อาหารแบบเศษอินทรีย์

ห่วงโซ่อาหารแบบเศษอินทรีย์ (detritus food chain) เป็นโซ่อาหารที่เริ่มจากซากอินทรีย์ คือห่วงโซ่อาหารที่เริ่มจากซากพืชหรือซากสัตว์ (Detritus) และถูกกินโดยผู้บริโภคซากพืชหรือซากสัตว์ และถูกกินต่อโดยผู้บริโภคสัตว์ หรือ saprophytic food chain เริ่มจากสารอินทรีย์จากซาก ของสิ่งมีชีวิตผ่านไปยังผู้ย่อยสลาย และต่อไปยังสัตว์ที่กินสารอินทรีย์ที่ถูกย่อยสลาย (detritivore) และต่อไปยังผู้ล่าอื่น ๆ

saprophytic food chain เป็นลักษณะของลูกโซ่อาหารที่มีการกินหรือเริ่มถ่ายทอดพลังงานจากสิ่งที่ตายแล้ว เช่น ซากพืช ซากสัตว์ ในการถ่ายทอดพลังงานไปตามลำดับขั้น ของห่วงโซ่อาหารนี้ พลังงานจะผ่านไปตามผู้บริโภคระดับต่าง ๆ แต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อาหารเรียกว่า ลำดับขั้นของการกิน (trophic level) โดยพืชสีเขียวประกอบเป็น trophic level ที่หนึ่ง และสัตว์กินพืชเป็นลำดับที่สอง สัตว์กินสัตว์เป็นลำดับที่สาม เป็นต้น (สิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันอาจมี trophic level ลำดับเดียวกันก็ได้ เช่น ตั๊กแตน หนูนา วัว ควาย ต่างก็อยู่ใน trophic level ลำดับที่สองเหมือนกัน) โดยพบในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินที่มีเศษใบไม้ทับถม เช่น ป่าชายเลน ป่าพรุ เป็นต้น

ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและหน้าที่ในระบบนิเวศ

ไส้เดือน เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากในระบบนิเวศ ช่วยในการย่อยอินทรียสารในดิน และการเคลื่อนที่ในดินของไส้เดือน ถือเป็นการช่วยพรวนดิน ทำให้ดินมีช่องว่างที่จะเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ดิน ซึ่งมี ความสำคัญต่อการปลูกพืช

ปลวก เป็นสัตว์ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ เช่น เศษไม้ ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ที่หักร่วง ล้มตายทับถมกันอยู่ในป่า แล้วกลายสภาพเป็นฮิวมัสในดิน เป็นกระบวนการหมุนเวียนธาตุ อาหารจากพืชไปสู่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

กิ้งกือ เป็นสัตว์ช่วยในการย่อยเศษใบไม้ ที่ร่วงหล่นแห้งตาย ให้กลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้

อ้างอิง

  1. Volubilis Dictionary 1.0
  2. Wetzel RG (2001). Limnology: Lake and River Ecosystems (3rd ed.). Academic Press. p. 700. ISBN 978-0-12-744760-5.
  3. Schmitz, Oswald J; Buchkowski, Robert W; Burghardt, Karin T; Donihue, Colin M. (1 มกราคม 2015). Pawar, Samraat; Woodward, Guy; Dell, Anthony I (บ.ก.). "Chapter Ten – Functional Traits and Trait-Mediated Interactions: Connecting Community-Level Interactions with Ecosystem Functioning". Advances in Ecological Research. Trait-Based Ecology – From Structure to Function (ภาษาอังกฤษ). Academic Press. Vol. 52. pp. 319–343. doi:10.1016/bs.aecr.2015.01.003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2021.
  4. De Smedt, Pallieter; Wasof, Safaa; Van de Weghe, Tom; Hermy, Martin; Bonte, Dries; Verheyen, Kris (2018-10-01). "Macro-detritivore identity and biomass along with moisture availability control forest leaf litter breakdown in a field experiment". Applied Soil Ecology (ภาษาอังกฤษ). 131: 47–54. Bibcode:2018AppSE.131...47D. doi:10.1016/j.apsoil.2018.07.010. ISSN 0929-1393. S2CID 92379245.
Kembali kehalaman sebelumnya